วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ก.ล.ต.ตรวจโบรกฯเข้มจัด

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 6 คน 

ก.ล.ต.เดินสายตรวจเข้มโบรกฯ ล่าสุดลุย “โกลเบล็ก” ห้ามเปิดบัญชีใหม่-เพิ่มวงเงินลูกค้า บังคับทำ KYC อย่างละเอียด พร้อมให้แสดงที่มารายได้ลูกค้า หากไม่มี ให้ถ่ายรูปบ้าน ที่ดิน และรถยนต์แทน “คันทรี่ กรุ๊ป- ฟินันเซีย ไซรัส” โดนก่อนเพื่อน ส่วน “ยูโอบี เคย์เฮียน” เตรียมโดนจัดเต็ม คิวต่อไป 

แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด โดยสั่งห้ามเปิดบัญชีใหม่ ห้ามเพิ่มวงเงิน และบังคับให้เจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) ต้องทำความรู้จักกับลูกค้า (Know your Client – KYC) และการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Client Due Diligence –CDD) แบบเข้มข้น โดยให้เวลาทำให้เสร็จภายใน 2 เดือน
“ก.ล.ต.สั่งให้มาร์เก็ตติ้งทำประวัติลูกค้าที่เปิดบัญชีอยู่แล้ว ขึ้นมาใหม่ และลูกค้าที่ขอเพิ่มวงเงินมาร์จิ้น และบัญชีเงินสด โดยจะขอเอกสารทางการเงิน ที่ต้องแสดงแหล่งที่มาของการเงิน และรายได้อย่างละเอียด ในกรณีที่ลูกค้าไม่สามารถแสดงแหล่งที่มาของรายได้ ก็สามารถนำทรัพย์สินที่เป็นที่อยู่อาศัย ที่ดินเปล่า หรือรถยนต์ มาแสดงเป็นสินทรัพย์ได้” แหล่งข่าว กล่าว
ขณะที่ลูกค้าปัจจุบันที่ไม่สามารถแสดงแหล่งที่มาของรายได้ ก็จะถูกลดวงเงินในการซื้อขายหุ้นลง รวมถึงการลงรายละเอียดที่แจ้งสถานะอาชีพของลูกค้า หากระบุว่าเป็นเพียงแค่ “นักลงทุน” ก.ล.ต.จะให้มาร์เก็ตติ้งกลับไปถามหาอาชีพที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ลูกค้า และจะไม่สามารถลงว่ามีอาชีพนักลงทุนได้
นอกจากนี้ ยังห้ามเปิดบัญชีกับลูกค้ารายใหม่ นานถึง 6 เดือน เนื่องจากก.ล.ต.ต้องเคลียร์บัญชีลูกค้าปัจจุบันให้หมดก่อน ในระหว่างนั้น จะไม่อนุญาตให้เปิดบัญชีใหม่เลย ซึ่งประเด็นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อโบรกเกอร์ และนักลงทุนรายใหม่ที่ไม่สามารถเปิดบัญชีได้
ก่อนหน้านี้ บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถูกก.ล.ต.เข้าตรวจไม่นาน โดยมีลักษณะเหมือนกับที่ดำเนินการกับบล.โกลเบล็กอยู่ในขณะนี้ โดยช่วงเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา ก.ล.ต.เข้าไปตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) และเพิ่งจะทำการเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา โดยเพิ่งจะปล่อยให้สามารถทำธุรกรรมได้ตามปกติ ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ก.ล.ต.ตรวจสอบบล.โกลเบล็ก เสร็จแล้ว ก.ล.ต.จะเดินทางไปตรวจบริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นสถานที่ต่อไป
สำหรับเหตุผลที่ก.ล.ต.ต้องส่งคนเข้าไปตรวจสอบโบรกเกอร์ต่างๆ เนื่องจากมีความกังวลว่าจะมีการปั่นหุ้นเกิดขึ้น จึงต้องเข้าไปตรวจ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถตรวจจับได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ทำให้ต้องมีการเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่การตลาด และเจ้าของโบรกเกอร์ โดยสั่งให้โบรกเกอร์ที่ก.ล.ต.เข้าไปตรวจสอบ ต้องทำบทวิเคราะห์หุ้นรายตัวที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 4 อันดับที่ซื้อขายผ่านโบรกเกอร์นั้นๆ
“ก.ล.ต.สั่งให้โบรกเกอร์ทำบทวิเคราะห์หุ้นรายตัว ที่มีวอลุ่มการซื้อขาย 4 อันดับแรกของโบรกเกอร์ แบบสรุปสั้นๆ  เพื่อส่งให้กับนักลงทุนหรือลูกค้าได้อ่าน และหากหุ้นตัวนั้น มีการเก็งกำไรกันมาก และค่าพีอีเกินเกณฑ์ที่กำหนด โบรกเกอร์นั้นต้องแนะนำขายหุ้นนั้นลงไปในบทวิเคราะห์ด้วย  เบื้องต้นในแต่ละสัปดาห์ นักวิเคราะห์ต้องทำบทวิเคราะห์หุ้น 4 ตัวใน 1 สัปดาห์ และถ้าหากหุ้นตัวนั้น เกิดมีวอลุ่มซื้อขายหนาแน่นเกิน 4 สัปดาห์ติดต่อกัน นักวิเคราะห์ต้องทำบทวิเคราะห์ฉบับเต็มออกมา” แหล่งข่าว กล่าว
ทั้งนี้ เชื่อว่าการกระทำของก.ล.ต.เป็นการปฏิบัติที่มีมาตรฐาน เนื่องจากจะปฏิบัติเหมือนกันทุกโบรกเกอร์ที่เข้าไปตรวจสอบ  ส่วนจะดีหรือไม่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับมุมมอง หากมองในแง่ของทางการก็จะต้องมีการตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น แต่หากมองในมุมของผู้ที่ประกอบการธุรกิจค้าหลักทรัพย์อย่างโบรกเกอร์ ก็อาจจะสร้างปัญหาในการเปิดบัญชีลูกค้าใหม่ รวมถึงสิ่งที่จะปฏิบัติกับลูกค้าปัจจุบันด้วย ตรงจุดนี้คงต้องบาลานซ์ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งผู้ตรวจสอบ และผู้ถูกตรวจสอบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น