วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

  ฝรั่งยังไม่ขนเงินหนี!
 
       *กูรูชี้แค่ขายทำกำไร - แนวรับ1,550 จุด 
 

  
            วงการประสานเสียง ต่างชาติยังไม่ทิ้งหุ้นไทย เผยเหตุที่ขายสุทธิหนักในช่วงนี้แค่ทำกำไร หลังดัชนีขยับเข้าใกล้เป้าหมาย ขณะที่บางส่วนกังวลว่าเฟดอาจชะลอการใช้มาตรการ QE ช่วงครึ่งปีหลัง ด้านเอเซียพลัสมองหุ้นไทยจะพักฐานจนดัชนีมี P/E เหลือ 16 เท่า ขณะที่ฟินันเซีย ไซรัส ฟันธง แรงขายต่างชาติจากต้นปีถึงปัจจุบันที่ 2.1 หมื่นล้านบาท ยังไม่ใช่สัญญาณขนเงินกลับของฝรั่ง แนะหาจังหวะเข้าซื้อหุ้นที่พึ่งพิงการบริโภคในประเทศ มองแนวรับลึกสุด 1,550 จุด แนวต้าน 1,620 จุด 
            
แรงขายของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย 5 วันทำการติดต่อกันในช่วงนี้ (23 -30 พ.ค.) สร้างความกังวลให้กับชาวหุ้นเป็นอย่างมาก เพราะเกรงหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างร้อนแรงตั้งแต่ปลายปี 2555 ที่ผ่านมา และดึงดูดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากนักลงทุนต่างชาติได้เป็นอย่างดี จะเริ่มหมดเสน์ห์ดึงดูดจนทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มขนเงินกลับเพื่อไปหาแหล่งลงทุนแห่งใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อมากกว่า
อย่างไรก็ตามมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในตลาดหุ้นยังคงมั่นใจว่าแรงขายของนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้ ยังเป็นเพียงแรงขายทำกำไร หลังจากซื้อที่ซื้อสะสมมาต่อเนื่องแบบข้ามปี ประกอบกับความไม่มั่นใจกับมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณว่าจะเริ่มชะลอวงเงินในการซื้อพันธบัตรในช่วงครึ่งปีหลัง แต่โดยภาพรวมแล้วแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในครั้งนี้ยังไม่มีสัญญาณใดที่บ่งชี้ว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มหมดแรงจูงใจในการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
            
โดยวานนี้(30 พ.ค.) ตลาดหุ้นไทยปิดการซื้อขายที่ระดับ 1581.32 จุด ลดลง 20.29 จุด หรือ -1.27 % ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 57,710.24 ล้านบาท
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิในหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 อีก 3835.50 ล้านบาท โดยรวม 5 วันทำการที่ผ่านมา (23 -30 พ.ค.) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในหุ้นไทยไปแล้ว 17779.97 ล้านบาท ส่วนยอดขายสุทธิตั้งแต่เริ่มปี 2556 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 21418.59 ล้านบาท
*** ส.นักวิเคราะห์มองแค่กังวลเฟดถอด QE ยังไม่ใช้สัญญาณทิ้งตลาดหุ้นไทย 
            
นายสมบัติ นราวุฒิชัย นายกสมาคมนักวิเคราะห์ เปิดเผยว่า การขายสุทธิของต่างชาติจากต้นปีถึงปัจจุบันที่ 2.1 หมื่นล้านบาท ถือว่าไม่มากนัก และยังไม่ใช่สัญญาณที่บ่งบอกว่าต่างชาติจะทิ้งตลาดหุ้นไทย ซึ่งหากสังเกตตั้งแต้ต้นปีถึงปัจจุบัน ต่างชาติมีการซื้อขายสลับกันไปมา เพียงแต่แรงขายที่มีมากในช่วงสัปดาห์นี้ เกิดจากความไม่มั่นใจในมาตรการ QE ของสหรัฐฯ เป็นหลัก ซึ่งไม่มีใครทราบว่า สหรัฐฯ จะชะลอวงเงินในการซื้อพันธบัตรลงช่วงใด อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณว่าการลดวงเงินซื้อพันธบัตรจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทำให้ต่างชาติขายหุ้นอออก เนื่องจากสมมุติฐานที่เปลี่ยนไป
            
"พอต่างชาติไม่แน่ใจว่าสหรัฐฯจะลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรลงในช่วงใด ก็ย่อมทำให้สมมติฐานของต่างชาติเปลี่ยนไปเลยต้องมีการปรับตัวเพื่อรับกับสมมติฐานใหม่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสหรัฐฯจะไม่ยุติมาตรการ QE เพียงแต่ว่าจะมีการลดปริมาณ QE ลงเท่านั้น และการลดวงเงินของ QE ลงก็น่าจะยังมีเม็ดเงินที่ใช้ในการซื้อพันธบัตรหรืออยู่ส่วนหนึ่ง ดังนั้นอีกระยะหนึ่งถ้าภาพชัดเจนต่างชาติจะกลับเข้ามาเล่นใหม่" นายสมบัติ กล่าว
            
ส่วนการที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงในช่วงนี้เป็นเพียงการปรับฐานในระยะสั้นจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ตลาดเริ่มสับสนกับมาตร QE สหรัฐฯว่าอาจจะชะลอมากน้อยแค่ไหน 2.ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นมาสูงแล้วแตะ 1,650 จุด ค่า P/E ก็ปรับสูงขึ้นตาม ทำให้มีการขายทำกำไรในช่วงสั้น
            
สำหรับในช่วงสัปดาห์นี้ประเมินแนวรับที่ 1,558 จุด ส่วนแนวต้านแรก 1,600 จุด แนวต้านถัดไป 1,620 จุด ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนในรอบต่อไป นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีการตลาดในประเทศ เช่น โดเมสติกส์เพลย์ น่าจะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสฟื้นตัวได้
*** เอเซียพลัส ชี้ช่วง พ.ค.-มิ.ย.ต่างชาติขายมากกว่าซื้อ มอง SET จะพักฐานจน P/E เหลือ 16 เท่า 
            
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า สาเหตุที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงในช่วงนี้ เนื่องจาก P/E ของตลาดอยู่ในระดับสูงแล้วที่ประมาณ 17-18 เท่า ทำให้ถึงเวลาที่ตลาดหุ้นจะต้องมีการปรับฐาน ดังนั้นจึงมองว่าภาพรวมตลาดหุ้นในระยะกลางจะต้องผ่านการปรับฐานอีกระยะหนึ่ง จนกว่า P/E จะปรับลดลงมาที่ประมาณ 16 เท่า ซึ่งหากเทียบจากดัชนีปัจจุบันที่บริเวณ 1,585 จุด จะได้ค่าของดัชนีที่บริเวณ 1,500 จุด ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถเข้าไปทยอยซื้อหุ้นได้ และต่างชาติน่าจะเริ่มกลับมาซื้อรอบใหม่
            
"ตอนนี้เล่นกันอยู่ที่ P/E ประมาณ 17 เท่า ซึ่งถ้า P/E ลงมาที่ 16 เท่า จังหวะนี้เป็นจุดที่ควรกลับเข้าไปซื้อ และช่วงนี้ที่ตลาดหุ้นปรับลดลงก็สามารถที่จะทยอยเข้าไปเก็บหุ้นได้ ส่วนแนวต้านเรามองว่าถ้าดัชนีสิ้นปีนี้มีค่า P/E ที่ 16 เท่า ดัชนีน่าจะอยู่ที่ 1,675 จุด เพราะบริษัทจดทะเบียนมีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งเรามองว่า EPS ของบริษัทจดทะเบียนน่าจะมีการเติบโต 23%" นายเทิดศักดิ์ กล่าว
นายเทิดศักดิ์ กล่าวต่อว่า การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นในช่วงนี้เกิดจากแรงขายของต่างชาติ เนื่องจากใน 5 ปีที่ผ่านมาต่างชาติมีการซื้อสะสมเข้ามาค่อนข้างมาก ดังนั้นเมื่อดูตัวเลขซื้อขายของต่างชาติตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่าต่างชาติขายสุทธิ 17,000 ล้านบาท อาจจะเป็นตัวเลขการขายที่ค่อนข้างมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.เป็นรอบของการขายของต่างชาติ
            
อย่างไรก็ตาม หากดูยอดการซื้อหุ้นของต่างชาติสะสมมาตั้งแต่ปี 2009 ถึงปัจจุบัน พบว่าอยู่ที่ 180,000 ล้านบาท ดังนั้นการขายออกมาเพียง 2.1 หมื่นล้านบาท จึงถือว่าไม่มากคือประมาณ 10% ของยอดที่ซื้อสะสมมา แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจากนี้ไปต่างชาติจะต้องขายออกมาเพียงอย่างเดียว
            
"จากสถิติย้อนหลังหลายปีที่ผ่านมา พบว่ารอบของการขายของต่างชาติจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. เขาจะขายมากกว่าซื้อ แต่ก็ไม่มีตัวเลขว่ารอบของการขายเป็นจำนวนเท่าใด นอกจากนี้อีกเหตุผลหนึ่งที่ต่างชาติขาย คือ P/E ของตลาดหุ้นไทยแพงแล้ว" นายเทิดศักดิ์ กล่าว
*** ฟันธง! ต่างชาติยังไม่ขนเงินหนีหุ้นไทย 
            
นางสาวจิตรา อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า การขายสุทธิของต่างชาติจากต้นปีถึงปัจจุบันที่ 2.1 หมื่นล้านบาท ยังไม่ได้สะท้อนว่า ต่างชาติจะขายหุ้นอย่างจริงจังเพื่อนำเงินกลับประเทศ เนื่องจากในระยะจากนี้ไป มองว่า ตลาดหุ้นเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินโดฯ ฟิลิปปินส์ และไทยยังมีความน่าสนใจสำหรับต่างชาติ หลังเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น มีปัญหา ต่างชาติจึงมองหาแหล่งที่จะขนเงินมาลงทุนเพื่อหาผลตอบแทน
            
ดังนั้น การขายของต่างชาติในช่วงนี้ หรือต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน น่าจะเป็นเพียงการขายทำกำไรเท่านั้น หลังต่างชาติได้เข้าเก็บหุ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมามากพอสมควร ทั้งที่ในช่วงปลายปีจะเป็นช่วงที่ต่างชาติขายหุ้น
            
นอกจากนี้ การประเมินรอบของการซื้อ หรือขายขายของต่างชาติมีมูลค่าเท่าใดนั้น ก็ไม่สามารถระบุตัวเลขที่ชัดเจนได้ เพราะการซื้อหรือขายแต่ละครั้งจะมีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างที่ใช้ในการตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา พบว่า รอบของการขายจะมีมากที่สุดช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคมของทุกปี เพราะเป็นช่วงของเทศกาลปีใหม่ ต่างชาติจะเตรียมเงินสดเพื่อการใช้จ่าย แต่รอบของการขายในแต่ละปีก็ไม่เท่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น
            
ส่วนสาเหตุที่ตลาดหุ้นปรับลดลงในช่วงนี้ เกิดจากปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศเป็นหลัก จากความกังวลมาตรการ QE3 ของสหรัฐว่าจะชอลอการซื้อพันธบัตรในช่วงใด ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานในประเทศทุกอย่างมีความชัดเจน ทั้งดอกเบี้ยที่ปรับลดลง 0.25% การทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในระดับที่ดี จีดีพียังเติบโต ทั้งนี้ ประเมินแนวรับที่ 1,580-1,550 จุด แนวต้าน 1,600 จุด
*** ทรีนีตี้ เชื่อแรงซื้อจะกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง 
            
นายภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัททรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ TNITY เปิดเผยว่า จากตัวเลขตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ที่ต่างชาติขายสุทธิกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท มองว่าเป็นวงจรการซื้อขายปกติของต่างชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้มีแรงซื้อค่อนข้างสูง ทำให้ในตอนนี้มีแรงเทขายออกมาบางส่วน ยังคงไม่มีนัยสำคัญที่บ่งชี้ว่าเป็นการไหลออกของเงิน โดยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะกลับมามีแรงซื้อเหมือนเดิมอีกครั้ง
            
ทั้งนี้ ประเมินว่า แรงขายจากต่างชาติจะไม่ส่งผลต่อภาพรวมตลาดหุ้นไทย เนื่องจากนักลงทุนในประเทศมีกำลังซื้อที่สูงขึ้น สามารถรองรับแรงขายจากต่างชาติได้
            
นายภควัต กล่าวต่อถึง กรณีที่เกิดรายการซื้อขายบิ๊กล็อตค่อนข้างมากของบริษัทจดทะเบียนในช่วงนี้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มสภาพคล่องของจำนวนหุ้นของ บจ.ต่างๆ เพื่อหวังผลทางด้านราคาให้ปรับเพิ่มขึ้น และที่สำคัญนักลงทุนรายใหญ่ต้องการซื้อหุ้นในปริมาณมาก ไม่สามารถซื้อในกระดานหุ้นได้ จึงมีการซื้อขายเป็นล็อตใหญ่
            
ทั้งนี้ ยังเปิดเผยถึงแนวความคิดที่จะให้บริษัทจดทะเบียนส่งงบการเงิน และคำนวณค่า P/E ส่งตลท. พร้อมกันได้เลย เพื่อความรวดเร็วในการปรับปรุงข้อมูลให้กับนักลงทุนได้ทันสถานการณ์ เพื่อการตัดสินใจในการลงทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการหารือร่วมกัน
*** บลจ.ธนชาต มองหุ้นไทยยังดี คาดปี 57 ดัชนีฯ แตะ 1,740 จุด 
            
นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด เปิดเผยว่า ยังมีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทย คาดตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีความผันผวนอยู่บ้างจากการชะลอตัวการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจนของ มาตรการควบคุมการแข็งค่าเงินบาท แต่ตลาดจะได้รับผลบวกจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะเติบโต 17% ในปี 2556 และเติบโต 11% ในปี 2557 คาดการณ์เป้าหมายดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปี 2557 อยู่ที่ 1,740 จุด ณ ระดับ P/E 14 เท่า อีกทั้งพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศที่ยังมีการเติบโตจากการบริโภค และการลงทุนจากการส่งเสริมของภาครัฐเป็นตัวสนับสนุนโดยผ่านโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น