"สิงห์"เดินหน้าปรับโครงสร้าง 54 บริษัทในเครือ จัดทัพใหม่รับแผนบุกตลาดโลก เล็งเข้าตลาดฯ ระดมทุนหมื่นล้านขยายธุรกิจขวดแก้ว-โลจิสติกส์
ชื่อ:  00.jpg
ครั้ง: 832
ขนาด:  46.5 กิโลไบต์
ทุนไทยพรั่งพร้อมด้วยโนว์ฮาวและสายป่านทางธุรกิจต่างประกาศก้าวรุกขยายฐานตลาด "นอกบ้าน" ต่อยอดและเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจในประเทศ

นายปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการบริหาร บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยถึงนโยบายธุรกิจว่า จะผลักดันธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งเบียร์สิงห์ ลีโอ รุกขยายตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าหมายเพิ่มยอดขายใน 3-5 ปีข้างหน้าอีก "เท่าตัว" หรือมียอดขาย 2 แสนล้านบาท จากปัจจุบันกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มทั้งแอลกอฮอล์ และนอนแอลกอฮอล์ มียอดขายรวม 1.03 แสนล้านบาท

การขยายธุรกิจต่างประเทศ จะให้ความสำคัญในการทำตลาดเบียร์ และมุ่งสร้างแบรนด์ในตลาดอาเซียนมากขึ้น รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มีประชากรกว่า 600 ล้านคน มีโอกาสทางการตลาดสูง เนื่องจากอัตราการดื่มเบียร์ของผู้บริโภคในอาเซียน ยังต่ำอยู่ที่ระดับ 15 ลิตรต่อคนต่อปี เทียบกับไทยอยู่ที่ 32-33 ลิตรต่อคนต่อปี และเมื่อเทียบกับสหรัฐ อยู่ที่ 50 ลิตรต่อคนต่อปี กับยุโรปอยู่ที่ 60 ลิตรต่อคนต่อปี

ทั้งนี้ บริษัทได้ทยอยเข้าไปลงทุนจดทะเบียนตั้งบริษัท และเตรียมเปิดสำนักงานในต่างประเทศหลายแห่ง เพื่อสร้างสัญลักษณ์ขององค์กรบุญรอด และ สิงห์ (Corporate Representative) เป็นที่รับรู้ในวงกว้างยิ่งขึ้น

ใน 1-2 เดือนข้างหน้าจะเปิดสำนักงานที่กัมพูชา และไตรมาสสี่นี้ จะเปิดสำนักงานที่ออสเตรเลีย รองรับการขยายธุรกิจของสิงห์ในทุกแขนงธุรกิจ ขณะที่พม่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด หลังจากมีข้อจำกัดทั้งด้านราคาที่ดินมีมูลค่าสูงมาก และพม่ายังไม่มีอาคารเชิงพาณิชย์ให้ตั้งสำนักงานได้

โดยสำนักงานดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจของสิงห์ ที่จะให้ข้อมูลแก่นักลงทุนต่างชาติที่สนใจมาเป็นพันธมิตรกับบริษัทในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่เครื่องดื่ม เช่น ว่าจ้างให้บริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว เป็นต้น

"รายได้ 2 แสนล้านบาท ภายใน 3-5 ปี มีความเป็นไปได้และไม่ใช่เรื่องไกล เพราะหากเออีซีเปิด ไม่มีกำแพงภาษี และสิงห์ขยายตลาดและเครือข่ายเข้าถึงผู้บริโภคได้ 200 ล้านคน หรือ 600 ล้านคน การเติบโตจะไม่ใช่แค่อัตราบวก แต่จะเป็นทวีคูณ รวมทั้งธุรกิจอื่นทั้งค้าปลีก การจำหน่ายเสื้อผ้า อาหารล้วนมีช่องทางการเติบโต ซึ่งบริษัทจะนำเข้าไปขยายในภูมิภาคอาเซียนด้วย"

จัดทัพธุรกิจ-ระดมทุนหมื่นล้าน

บริษัทยังมีแผนเพิ่มศักยภาพธุรกิจในเครือ ที่มีความหลากหลายของกิจการรวม 54 บริษัท อาทิ โรงงานผลิตสินค้า โรงงานบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร ธุรกิจโรงไฟฟ้า ธุรกิจพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น โดยจะมีการรวมธุรกิจเข้าด้วยกันเพื่อความคล่องตัว

โดยทั้ง 54 บริษัทในเครือ มีความแข็งแกร่ง และมีโครงสร้างธุรกิจที่ดีอยู่แล้ว แต่การผนึกกำลังกันครั้งนี้จะช่วยเสริมแกร่งในการดำเนินงานให้กับบริษัทได้มากขึ้น นอกจากนี้จะมีการสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการขยายธุรกิจมากขึ้น

นายปิติ กล่าวอีกว่า บริษัทยังมีแผนจะนำบริษัทในเครือ เช่น บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนนับหมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว ธุรกิจโลจิสติกส์ รองรับการเติบโตของตลาดเครื่องดื่มในอนาคต รวมทั้งแผนการรับจ้างผลิตบรรจุภัณฑ์ จากปัจจุบันรับได้เพียง 20-30% เท่านั้น ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์ ต้องการขยายเครือข่ายกระจายสินค้าให้ลูกค้าภายนอกมากขึ้นเป็น 20 แบรนด์ จากปัจจุบันมีเพียง 5-6 แบรนด์ เช่น ชาเขียวอิชิตัน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนดำเนินงานลดต่ำลงด้วย

ที่ผ่านมา บางกอกกล๊าส เผชิญปัญหาภาระหนี้สะสมสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะจากการที่ยอดขายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของบริษัทมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเบียร์ แต่โรงงานไม่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ตามทันยอดขาย ทำให้ต้องขอสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อนำมาก่อสร้างโรงงานทุกปี ทั้งที่การดำเนินงาน และผลประกอบการของบางกอกกล๊าสอยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่อง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ต้องนำบางกอกกล๊าสเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนก้อนใหญ่เพื่อขยายโรงงานบรรจุภัณฑ์แก้วรองรับการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
"การนำบางกอกกล๊าสเข้าตลาดฯ เพื่อระดมทุน จะผลักดันการเติบโตธุรกิจแบบก้าวกระโดด เพราะที่ผ่านมาบางกอกกล๊าสมีปัญหาเรื่องหนี้สะสม ขณะที่สิงห์เติบโตเร็วมาก แต่บริษัทผลิตแก้วโตไม่ทัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราต้องสร้างโรงงานใหม่ทุกปี ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on investment : ROI) จะอยู่ที่ 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงงาน หนี้สะสมเลยสูง เพราะต้องกู้เงินมาสร้าง แต่ผลประกอบการต่อปีไม่มีปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้นธุรกิจนี้ต้องเข้าไประดมทุนในตลาดฯ ธุรกิจโลจิสติกส์ก็เช่นกันขยายไม่ทัน และหากเรารับลูกค้าภายนอกบริษัทได้มากขึ้น ก็จะทำให้ผลประกอบการเราดีขึ้น"

อัดโกลบอลแคมเปญ

พร้อมกันนี้สิงห์จะใช้กลยุทธ์การตลาดผ่านโกลบอลแคมเปญ ตอกย้ำความเป็น "โกลบอลแบรนด์" ของสิงห์ภายใต้ชื่อ “Singha day” กระตุ้นยอดขายทุกวันศุกร์ โดยร่วมกับพันธมิตรธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร สปอร์ตบาร์ต่างๆ เพิ่มโอกาสในการขายมากขึ้น

บริษัทยังมุ่งขยายฐานการผลิตเบียร์ในตลาดโลก ทั้งสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย เบื้องต้นได้เจรจากับพันธมิตรคาร์ลสเบอร์ก ลงนามสัญญาจ้างผลิต (OEM) เบียร์สิงห์ในประเทศอังกฤษ คาดดำเนินการได้ปี 2557 โดยบริษัทจะยกเลิกการจ้างผลิตในประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นฐานผลิตเบียร์ก่อนนำไปบรรจุในอังกฤษเพื่อจำหน่ายในสโมสรพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ส่วนรัสเซียได้ลงนามเซ็นสัญญากับโรงงานเบียร์ Baltika ของคาร์ลสเบอร์กเพื่อดำเนินการผลิตเบียร์สิงห์และจำหน่ายในรัสเซียและยุโรปปี 2557 จำนวน 5 แสนลิตร

ขณะเดียวกันเจรจากับคาร์ลสเบอร์กในการจ้างผลิตเบียร์ในจีนด้วย ซึ่งประเทศจีนถือเป็นฐานผลิตที่คาร์ลสเบอร์กเข้าไปลงทุนมากสุด ส่วนการทำตลาดสหรัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาจ้างบริษัทเบียร์ในแคนาดา แทนบริษัท มูสส์เฮด หลังจากกฎหมายห้ามไม่ให้ทำการรับจ้างผลิต ส่วนฐานการผลิตในพม่า ยังคงหาทำเลในย่างกุ้ง


ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์