คนดีอยู่เหนือทุกกฎ
คอลัมน์ วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2556ผู้เข้าชม : 6 คน
พอล เธอรูซ์ นักเขียนเรื่องเที่ยวและนวนิยายชื่อดังชาวอเมริกันที่ชอบท่องโลกเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานรอง เคยสรุปเอาไว้สั้นๆ โดยอ้างคำคมแบบเต๋าว่า "คนที่แสวงความบริสุทธิ์แท้ในโลก มีแนวโน้มเป็นพวกสุดขั้ว" เพื่อส่งสัญญาณเตือนถึงใจคออันคับแคบของกลุ่มคนที่เชื่อว่าตนเอง"สะอาด"กว่าคนอื่น
ข้อสรุปดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะภาษิตเซนเก่าแก่ประโยคหนึ่งก็เคยระบุไว้ลึกซึ้งว่า "น้ำบริสุทธิ์ ทำให้ปลาตาย"
เรื่องของคนดีใจแคบล่าสุด กำลังเกิดขึ้นที่บังกลาเทศที่ยืดเยื้อมาสองปีแล้ว โดยที่ธนาคารกลางของประเทศดังกล่าวสั่งปลดนายโมฮัมหมัด ยูนัส ผู้ก่อตั้ง และประธาน-ซีอีโอของ กรามีน แบงก์ ธนาคารสินเชื่อเพื่อคนยากจนที่เรียกว่าธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ ในข้อหาว่า ผิดกฎหมายธนาคารที่ระบุว่า ผู้บริหารของธนาคารทุกประเภทจะต้องเกษียณอายุเมื่อ 60 ปี แต่นายยูนัสนั่งทำทองไม่รู้ร้อนบริหารกิจการมาจนอายุ 72 ปี ก็ยังไม่ยอมลุกออก
การสั่งปลดนายยูนัส กระทำหลังจากที่เขาได้ประกาศก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อ พลังประชาชน ( Citizens' Power ) เพื่อเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งแข่งกับพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งนายยูนัสจะใช้จุดนี้มาเป็นข้ออ้างว่า ที่ถูกปลดนั้น เกิดจากเหตุจูงใจทางการเมืองเป็นสำคัญ จากนั้นเขาก็ยื่นฟ้องศาลปกครองกล่าวหาว่า คำสั่งปลดนั้น ไม่ชอบธรรม
ทั้งการปลดและการร้องนั้น มีข้อสังเกตที่น่าประหลาด และไม่น่าเป็นไปได้ 2 ประการ คือ 1) ก่อนหน้านี้เหตุใดธนาคารกลางของบังกลาเทศจึงทำเป็นบื้อไบ้ต่อการกระทำผิดอย่างลอยนวลของนายยูนัส นานถึง 12 ปี แต่เพิ่งจะมานึกได้ตอนตั้งพรรคการเมือง 2) ทำไมนายยูนัสจึงไม่ยอมรับรู้กฎหมายที่เขียนเอาไว้ชัดเจน จะโดยเจตนาแกล้งโง่ หรือ ฝ่ายกฎหมายของ กรามีน แบงก์ เองก็โง่มาก
ความผิดประหลาดทั้งสองข้อ สะท้อนให้เห็นการละเลยและย่อหย่อนต่อกติกาของทั้งฝ่ายนายยูนัส และรัฐบาล
หลังจากปลดนายยูนัสออกจากทุกตำแหน่งใน กรามีนแบงก์ รัฐบาลซึ่งถือหุ้น 25% ในธนาคาร ก็ทำการแต่งตั้งตัวแทนของรัฐบาลเองเข้ามาเป็นประธานและผู้บริหารแทน และมีการแถลงข้อมูลใหม่เพิ่มเติมว่า นายยูนัส ไม่ได้มีความชอบธรรม หรือเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น เพราะการเข้าดำรงตำแหน่งในฐานะผู้บริหารและประธานกรามีนแบงก์นั้น ไม่เคยได้รับการอนุมัติจากธนาคารกลางมาตั้งแต่ต้น เรียกว่าเป็นผู้บริหารและประธานเถื่อนโดยตลอด
ระหว่างที่มีเรื่องขัดแย้งกัน นายยูนัส ก็ออกเดินสายเรียกร้องความยุติธรรมในเวทีระหว่างประเทศ โดยอาศัยการที่เข้าได้ชื่อเสียงในฐานะได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อสิบกว่าปีก่อน
การเดินสายเรียกร้องความยุติธรรมดังกล่าว ได้สร้างกระแสขึ้นมาใหม่เพื่อทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลบังกลาเทศ มีการตั้งกลุ่ม "Friends of Yunus" (เพื่อนของยูนัส) ขึ้นมา โดยมีผู้เข้าร่วม เช่น นายพอล วอล์คเกอร์ อดีตผู้ว่าเฟดฯ นายริชาร์ด แบรนสัน ประธานกลุ่มเวอร์จิ้น นางชีล่า แบลร์ อดีตประธาน คณะกรรมการประกันภัยสหรัฐ และนางเคอร์รี่ เคนเนดี้ ลูกสาวของนายโรเบิร์ต เคนเนดี้ และคนอื่นๆที่มีชื่อเสียงทั่วโลก
กลุ่ม"Friends of Yunus" ได้มีส่วนขยายเนื้อหาความขัดแย้งของนายยูนัสกับรัฐบาลบังกลาเทศเพื่อเติมอีกว่า รัฐบาลกำลังหาทางยึดทรัพย์สินของ กรามีนแบงก์ เป็นของรัฐ ดังนั้น คำขวัญในการเรียกร้องให้คืนตำแหน่งให้กับนายยูนัส จึงบานปลายเป็น "อย่ายึดกรามีนแบงก์เป็นของรัฐ"
เป้าหมายของการเคลื่อนไหวของกลุ่ม"Friends of Yunus" มุ่งไปที่ยืนยันว่า นายยูนัส คือสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของไมโครไฟแนนซ์ หากนายยูนัสไม่อยู่ในตำแหน่งต่อไป เจตนารมณ์ของกรามีนแบงก์ จะถูกเบี่ยงเบนไปตามนโยบายรัฐบาลที่ฉ้อฉล และเอารัดเอาเปรียบคนยากจนที่เป็นลูกค้า
นัยของความหมายนี้ก็คือ นายยูนัส นั่นแหละคือ กรามีนแบงก์ และ นายยูนัส สำคัญกว่า กรามีนแบงก์
น่าเสียดายที่ศาลปกครองบังกลาเทศ ไม่คิดเช่นนั้น และไม่ยอมเล่นตามกระแสของแรงกดดันจากภายนอก โดยได้ทำการตัดสินยกฟ้องคดีของนายยูนัส ระบุว่าเขากระทำการผิดกฎหมายจริงจากการดำรงตำแหน่งเกินอายุ คสั่งปลดเขาจึงถือว่าชอบธรรมแล้ว
คำสั่งศาล ไม่ได้ทำให้นายยูนัส และกลุ่ม "Friends of Yunus" หยุดการเคลื่อนไหว พวกเขายังคงยืนกรานว่า หากปราศจากนายยูนัส ลูกค้าสินเชื่อของธนาคารจะถูกขูดรีดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าเดิม ซึ่งข้อกล่าวหานี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ชัด
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปในบังกลาเทศปัจจุบัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 22% ต่อปี (ลดต้นลดดอก) หรือ อัตราคงที่ (flat rate)ที่ 11% ต่อปี แต่กรามีนแบงก์ให้อัตราดอกเบี้ยอย่างจำแนกกับลูกค้า(เกือบทั้งหมดเป็นสตรี)ที่ต่ำกว่าเล็กน้อย คือ 20% ต่อปีสำหรับผู้มีรายได้สม่ำเสมอ 8% ต่อปีสำหรับเงินกู้ซื้อที่อยู่อาศัย 5% ต่อปี สำหรับนักเรียนนักศึกษา และ 0% สำหรับคนอนาถา แต่จุดเด่นสุดคือ ธนาคารนี้ไม่เรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ลูกค้าทุกคนของกรามีนแบงก์ จะถูกเงื่อนไขกำหนดให้เป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารด้วย ฐานะการเป็นลูกหนี้ผสมผู้ถือหุ้นนี้ เป็นแรงจูงใจพิเศษให้หนี้เสียของกรามีนแบงก์ค่อนข้างต่ำกว่าระดับเฉลี่ย เป็นต้นแบบที่ได้รับการยกย่องไปทั่วโลก ซึ่งดูเหมือนว่า ยากจะแก้ไขปรัชญาเช่นนี้ได้ แม้กระทั่งรัฐบาลบังกลาเทศคิดจะทำก็ไม่ได้
ข้อกล่าวหาของนายยูนัสและกลุ่ม "Friends of Yunus" ที่มีต่อรัฐบาลบังกลาเทศ จึงเป็นจินตนาการที่ยึดติดกับชื่อเสียงของนายยูนัสเป็นสำคัญว่า คนดีย่อมอยู่เหนือกฎทุกกฎ แม้กระทั่งกฎหมาย
ข้อสรุปเช่นว่านี้ เป็นข้อสรุปคิดเองเออเองอย่างใจแคบและขาดขันติธรรม (รวมทั้งขาดนิติธรรมโดยปริยาย) ด้วยโมหาคติของคนที่หลงตนว่าเป็นคนดี
เมืองไทยก็มีคนเช่นนี้เยอะแยะในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมสังคมไทยถึงได้ถลำลึกในบ่งของความขัดแย้งไร้สาระไม่สิ้นสุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น