จับชีพจร "ทุนปลาดิบ" บาทแข็ง เยนอ่อน ยังตะลุยบุกไทย 4 เดือน ขอลงทุนไทยแล้ว กว่าแสนล้านบาท หนีฐานผลิตในจีน สานกลยุทธ์ China Plus One
ชื่อ:  news_img_506267_1.jpg
ครั้ง: 719
ขนาด:  27.6 กิโลไบต์

หลังการนั่งแท่นผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นของ "นายชินโซ อาเบะ" นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสมัยที่ 2 รับตำแหน่งเมื่อ 26 ธ.ค.2555 (สมัยแรกนั่งเก้าอี้เมื่อปี 2549) เป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์และกูรูการเงินทั่วโลกคาด สิ่งที่ "อาเบะ" เลือกที่จะทำเป็นสิ่งแรกๆ นั่นคือการ"ทิ้งไพ่"ผ่อนคลายนโยบายการเงิน Quantitative Easing (QE) ในหลายมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ "อาเบะโนมิกส์" โดยประสานมือกับ "นายฮารุฮิ โกะ คุโรดะ" ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan-BOJ) (รับตำแหน่งเมื่อมี.ค.2556) อัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบ การจากออกมาตรการ เมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เป็นไปเพื่อหวังแก้ปัญหา "เงินฝืด" ที่บั่นทอนเศรษฐกิจแดนปลาดิบมานานเกือบ 2 ทศวรรษ

เป้าหมายของ อาบะ คือการทำให้ค่าเงินเยน "อ่อนค่าลง" ดัน"อัตราเงินเฟ้อ" ให้ทะยานแตะระดับ 2% ภายในระยะเวลา 2 ปีจากนี้ ให้ได้ !!

สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป แน่นอนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะภาคการส่งออก นำพาญี่ปุ่น "ผงาด" ในเวทีการค้าอีกครั้ง หลังญี่ปุ่นเผชิญกับขาดดุลการค้าต่อเนื่อง จากการแข็งค่าของเงินเยน

สำทับด้วยข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ที่ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2555 ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 87,111 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่ขาดดุลการค้า 32,276.6 ล้านดอลลาร์ ถึง 54,834.4 ล้านดอลลาร์ (1.64 ล้านล้านบาท ที่อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อดอลลาร์) มูลค่าการส่งออกลดลง 2.4% "สวนทาง" กับสัดส่วนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น 4.1%

จากการดำเนินมาตรการช็อกโลกตูมแรก และตูมใหญ่ ! ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนทะลุ 100 เยนต่อดอลลาร์ จนถึงระดับ 102 เยน (13 พ.ค.56) นับเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ "4 ปีครึ่ง" ดัชนีนิเคอิ ทยานเหนือระดับ 15,000 จุด เป็นครั้งแรกนับจากวิกฤติซัพไพร์ม (ปี 2550-2551) ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของญี่ปุ่น ในไตรมาสแรก โต 0.9 % สะท้อนถึงความมั่นอกมั่นใจของนักลงทุนญี่ปุ่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ผ่านตลาดหุ้น

สมใจ อาเบะ !!

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว...


ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ยังทำให้ทั่วโลกหวาดวิตกต่อการเกิด "สงครามค่าเงิน" (Currency War) จากความ"ปั่นป่วน"ของอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างๆเป็นไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น สวนทางค่าเงินเยนที่อ่อนตัว ขณะที่มีความพยายามเช่นกันของหลายประเทศที่จะใช้นโยบายแทรกแซงให้ค่าเงินของตนเองให้อ่อนลง เพื่อไม่ต้องการสูญเสียความสามารถในการส่งออก ให้กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกอย่างญี่ปุ่น (ขนาดเศรษฐกิจญี่ปุ่น เป็นรองสหรัฐ และถูกจีนแซงหน้าได้ไปเมื่อปี 2553)

แม้แต่ในไทย หลายเดือนที่ผ่านมาต้องเผชิญกับภาวะ"บาทแข็งค่า" จากเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะการไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ ทุนจากแดนอาทิตย์อุทัย เป็นหนึ่งในทุนหลักที่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ไทย เพราะต้องการหาแหล่งพักเงิน ที่ให้ผลตอบแทนที่ "ดีกว่า" การลงทุนในญี่ปุ่นในภาวะเช่นนี้

กลายเป็นแรงกดดันหลักๆ จากฟากการเมือง และผู้ส่งออก ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินนโยบาย "ลดอัตราดอกเบี้ย" ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงให้ได้ !

โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) ในวันที่ 29 พ.ค. น่าจะได้รู้กัน ว่ามติจะออกมา ลด หรือ ไม่ลด และถ้าลด จะลดเท่าไหร่ ?! ส่วนจะมีใครต้องสังเวยบาทแข็งหรือไม่นั้น ยังต้องลุ้น

ทว่า ในมุมของ"การลงทุน" ค่าเงินเยนที่อ่อนค่า มีความเห็นจาก นักยุทธศาสตร์แห่งบริษัทโนมูระซีเคียวริตีส์ "นายฮิซาโอะ มัตสุอุระ" ระบุว่า เยนที่อ่อนค่าไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัว แต่จะทำให้บริษัทญี่ปุ่นมีต้นทุนที่สูงขึ้นในการจัดซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมถึงต้นทุนพลังงานจะสูงขึ้น

ภาวะดังกล่าว อาจกลายเป็น "ตัวเร่ง" ให้ทัพนักลงทุนญี่ปุ่น ออกมาลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่า โดยญี่ปุ่นถูกระบุว่าเป็นประเทศที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) อันดับ1 ของโลก แม้ว่า ภาระทางการเงินจากการกู้เงินสกุลเยน จะทำให้ตัวเลขหนี้เพิ่มสูงขึ้น ก็ตาม

โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า "ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตของญี่ปุ่นอันดับสองรองจากจีน" ตามกลยุทธ์ China Plus One (จีนบวกหนึ่ง) เพื่อลดการพึ่งพาการลงทุนในจีน จากปัญหาข้อพิพาทการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเตียวหยู

ทำให้คนจีนบางส่วน"บอยคอต"สินค้าจากญี่ปุ่น

"แรกสุด" คือการเข้ามาของทัพเอสเอ็มอีของญี่ปุ่น เพื่อขอจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าและข้อมูล SME-OTOP เป็น "สาขาแรก" ในต่างประเทศ โดยจะตั้งที่กรุงเทพฯ จากภาวะเยนอ่อน บาทแข็ง ทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีราคาถูกลงกว่า 20%
ข้อมูลจากกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ระบุว่า ในเอเชีย จีนยังคงเป็นแหล่งรองรับจากลงทุนจากญี่ปุ่นเป็น "อันดับ 1" โดยมีมูลค่าเงินลงทุน 1.1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 428,814.1 ล้านบาท ในปี 2555 ตามมาด้วยเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 10

ขณะที่ในมุมการค้า เจโทร ระบุว่า ในปี 2555 ญี่ปุ่นส่งออกสินค้าไปยัง"จีน"มากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 144,709.4 ล้านดอลลาร์ ลดลง 10.4% เมื่อเทียบกับปี 2554 รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศอาเซียน
สะท้อนให้เห็นว่า "ข้อพิพาทเริ่มส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าญี่ปุ่นในจีน"

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังถือเป็นนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนในไทย ผ่านการส่งเสริมการลงทุน เป็น "อันดับ 1" หลายทศวรรษ ข้อมูลจากบีโอไอ ยังระบุว่า ในปี 2555 โครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนของทุนญี่ปุ่นในไทย มีจำนวน 872 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 373,985 ล้านบาท
ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.เม.ย.) ของปีนี้ ในห้วงที่ไทยเผชิญภาวะค่าเงินบาทแข็งค่า และเยนอ่อน กลับพบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังเป็นดาหน้าลงทุนไทย เป็นอันดับ 1 โดยยื่นขอส่งเสริมการลงทุน จำนวน 215 โครงการ มูลค่าโครงการ 149,700 ล้านบาท (คิดเป็น 52% ของเม็ดเงินลงทุนตรงของนักลงทุนต่างชาติ) มูลค่าการลงทุนมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 228 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 93,068 ล้านบาท

การเดินทางมาเยือนไทยของ อาเบะ และคณะ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (17-18 ม.ค.2556) หลังการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการมาเยือนไทยของผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นในรอบทศวรรษ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามแสวงหาพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน นอกจากไทยแล้ว อาเบะ ยังไปเยือนเวียดนามและอินโดนีเซีย ขณะก่อนที่หน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นได้ไปเยือนฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เพื่อสร้างสัมพันธ์ ส่วนรองนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ไปเยือนพม่า
สิ่งที่เกิดขึ้น ส่อชัดว่าญี่ปุ่นให้ความสนใจจะเข้าร่วมทุนในอาเซียนมากขึ้น "ดักโอกาส" กับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 อาทิ ความต้องการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาทในไทย โฟกัสไปที่งาน "ระบบราง" และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอภิมหาโปรเจคท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ในพม่า ซึ่งมีไทยเป็นโต้โผสำคัญ เป็นต้น

ขณะที่การลงทุนของญี่ปุ่นในเอเชีย ในปี 2555 พบว่า ญี่ปุ่นลงทุนในเอเชียเป็น "อันดับ 2" รองจากทวีปอเมริกาเหนือที่มีการลงทุนหลักอยู่ในสหรัฐ
"โนบูยูกิ อิชิอิ" เลขาธิการหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ แสดงความเห็นถึงการเคลื่อนทัพของทุกแดนซามูไรมาในไทยว่า รอบนี้จะเป็นการย้ายฐานการลงทุนของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กๆ ไม่ใช่รายใหญ่มากๆ เหมือนในอดีต ทันทีที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเดินหน้าใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) นักลงทุนบางส่วนที่เห็นช่องทางการขยับขยายการลงทุน รอเพียงจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะ "ตีปีก" จากเกาะญี่ปุ่น

โดยอิชิอิ เรียกการย้ายทุนรอบนี้ว่าเป็น New Wave (ระลอกคลื่นการลงทุนใหม่)

“นี่เป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนระลอกใหม่ของเงินทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะนักลงทุนกลุ่มเดิมที่อยู่ในญี่ปุ่น ที่ต้อง Move หนีค่าเงินเยนอ่อน ไม่ใช่แค่ Move ธรรมดา แต่มันคือ Big Move”

อิชิอิ เขายังบอกด้วยว่า แน่นอน นักลงทุนญี่ปุ่นที่ยังอยู่ในประเทศย่อมได้รับผลกระทบจากเยนอ่อน คนที่ถือเงินเยนไว้ก็ไม่อยากจะถือไว้นาน เพราะไม่รู้ว่าค่าเงินเยนจะอ่อนค่าลงไปถึงระดับไหน ท้ายที่สุดเขาก็ต้องหาทางออกมายังนอกประเทศ เพราะเป็นทางเดียวที่จะทำให้เงินเยนแข็งมีค่าขึ้นมาได้บ้าง

เมื่อสอบถามถึงจำนวนบริษัทญี่ปุ่นรายใหม่ที่จะเข้ามายังประเทศไทย อิชิอิ บอกว่า สมาคมหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ก็ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด อาจจะมีอยู่ "ไม่เกินหลักร้อยบริษัท"ก่อนในช่วงต้นๆ สำหรับคนที่พร้อมย้ายฐานมาจริงๆ

“กลุ่มทุนญี่ปุ่นที่ย้ายฐานออกมาระลอกใหม่ คาดว่าคงยังไม่มาก และเป็นบริษัทที่มีขนาดเล็กๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะย้ายฐานออกมาจากญี่ปุ่นเลยในทันที เพราะการลงทุนแต่ละที่จะต้องศึกษาข้อมูล และมีตลาดรองรับซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก บริษัทที่ออกมารอบใหม่นี้ยังไม่ได้เข้าเป็น สมาชิกของทางสมาคมหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ที่ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 1,371 บริษัท เราจึงยังไม่มีข้อมูลใดๆ ที่ชัดเจน”

สอดคล้องกับข้อมูลของบีโอไอ ที่ระบุว่า โครงการลงทุนจากญี่ปุ่นที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในปี 2555 "ส่วนมาก"เป็นโครงการลงทุนขนาดกลาง (มูลค่าระหว่าง 100-499 ล้านบาท) มีจำนวนทั้งสิ้น 322 โครงการ คิดเป็น 36.9% ของโครงการที่ยืนขอรับการส่งเสริมการลงทุน รองลงมาเป็นโครงการขนาดเล็ก (มูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท) จำนวน 292 โครงการ และโครงการลงทุน 50-99 ล้านบาท จำนวน 118 โครงการ ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ (มูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป) มีนักลงทุนญี่ปุ่น ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 67 โครงการ
สอดคล้องกับ โครงการในขั้นอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในปี 2555 ที่พบว่า โครงการขนาดกลางที่มีมูลค่า 100-499 ล้านบาท เป็นขนาดโครงการได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน "มากที่สุด" จำนวน 264 โครงการ คิดเป็น 34.7 % ของโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน มากกว่าโครงการขนาดเล็ก (มูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท) ซึ่งมีจำนวน 263 โครงการ ตามมาด้วยโครงการขนาด 50-99 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 96 โครงการ

อย่างไรก็ตาม ภาวะ “เงินเยนอ่อน เงินบาทแข็ง“ มีเสียงบ่นดังๆจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตอยู่ในไทยว่าได้รับผลกระทบจากการให้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออก (รายได้จากการส่งออกลดลงเมื่อแปลงเป็นเงินบาท) ขอให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะบิ๊กคอร์ปอเรท อย่างอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันค่อนข้างมาก

โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสินค้าส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของไทย ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหลายปี ไทยยังถูกระบุว่าเป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ในปี 2554 ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ชี้ให้เห็นว่า การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2555 มีมูลค่า 32,180 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.8 % เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีมูลค่าการส่งออก 15,498 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากในปี 2554 ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ทำให้มีฐานการส่งออกค่อนข้างต่ำ โดยในปี 2555 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ และมีบริษัทบางรายปิดกิจการ หรือย้ายกิจการไปอยู่ที่อื่นแทน ทำให้มูลค่าการส่งออกไม่สูงมากนัก

"มินิแบ" (Minebea) ผู้นำในการผลิตตลับลูกปืนขนาดเล็ก และผลิตชิ้นส่วนที่มีความเที่ยงตรงสูงรายใหญ่ของโลกที่มีฐานผลิตในไทย เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง จนผู้บริหารต้องเข้าพบนายกรัฐมนตรีไทย เพื่อเรียกร้องให้ดูแลเรื่องค่าเงินบาท
ทว่า อิชิอิ พยายามชี้ให้เห็นการแข็งค่าของค่าเงินบาทในครั้งนี้ ไม่ได้มาจากการไหลเข้ามาของเงินเยนเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่นๆ สนับสนุนด้วย เช่น ภาวะเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก หรือภาวะการส่งออกไทยที่อยู่ในช่วงชะลอตัว เป็นต้น หลอมรวมให้ค่าเงินบาทไทยแข็งโป๊ก

การไหลเข้าของเงินเยนในไทยในครั้งนี้ อิชิอิ ให้ความเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเด็นแรก เป็นเรื่องของเศรษฐกิจไทยที่มีความแข็งแกร่ง นักลงทุนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในไทย ประเด็นต่อมาในปีปลายปี 2558 ภูมิภาคนี้จะมีการรวมตัวกันเป็นตลาดเดียวภายใต้ข้อตกลงเออีซี ไทยจะกลายเป็น "ศูนย์กลาง" ของภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน และจากตลาดที่เดิมเป็นตลาดใครตลาดมัน ก็จะเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้นจากจำนวนประชาชนที่มากถึง 600 ล้านคน

สำหรับมุมมองของ "โชคดี แก้วแสง" รองเลขาธิการ บีโอไอ กลับมองว่า การเคลื่อนย้ายทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในครั้งนี้ไม่ใช่ New Wave โดยให้เหตุผลว่า ปกติบีโอไอจะยึดเอาโครงการใหม่ที่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงเป็นข้อมูลที่จะชี้ชัดว่า จริงๆแล้วการใช้มาตรการ QE เป็นแรงผลักดันให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนจริงหรือไม่

“ผมไม่ได้มองว่ามันเป็น New Wave ของนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นๆ เพราะกรณีนี้เงินเยนไหลเข้ามาลงทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มากกว่าการลงทุนที่เป็นขั้นพื้นฐาน มันยังไม่ชัดเจนว่าจริงแล้วมาตรการนี้มีผลเช่นนั้นจริงหรือไม่"
เขาให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นว่า มีแนวโน้มเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีอยู่แล้วโดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ถือเป็นกลุ่มที่นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ กลุ่มเครื่องจักรกล ตามมาด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนกลุ่มที่กำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือกลุ่มอุตสาหกรรมการให้บริการ เช่น Trading กิจการศูนย์จัดหาจัดซื้อชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ (International Procurement Office:IPO) กลุ่มอาหาร เป็นต้น

“พวกกลุ่มหลังนี่มีเยอะมากนะ แต่มูลค่ามันน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มต้นๆ ที่บอก” ก่อนที่จะวกกลับมาต่อเรื่องค่าเงินเยนญี่ปุ่นว่า..
อย่างเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ก็ไม่ใช่ว่าเพิ่งเคยเกิดขึ้น เพราะในอดีตช่วงปี 2513-2523 เงินเยนเคยอ่อนถึงระดับ 200 เยนต่อดอลลาร์มาแล้ว

ขณะที่การย้ายฐานการลงทุนเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องมองในระยะยาว การดาหน้าเข้ามาของทุนญี่ปุ่น จึงไม่ได้มองเรื่องโอกาสหรือความเสี่ยง จากตัวแปรเรื่องค่าเงิน เท่านั้น


โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์