งบQ3ไทยพาณิชย์หรู
กินค่าฟีแม็คโคร4พันล.
ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 02 พฤษภาคม 2556 ผู้เข้าชม : 6 คน
ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB รับเละค่าธรรมเนียมไตรมาส 3 รวมกว่า 4 พันล้านบาท จากดีลซีพี ออลล์ เข้าซื้อสยามแม็คโคร ในวงเงินประมาณ 1.88-1.89 แสนล้านบาท แถมบลจ.ไทยพาณิชย์ยังได้งานตั้งกองทุนอสังหาฯให้แม็คโครอีก กินค่าฟีเพลิน 500-600 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากที่ปรึกษาทางการเงิน เผยว่า ผลประกอบการของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ในไตรมาสที่ 3 และในปีนี้จะออกมาดีมาก จากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับดีลซีพี ออลล์ เข้าซื้อสยามแม็คโคร ในวงเงินประมาณ 1.88-1.89 แสนล้านบาท โดยเฉพาะค่าที่ปรึกษาที่ปกติตลาดจะคิดในอัตราระหว่าง 2-5% โดยหากคิดในอัตราต่ำที่สุดที่ 2% จากวงเงิน 1.89 แสนล้านบาท ก็จะเป็นเม็ดเงินประมาณ 3,780 ล้านบาท
“ผู้บริหารแบงก์ทหารไทยมองว่าค่าฟีปีนี้จะสูงมากจากดีลนี้ ซึ่งไทยพาณิชย์เป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพียงรายเดียวสำหรับดีลนี้” แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนี้ SCB ยังจะได้ค่าธรรมเนียมจากการสว็อปเงินให้ผู้ถือหุ้นแม็คโคร ที่ซื้อขายกันที่ 5-6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอัตรา 0.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเท่ากับ 500-600 ล้านบาท สำหรับเงินจากค่าธรรมเนียมการเป็นที่ปรึกษาและการสว็อปเงินจะสามารถบันทึกลงในงบประมาณไตรมาสที่ 3 นี้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,280 ล้านบาท
ขณะที่การตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของแม็คโคร โดยมีบล.ไทยพาณิชย์เป็นผู้จัดตั้งกองทุน หากตั้งที่ 7 หมื่นล้านบาท ไทยพาณิชย์จะได้เงินค่าฟี 700 ล้านบาท แต่หากตั้งกอง 1 แสนล้านบาท ก็จะได้เงินค่าฟี 1 พันล้านบาท
โดยหากรวมเงินกำไรที่จะได้จากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของธนาคารไทยพาณิชย์ในครั้งนี้ จะได้ทั้งสิ้นกว่า 5 พันล้านบาท
ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินเพียงผู้เดียวและเป็นหนึ่งในผู้จัดการวงเงินสินเชื่อร่วมกรณีซีพี ออลล์ เข้าซื้อสยามแม็คโคร กล่าวว่า นอกจากเป็นที่ปรึกษาทางการเงินแล้ว ธนาคารยังเป็นผู้จัดการวงเงินสินเชื่อร่วม 1.88 แสนล้านบาทในการเข้าซื้อสยามแม็คโคร ซึ่งการสนับสนุนทางการเงินครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมีผู้สนับสนุนด้านสินเชื่อร่วมที่ยืนยันมาแล้ว 5 แห่ง คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น (เอชเอสบีซี) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ธนาคารยูบีเอสเอจี และธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น นอกจากนี้ จะมีสถาบันการเงินในประเทศที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจเพิ่มอีก
ด้านบล.เอเซีย พลัส ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2556-57 ของ SCB ขึ้น 4.3% จากเดิม เพื่อสะท้อนการปรับเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ปี 2556 ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมราว 1.5 พันล้านบาท หรือราว 10.8% จากดีลการเป็น FA ให้กับ CPALL โดยคาดการณ์การเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ปี 2556-57 เท่ากับ 22% yoy และ 14% yoy ตามลำดับ โดยฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการการเติบโตของสินเชื่อสุทธิปี 2556-57 เท่าเดิมคือ 15% yoy ซึ่งยังสอดคล้องกับสมมติฐานของธนาคารฯ ที่ตั้งไว้ 12-15% yoy (อยู่ระดับบนสุด)
ทั้งนี้ ภายหลังปรับประมาณการ ส่งผลให้คาดการณ์การเติบโตของกำไรสุทธิปี 2556-57 เพิ่มขึ้น 20.2% yoy และ 13.6% yoy ตามลำดับ สำหรับความกังวลเรื่องความเสี่ยงในการกระจุกตัวของการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายใหญ่รายเดียวจนเกินเพดานที่ ธปท.กำหนดไว้ไม่เกิน 25% ของเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Single lending limit) โดย SCB มี Tier 1 ณ สิ้นงวด 1Q56 เท่ากับ 1.76 แสนล้านบาท หรือ 11.26% ของปริมาณสินทรัพย์เสี่ยงรวม ซึ่งตามเกณฑ์แล้วจะสามารถปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ต่อรายหรือทั้งกลุ่มได้ไม่เกิน 4.40 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารฯ เปิดเผยว่าได้ขอผ่อนผันจากธปท. เฉพาะกรณีนี้ เพื่อขยายเพดานสินเชื่อขึ้นเป็น 60% หรือเทียบเท่า 1.05 แสนล้านบาท ทำให้สามารถรองรับการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่ม CP ได้เต็มที่มากขึ้น โดยเฉพาะกรณีของ CPALL ซึ่งเป็นบริษัทที่มีกระแสเงินสดมหาศาลในแต่ละปี อีกทั้งยังมีสถานะทางการเงินเป็นเงินสดสุทธิในช่วงที่ผ่านมา จึงช่วยลดความกังวลไปได้มาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น