ค่ายรถโลกยึดฐานไทย บีโอไอฟุ้งโครงการระดับหมื่นล้านชักแถวขอส่งเสริม ผลิตป้อนอาเซียน
ค่ายรถโลกยึดฐานไทย บีโอไอฟุ้งโครงการระดับหมื่นล้านชักแถวขอส่งเสริม ผลิตป้อนอาเซียน
กลุ่มยานยนต์โลกตบเท้าเข้าไทย เมินปัจจัยลบ บีโอไอเผยค่ายรถที่ยังไม่ตั้งฐานผลิตในไทย แห่ตอกเสาเข็มผลิตส่งออกเด้งรับเออีซี แย้มพี่เบิ้มวงการยานยนต์จากจีน-เยอรมนี จ่อแถวขอส่งเสริม เลขาฯบีโอไอชี้ ไตรมาส 2 มูลค่าคำขอโตแรงยอด 4 เดือนพุ่งแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท บิ๊ก"ซีพี" แจงความคืบหน้าแผนร่วมทุนกับเซี่ยงไฮ้ มอเตอร์ ตั้งโรงงานผลิตรถ"เอ็มจี"ในไทย
จากสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่มีปัจจัยลบรุมเร้าต่อเนื่องทั้งปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของนักการเมือง การรับมือกับการบริหารความเสี่ยงของค่าเงินบาท รวมถึงภาระต้นทุนรวมในภาคผลิตที่พุ่งสูงขึ้นทั้งวัตถุดิบ พลังงาน และค่าแรง ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้แม้ส่งผลทางลบทันทีในภาคส่งออก ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้อยลง แต่ในภาคการลงทุนที่ผ่านการขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอกลับอยู่ในทิศทางที่ตรงกันข้าม
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์พิเศษ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงบรรยากาศการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอ(Foreign Direct Investment ) และการลงทุนจากนักลงทุนในประเทศในช่วงไตรมาส 2ไปจนถึงปลายปี 2556 ว่า หากไม่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการเมืองเกิดขึ้น ก็จะทำให้บรรยากาศเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง และเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวก็เป็นแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งจากการสำรวจท่าทีของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนใหญ่มองว่า การที่เงินบาทแข็งค่าก็เป็นตัวเร่งให้เกิดการลงทุน เนื่องจากเป็นโอกาสในการนำเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบที่นำเข้ามา
-ยึดไทยฐานส่งออกเออีซี
ดังนั้นนับแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไปจะมีกลุ่มทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ยักษ์ใหญ่ลำดับต้นๆของโลกที่ยังไม่มีฐานการผลิตในประเทศไทยมาก่อน จ่อแถวเข้ามาขอรับการส่งเสริมโดยเฉพาะกลุ่มทุนรายใหญ่จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งยังไม่พร้อมเปิดเผยชื่อและค่ายรถโฟล์คสวาเกนจากเยอรมนี ซึ่งรายแรกก่อนหน้านั้น ได้เข้ามาติดต่อสอบถามตั้งฐานการผลิตรถพวงมาลัยขวาในไทย โดยจะใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออก จากที่ฐานผลิตในจีนส่วนใหญ่จะผลิตรถพวงมาลัยซ้ายขายในประเทศ และกำลังจะยื่นคำขอส่งเสริมเข้ามาในเร็วๆนี้ รวมถึงกลุ่มทุนรายอื่นๆที่สนใจจะเข้ามา เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งต่อไปยังตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ซึ่งขณะนี้ยักษ์ใหญ่ในวงการยานยนต์ของโลกยังเข้ามาปักหลักในประเทศไทยไม่หมด บีโอไอจึงต้องเดินสายเชิญชวนเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง
"จากการสำรวจพบว่า จะมีบริษัทรถยนต์ที่ต้องการขยายการลงทุนอีกหลายบริษัท เป็นโครงการลงทุนระดับหมื่นล้านบาทหลายโครงการ และไทยเป็นลำดับต้นที่ต่างชาติสนใจ ซึ่งตอนนี้ไทยขึ้นเป็นฐานการผลิตส่งออกรถยนต์เป็นอันดับ 9 ของโลกแล้ว และล่าสุดกลุ่มยานยนต์ได้ประเมินภาพรวมการผลิตรถยนต์รอบใหม่ในปีนี้อีกครั้ง จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 2.2-2.3 ล้านคัน/ปี กำลังผลิตจะทะลุ 2.5 ล้านคัน/ปี ในจำนวนนี้ส่งออก 50% หรือมากกว่านี้ เพราะมีปัจจัยเอื้อคือบาทแข็งค่าทำให้การนำเข้าชิ้นส่วนมาผลิตเพื่อส่งออกต้นทุนถูกลง"
-มองข้ามค่าแรงแพงเน้นคุณภาพ
ส่วนปัญหาค่าแรงงานที่สูงขึ้น หากเปรียบเทียบกับเวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมาร์ ก็ปรับค่าแรงสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เพียงแต่อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าประเทศไทย และการขึ้นค่าแรงอย่างเดียวจะไปมองที่ตัวเงินไม่ได้ แต่ต้องมองที่คุณภาพของแรงงานด้วย ซึ่งคุณภาพแรงงานไทยจะคุ้มค่ากว่า มีทักษะดีกว่า และฐานการผลิตไทยก็พยายามที่จะปรับอุตสาหกรรมการผลิตให้ไฮเทคขึ้น มีการใช้แรงงานลดลง โดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้นในประเด็นที่ขาดแคลนแรงงานในไทยก็ไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิดไว้ นอกจากนี้ข้อมูลจากนักลงทุนยังระบุด้วยว่าทั้งเวียดนามและอินโดนีเซียยังมีต้นทุนแฝงอยู่มาก เช่นค่าใช้จ่ายที่ลงบัญชีไม่ได้ เป็นต้น
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวอีกว่าบรรยากาศการลงทุนในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ จะยังเติบโตดีต่อเนื่อง หากดูจากการลงทุนเฉพาะเดือนเมษายน จะมียอดคำขอส่งเสริมเติบโตรวมมูลค่าราว 2.3 แสนล้านบาท มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั่วไปและมากกว่าเดือนเมษายนปีที่แล้ว ซึ่งจะเห็นชัดเจนว่าการลงทุนไม่เหมือนกับการค้า กว่าจะเกิดการลงทุนได้ต้องใช้เวลาเป็นปีและในแง่การลงทุนผู้ลงทุนคงไม่ดูแค่ระยะสั้น แต่จะดูผลในระยะยาว และมองว่าโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐโครงการใหญ่ๆ ที่จะเกิดขึ้นก็จะทำให้เกิดความต้องการในสินค้าหลายๆตัวตามมา ดังนั้นการลงทุนก็จะเพิ่มตามมาด้วย
"โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานไฟฟ้า พลังงานชีวมวล รวมถึงสายการบินไทย แอร์เอเชียที่ซื้อเครื่องบินเข้ามา มีการเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆเพิ่มเติม ซึ่งปีนี้การบินไทยจะลงทุนในเรื่องเครื่องบินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ทยอยยื่นขอบีโอไอมาเป็นล็อตๆ เช่นเดียวกับกลุ่มปตท. ก็มีการลงทุนด้านปิโตรเคมี เป็นหลักหมื่นล้านบาท"
-4เดือนคำขอพุ่งกว่า5แสนล.
สำหรับสถิติคำขอรับการส่งเสริมระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน หรือ 4 เดือนแรกปี 2556 เปรียบเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเดียวกัน มีจำนวนคำขอรับการส่งเสริม 747 โครงการ เพิ่มขึ้น 25% มูลค่ารวม 509,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% จากที่ปีที่แล้วในช่วงเดียวกัน มีจำนวน 593 โครงการ มีมูลค่ารวม 282,400 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าขอรับส่งเสริมมากถึง 246,100 ล้านบาท ตามด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วน เครื่องจักร โลหะ 124,100 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเกษตร 83,200 ล้านบาท
-ซีพีจ่อเปิดตัวรถเอ็มจีกลางปีหน้า
อย่างไรก็ตามกรณีที่เลขาธิการบีโอไอระบุว่าจะมีกลุ่มทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ยักษ์ใหญ่ลำดับต้นๆของโลกที่ยังไม่มีฐานการผลิตในประเทศไทย จ่อแถวเข้ามาขอรับการส่งเสริมโดยเฉพาะจีนแต่ยังไม่พร้อมเปิดเผยชื่อนั้นน่าจะเป็นการเข้ามาของบริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโต้โมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Shanghai Automotive Industry Corp. - SAIC)
ซึ่งสอดคล้องกับที่นายธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) และประธานสภาธุรกิจไทย-จีน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจับมือกับบริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโต้โมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด เกี่ยวกับแผนการลงทุนและตั้งโรงงานประกอบรถยนต์แบรนด์ เอ็มจี (มอร์ริส การาจส์) ที่เตรียมจะยื่นขอรับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอและดูว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์อย่างไรบ้าง ซึ่งตามแผนการทำตลาดรถยนต์เอ็มจีของทั้ง 2 บริษัทในประเทศไทยจะใช้ชื่อว่า บริษัท เซี่ยงไฮ้ มอเตอร์-ซีพี จำกัด แบ่งสัดส่วนการถือครองหุ้นเป็นบริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโต้โมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด 51% และบริษัท ซีพี มอเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือครองหุ้น 49% โดยใช้เงินลงทุนเฟสแรกราว 1 หมื่นล้านบาท มีขนาดกำลังผลิต 5 หมื่นคัน ในเบื้องต้นเช่าโรงงานสำเร็จรูปในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช ทำการประกอบรถยนต์ให้ทันกับการเปิดตัวในกลางปี 2557 หลังจากนั้นจะเริ่มสร้างโรงงานผลิตขึ้นเอง โดยมีเป้าหมายผลิตรถเอ็มจีจำนวน 2 แสนคันต่อปี และจะมีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศประมาณ 40%
"จุดเริ่มต้นของการจับมือร่วมกันในครั้งนี้ เนื่องมาจากความสนิทสนมกันเป็นส่วนตัวกับทางเซี่ยงไฮ้ ออโต้ ประกอบกับต้องการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยธุรกิจที่มีความน่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตสูง อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งสอดรับกับที่อาเซียนกำลังเติบโตยิ่งทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่จะใช้ไทยเป็นฐานการประกอบเพื่อกระจายไปยังประเทศต่างๆได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงเอ็มจีมีหน่วยวิจัยและพัฒนาในเซี่ยงไฮ้ที่มีขนาดใหญ่มากเป็นแรงสนับสนุนฐานการผลิตในประเทศไทย" นายธนากรกล่าวทิ้งท้าย
-เคาะ5แสน-1.3ล้านบาท/คัน
ด้าน นายนพดล เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจยานยนต์ และอุตสาหกรรม(จีน)เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวเสริมว่า รถเอ็มจี จะพร้อมเปิดตัวจำนวน 4 รุ่น อาทิ เอ็มจี 3,เอ็มจี 6 ขนาดเครื่องยนต์ที่จะทำตลาดนั้นก็จะมีตั้งแต่ 1.5 ลิตร และ 1.8 ลิตร โดยจะทยอยเปิดตัวสู่ตลาดทีละรุ่น ส่วนราคาจำหน่ายนั้นจะเริ่มต้นตั้งแต่กว่า 5 แสน--1.3 ล้านบาท
"ตอนนี้เรามีการนำรถ 3 รุ่นเข้ามาทดลองวิ่งบนสภาพถนนจริงของประเทศไทยเป็นระยะ 1.6 แสนกิโลเมตร ทั้งนี้เพื่อจะได้รู้ปัญหาและดูสมรรถนะของรถว่าเป็นอย่างไร และในปีหน้าหากมีรถพร้อมก็อาจจะนำไปโชว์ในงานมอเตอร์โชว์ที่จัดขึ้นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ก่อนที่จะเปิดตัวสู่ตลาดอย่างเป็นทางการในช่วงกลางปี ซึ่งเราคาดว่าหลังจากที่เปิดตัวไปจนถึงสิ้นปี 2557 จะทำยอดขายได้ประมาณ 5 พันคัน"
ส่วนกลุ่มเป้าหมายของเอ็มจี จะมีทั้งวัยรุ่น นักศึกษา และคนทำงาน โดยการทำตลาดนั้นจะเน้นเรื่องคุณภาพของตัวรถ และความปลอดภัยมากกว่าชูเรื่องราคาเป็นจุดขาย นอกจากนั้นแล้วจะทำการเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการครบวงจรจำนวน 4 - 8 แห่งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล
สำหรับเอ็มจี (มอร์ริส การาจส์)เป็นแบรนด์รถยนต์จากประเทศอังกฤษ โดยเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักทั่วโลก เมื่อปี 2550 บริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโต้โมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เข้าไปเทกโอเวอร์กิจการทั้งหมด แต่ยังคงหน่วยงาน-บุคลากร-ส่วนต่างๆในประเทศอังกฤษให้อยู่เหมือนเดิม และมีการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาขนาดใหญ่ ที่ประเทศจีน โดยลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท
ขณะที่บริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโต้โมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก็ถือเป็นยักษ์ใหญ่วงการอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนที่มียอดขายรวมทุกยี่ห้อไม่ว่าจะเป็น โฟล์ค, จีเอ็ม, โรวี, เอ็มจี โดยในปีที่ผ่านมาทำยอดขายรวมกันกว่า 4.5 ล้านคัน และในปี 2556 ได้ตั้งเป้าหมายยอดขายรวมไว้ที่ 5 ล้านคัน
- ตรวจแถวค่ายรถจีนในไทย
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจากจีนที่เพิ่งประกาศตัวว่าจะเข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ จำกัด โดยได้วางงบประมาณการลงทุนไว้กว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานประกอบรถอเนกประสงค์ หรือ เอสยูวี ส่วนค่ายที่มีการลงทุนและกำลังก่อสร้างโรงงานอยู่ในขณะนี้ คือ ค่ายตงฟง มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ที่ประกอบรถมินิทรัก, รถตู้เพื่อการพาณิชย์, รถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง โดยใช้เม็ดเงินประมาณ 500 ล้านบาทในการก่อสร้างโรงงานและมีกำลังการผลิต 5 พันคันต่อปี ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้นอกจากผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศแล้ว ยังมีแผนส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และมาเลเซีย ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ด้วย
ส่วนฐานการผลิตที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้วเช่นค่ายญี่ปุ่นประกอบด้วยโตโยต้า มาสด้า ฮอนด้า อีซูซุ มิตซูบิชิ ซูซูกิ นิสสัน ส่วนค่ายอเมริกา จะมีฟอร์ด และจีเอ็ม เป็นต้น
อนึ่งในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอมีการยื่นขอรับการส่งเสริมลงทุน 338 โครงการ เพิ่มขึ้น8.3% โดยมีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 157,671 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.5% เปรียบเทียบกับไตรมาสแรกปีที่แล้วมีจำนวน 312 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุน 134,151 ล้านบาท ทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดยังเป็นทุนจากญี่ปุ่น ยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 176 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 87,483 ล้านบาท รองลงมาเป็นการลงทุนจากมาเลเซีย 11 โครงการ เงินลงทุน 16,608 ล้านบาท
ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น