ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดจีดีพีไตรมาส 2/56 โต 4.3% ชะลอต่อเนื่อง หลังสัญญาณฟื้นตัวของศก.แผ่ว



  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/56 อาจชะลอตัวต่อเนื่องมาที่ 4.3% ท่ามกลางความเปราะบางของทิศทางเศรษฐกิจที่เป็นแกนหลักของโลก และสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงต้นปี 56 ที่อาจทำให้สัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยยังคงประกอบภาพได้ไม่สมบูรณ์มากนัก แม้ว่าเงินบาทจะกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่ากว่า 29 บาท/ดอลลาร์ในช่วงต่อมา ภายหลังจากที่ได้ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 16 ปีที่ 28.55 บาท/ดอลลาร์ในช่วงเดือนเม.ย.56 ก็ตาม
  • สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรก ปี 56 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประกาศล่าสุดอยู่ที่ 5.3% นั้น ทำให้มองว่ากรอบประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 56 ที่ 4.3-5.3% (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ 4.8%) ยังคงสมเหตุสมผล ภายใต้สมมติฐานในกรณีพื้นฐานที่ราคาน้ำมันดิบดูไบอาจเฉลี่ยประมาณ 106 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่เศรษฐกิจแกนหลักของโลก(ยกเว้น ยูโรโซน) น่าจะสามารถประคองทิศทางการขยายตัวไว้ได้ แม้ว่าข้อจำกัดทางด้านการคลังอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 2.0% ก็ตาม
  • อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากระดับค่าครองชีพที่ยังไม่เร่งตัวขึ้นมากตามที่ประเมินไว้ในช่วงก่อนหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเพิ่มกรอบคาดการณ์อัตราการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนมาที่ 3.1-3.8% จากกรอบประมาณการเดิมที่ 2.8-3.6%
  • ทั้งนี้ หากสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจในต่างประเทศทยอยมีสัญญาณดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2556 ขณะที่เงินบาทและอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวในกรอบที่มีเสถียรภาพ และการเบิกจ่ายงบประมาณมีความคืบหน้าตามเป้าหมายของรัฐบาลแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่โมเมนตัมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาสข้างหน้า หลังจากที่หดตัวลงไปแล้วในช่วงไตรมาสแรกของปี
  • ส่วนประเด็นด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น โมเมนตัมที่แผ่วตัวลงของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 1/56 และอาจต่อเนื่องมาในช่วงต้นไตรมาส 2/56 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2556 อาจขยายตัวต่ำกว่าระดับ 5.0% ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผ่อนคลายของเงินเฟ้อ อาจกลายเป็นตัวแปรที่มีน้ำหนักมากขึ้นต่อการพิจารณาจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในการประชุมรอบปกติในวันที่ 29 พ.ค.56


ที่มา: BangkokBizNew