จุดเปลี่ยนของทีวี:ดิจิทัล vs อินเทอร์เน็ต
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม Eric Schmidt ผู้เป็น Executive Chairman ของ Google ได้ประกาศชัยชนะของการรับชมวีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ต ที่มีเหนือทีวีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
คำประกาศดังกล่าว มีที่มาจากจำนวนผู้เข้าชม YouTube ที่มีมากกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก ซึ่ง Google มีความเชื่อมั่นว่าจำนวนดังกล่าว มีโอกาสที่จะขยายตัวสู่ 6-7 พันล้านคน ครอบคลุมถึงประชากรทั้งโลก ถึงแม้คำประกาศของ Eric Schmidt อาจจะยังมีข้อกังขา หากเปรียบเทียบกับตัวเลขที่เป็นมาตรวัดของทีวีในแง่มุมต่างๆ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือการที่วีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ตได้มาเป็นแนวโน้มของอนาคตอันใกล้และไกล ในขณะที่ทีวีเป็นพฤติกรรมของปัจจุบันที่กำลังจะเป็นอดีตในไม่ช้านี้
"ทีวี" คือการเผยแพร่เนื้อหาในรูปแบบของวีดิโอหรือภาพเคลื่อนไหวที่สามารถเข้าถึงได้โดยประชากรเกือบทั้งประเทศ ปัจจุบันการเข้าถึงทีวีมีอยู่ 3 รูปแบบหลัก คือ การรับสัญญาณผ่านเสาอากาศ ผ่านดาวเทียม และผ่านเคเบิล โดยทั่วไปการรับชมผ่านจานดาวเทียมและเคเบิลเป็นการรับชมแบบสมัครสมาชิก ในขณะที่การรับชมผ่านเสาอากาศคือทีวีที่สามารถรับชมได้โดยประชาชนทั่วไป (Free TV)
Free TV เป็นรูปแบบของสื่อที่มีมูลค่าสูงสุดในประเทศไทย จากมูลค่ารวมของสื่อทั้งประเทศ ที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี Free TV มีมูลค่ากว่า 60% จุดเปลี่ยนสู่ดิจิทัลทีวี คือการเปลี่ยนคลื่นความถี่ของ Free TV จากระบบอนาล็อกในปัจจุบันมาเป็นดิจิทัล โดยจะเพิ่มจำนวนของช่อง เพิ่มเสถียรภาพของสัญญาณ และเพิ่มการบริการแบบความละเอียดสูง (HD)
อย่างไรก็ดีดิจิทัลทีวีกลับไม่ใช่สิ่งที่ Eric Schmidt ได้พูดถึง และเป็นเทคโนโลยีคนละรูปแบบกับวีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างสิ้นเชิง ในทางกลับกันดิจิทัลทีวียังจัดอยู่ในกลุ่มของทีวี ที่ Google ได้ประกาศชัยชนะเหนือด้วย ทั้งนี้ ยังคงมีความสับสนสำหรับบุคคลทั่วไป ที่ได้เข้าใจว่าดิจิทัลทีวีเป็นการเปิดทางสู่วีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ต
"วีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ต" คือการเผยแพร่เนื้อหาในรูปแบบของวีดิโอหรือภาพเคลื่อนไหวผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถรับชมได้ผ่านอุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ในยุคแรกของวีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ตอุปกรณ์หลักในการเข้าถึงคือคอมพิวเตอร์และแล็ปท็อป ดังตัวอย่างของการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อรับชม YouTube ต่อมามีพัฒนาการของอุปกรณ์ในการเข้าถึงและเทคโนโลยีโครงข่าย จึงได้เกิดอุปกรณ์ยุคใหม่ เช่น Smartphone, Tablet, Smart TV ฯลฯ ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่าน 4G, 3G หรือ WiFi และเป็นที่มาของการเข้าถึงวีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ตจาก "ทุกที่ ทุกเวลา"
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างดิจิทัลทีวีและวีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ต คือดิจิทัลทีวี ซึ่งไม่ต่างกับทีวีผ่านเสาอากาศในยุคอนาล็อก ดาวเทียม และเคเบิล เป็นการแพร่ภาพเนื้อหาทางเดียว (Broadcast) กล่าวคือ เป็นการให้บริการในรูปแบบของช่อง และไม่มีรูปแบบในเชิงตอบโต้ (Interactive) และ On Demand ในขณะที่ วีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นการให้บริการแบบจุดต่อจุด (Point to Point) ซึ่งมีความเป็น Interactive และ On Demand ดังตัวอย่างของการรับชม YouTube ซึ่งผู้ใช้สามารถมีการตอบโต้กับ YouTube คือการกด Like, ส่งต่อ, เขียนบทวิจารณ์ หรือกระทั่งนำเสนอวีดิโอใหม่ และสามารถเลือกชมวีดิโอที่ตนต้องการได้ โดยไม่ต้องอาศัยรูปแบบของช่อง
ความแตกต่างอีกประการหนึ่ง คือการรับชมดิจิทัลทีวี จำเป็นต้องอาศัยกล่องแปลงสัญญาณ (Set Top Box) ซึ่งการแจกจ่ายหรือการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน (Subsidize) โดยภาครัฐเป็นแนวทางปฏิบัติสากล แต่ Set Top Box ดังกล่าว ยังคงต้องอาศัยเสาอากาศ จึงมีความเหมาะสมสำหรับการรับชมผ่านเครื่องโทรทัศน์ที่ไม่มีการย้ายที่
ในทางกลับกันการรับชมวีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ตสามารถทำได้โดยทุกอุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งรวมถึง คอมพิวเตอร์, แล็ปท็อป Smartphone, Tablet, Smart TV ฯลฯ ในปัจจุบัน ยังมี Set Top Box ที่สามารถทำให้เครื่องโทรทัศน์ที่ไม่ใช่ Smart TV สามารถรับชมวีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ตได้ สำหรับการที่จะทำให้ แล็ปท็อป, Smartphone, Tablet สามารถเข้าถึงดิจิทัลทีวี มีความจำเป็นต้องติดตั้งระบบแปลงสัญญาณเพิ่มเติม จึงอาจไม่เหมาะสำหรับการเข้าถึงทุกที่ทุกเวลา แม้โทรทัศน์ในอนาคตอาจมีเครื่องแปลงสัญญาณดิจิทัลทีวี ที่รวมมากับเครื่อง แต่ก็ยังคงเหมาะสมกับการรับชมอย่างไม่เคลื่อนย้ายสถานที่ หรือในอนาคตอาจมีอุปกรณ์ขนาดเล็กที่สามารถรับชมดิจิทัลทีวีได้โดยเฉพาะ แต่ก็ยังไม่ใช่อุปกรณ์ที่มีการพกพาหลักเช่น แลปท็อป, Smartphone, Tablet ผู้ใช้งานอาจจำเป็นที่จะต้องพกพามากกว่าหนึ่งอุปกรณ์หากต้องการเข้าถึงดิจิทัลทีวีแบบทุกที่ทุกเวลา
ข่าวคราวที่สำคัญสำหรับประเทศในปีนี้ ย่อมเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทีวี เพราะต้องอาศัย นโยบาย ใบอนุญาต และการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่วีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค จึงอาจไม่เป็นข่าวคราวที่ได้รับความสนใจ ในปัจจุบันดิจิทัลทีวีย่อมเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญกว่า เพราะมีความเหมาะสมกับพัฒนาการของประเทศไทย
แต่ในที่สุดการประกาศชัยชนะของการรับชมวีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ต ก็จะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งยังต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายอย่าง แต่อาจไม่จำเป็นต้องมีการผลักดันจากภาครัฐอีกต่อไป เพราะการประมูล 3G เมื่อปีกลาย ได้เป็นการปลดแอกครั้งสำคัญ ที่ยังคงมีอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง
Tags : ดร.อธิป อัศวานันท์
ดร. อธิป อัศวานันท์
Social MEDIA & INNOVATION /รองประธานกรรมการธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หอการค้าไทย, atip@alumni.uchicago.edu , http://drjoke.com , @drjoke
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น