วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จับตาหุ้นมีเฮเก็งลดดอกเบี้ย KK-SPALI-TUF-DELTA-SIRI-PS

 

     
 
   
 

 จับตาหุ้นมีเฮเก็งลดดอกเบี้ย
KK-SPALI-TUF-DELTA-SIRI-PS 


              นับถอยหลัง "อสังหาฯ-เช่าซื้อ-ส่งออก" เตรียมเฮ!!! วงการประเมินประชุมกนง. 29 พ.ค. จ่อลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.50% กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ หลังตัวเลขจีดีพีออกมาต่ำเกินคาด ส่งออกแย่ 'กิตติรัตน์' เตรียมส่งรายงานสภาพัฒน์ให้"ประสาร"เอาไว้ใช้ประกอบการพิจารณาแก้ปัญหาบาท ทว่าแบงก์ชาติขอตรวจสอบตัวเลขก่อนตัดสินใจ ยอมรับถ้าแย่จริงพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงิน ฟากผู้ประกอบการชี้ดอกเบี้ยลงส่งผลบวกด้านจิตวิทยาต่อผู้ซื้อบ้านกู้เงินระยะสั้นดอกเบี้ยถูกลง ด้านการลงทุนหุ้น KK-SPALI- TUF- DELTA - SIRI - PS เด็ดโดนใจโบรกเกอร์
                 หลังจากวานนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2556 จะขยายตัว 4.2-5.2% โดยลดลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5-5.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดการณ์และมีสัญญาณของการชะลอตัว ทำให้หลายฝ่ายที่กำลังลุ้นศึกแห่งศักดิ์ศรีกรณีความเห็นต่างระหว่างเจ้ากระทรวงการคลังกับผู้ว่าการแบงก์ชาติในหัวข้อ "ควรหรือไม่ควรปรับลดดอกเบี้ยนโยบายค่าบาทแข็ง" เริ่มเห็นเค้าลางสิ่งที่จะเกิดขึ้นปลายทางได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะทั้งสองฝ่ายได้เคยลั่นวาจาต่อหน้ามหาชนจะเอาตัวเลขเศรษฐกิจนี้เป็นเกณฑ์สำคัญในการตัดสินใจ แแม้เรื่องราวยังไม่ถึงที่สุด ทว่าเมื่อตัวเลขออกมาไม่ดีเช่นที่ปรากฏเบื้องต้นอาจสรุปได้ว่าจังหวะเข้าทางฝ่ายคลัง ซึ่งปลายเดือนนี้น่าจะรู้ผลชัดเจน และธุรกิจที่มีส่วนได้ประโยชน์หากมีการลดดอกเบี้ยก็กำลังลุ้นดีใจตัวโก่งอยู่ซึ่งรวมถึงบรรดานักลงทุนที่เข้าไปดักทางซื้อหุ้นกิจการเหล่านั้นด้วย


****สภาพัฒน์แนะลดดอกเบี้ยช่วยศก.ได้ 
          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า แม้ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะยังคงเป็นบวก แต่ต้องยอมรับว่ามาจากเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศยังคงมีความผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งภาคการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 70% เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ต้องมีการพิจารณาในหลายประเด็นเพื่อดูแลนโยบายการเงินให้มีความเหมาะสม และควรนำข้อมูลการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจเข้าไปร่วมประกอบการพิจารณาด้วย           ทั้งนี้หากจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยควรให้มีผลตอบรับ แต่การพิจารณาต้องขึ้นอยู่กับกนง. ว่าจะพิจารณาอย่างไร แต่ในปัจจุบันภาวะการไหลเข้าของเงินทุนยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นส่วนช่วยในภาวะเศรษฐกิจที่มีสัญญาณการชะลอตัว           อย่างไรก็ตามแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 2/2556 คาดว่าน่าจะมีสัญญาณของการชะลอตัวต่อเนื่อง แต่ต้องติดตามภาคการส่งออกเป็นหลักว่าจะมีการฟื้นตัวดีขึ้นหรือไม่ในสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ดังนั้นจึงควรต้องมาเน้นการค้าในภูมิภาคเป็นหลัก           อย่างไรก็ดี ในเรื่องของนโยบายการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุน มองว่านโยบายการเงินและนโยบายการคลังควรต้องสอดคล้องกัน แต่ในปัจจุบันการไหลเข้าของเงินทุนของต่างชาติมีความรวดเร็วมาก ดังนั้นนโยบายการเงินจึงสามารถปฏิบัติได้รวดเร็วกว่านโยบายการคลังที่มีแต่มาตรการภาษีเพียงด้านเดียว และจะต้องใช้ระยะเวลานานในการบังคับใช้ ขณะที่นโยบายการเงินมีความยืดหยุ่นมากกว่า ซึ่งหากการไหลเข้าของเงินทุนชะลอนโบายการเงินก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ดีกว่านโยบายการคลัง           ทั้งนี้ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนกำลังซื้อชะลอตัว การพิจารณานโยบายควรจะต้องพิจารณาให้มีความเหมาะสม และสามารถแข่งขันได้กับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง โดยเฉพาะในเรื่องของราคาสินค้าที่กำลังมีอุปสรรคจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า           'นโยบายดอกเบี้ยเปรียบเสมือนวาล์วปิดเปิดท่อน้ำไหลเข้าออก ซึ่งปัจจุบันเงินทุนจากต่างชาติมีแนวโน้มไหลเข้ามาแรงควรจะต้องพิจารณาว่าจะต้องปิดเปิดอย่างไร และในการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 1 ก็มีสัญญาณของการชะลอ เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน ดังนั้นการไหลเข้าของเงินทุนจากนโยบาย QE ของสหรัฐฯและญี่ปุ่นที่ยังคงมีมาก หากประเทศไทยยังไม่แสดงความชะล่าใจเกี่ยวกับความกังวลของเศรษฐกิจแล้วก็จะเป็นช่องโหว่ให้เงินทุนไหลเข้ามามากขึ้นได้' นายอาคม กล่าว 

****'กิตติรัตน์' เตรียมส่งรายงานสภาพัฒน์ฯ ให้ธปท.ประกอบการพิจารณาแก้ปัญหาบาท 
          ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าจะนำรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/56 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 56 ที่ได้มีการปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 56 ลงเหลือ 4.2-5.2% จากเดิม 4.5-5.5% ส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจในแง่มุมต่างๆ พร้อมกันนี้กระทรวงการคลังจะทำหนังสือถามไปยัง ธปท.ด้วยว่าที่ผ่านมาได้ใช้มาตรการใดบ้างในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท
          ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ มองว่าแม้ขณะนี้เงินบาทจะเริ่มอ่อนค่าลงมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ โดยอยากให้จับตาดูภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ต่อไป เพื่อไม่ให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกลุกลามไปยังไตรมาส 2 ขณะเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงการคลัง และหน่วยอื่น เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมไปรวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจเพื่อสะท้อนกลับไปให้ ธปท.ด้วย
          'ท่านรองฯ กิตติรัตน์ จะตั้งคำถามถึงมาตรการที่ ธปท.ได้ดำเนินไปเพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาท นั่นคือ ได้นำเงินบาทไปแทรกแซงสถานะการเงินบ้างหรือไม่ ประเด็นนี้ท่านกิตติรัตน์ให้ความสำคัญมาก เพราะหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้เงินบาทเข้าไปแทรกแซงแล้ว อาจจะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 40 ก็เป็นได้' รองโฆษกรัฐบาล กล่าว
อย่างไรก็ดี ธปท.เองได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้เตรียมแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้การดำเนินการในมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 มาตรการที่ ธปท.ได้เตรียมไว้สำหรับการแก้ปัญหาค่าเงินบาท ซึ่งจะมี 2 มาตรการที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดยธปท.ได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงการคลังแล้ว และส่งร่างแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงการคลังได้พิจารณา
          ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ได้แจ้งต่อที่ประชุม ครม.ว่า แม้ ธปท.จะเสนอร่างกฎหมายเข้ามา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะบังคับใช้กฎหมายในทันที เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมไว้สำหรับกรณีที่อาจจะต้องใช้ข้อกฎหมายดังกล่าวเพื่อประกาศใช้มาตรการ 1 ใน 4 ของธปท.
          'ขณะนี้รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และธปท.ได้เตรียมความพร้อมใช้มาตรการสร้างเสถียรภาพให้ค่าเงินบาท ซึ่งรองนายกฯ กิตติรัตน์ เห็นว่าท่าทีของธปท.ที่ออกมาในการเตรียมเครื่องมือให้มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนี้ ไม่ว่าจะใช้มาตรการใดก็ตาม อย่างน้อยจะเป็นสัญญาณที่ดีว่าได้ส่งสัญญาณไปถึงนักลงทุนต่างชาติที่หวังจะเข้ามาเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ในระยะสั้นขณะนี้ให้ได้ทราบว่าทุกฝ่ายในประเทศไทยมีท่าทีมีปฏิกิริยา และไม่ต้องการเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นในบ้านเรา' ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว


****"ประสาร"พร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินหากศก.โตต่ำกว่าศักยภาพจริง แต่!!!!! ขอตรวจสอบตัวเลขก่อน
          นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.พร้อมที่จะพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินหากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงจริงตามที่สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ออกมาที่ 5.3% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่ธปท.ประมาณไว้ที่ 7.1% ทั้งนี้มีข้อสังเกตในส่วนของตัวเลขการอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะด้านการอุปโภคบริโภค ซึ่ง ธปท.ประเมินไว้ที่ 5.8% ขณะที่สภาพัฒน์รายงานไว้เพียง 4.2% ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศไตรมาส 1 ของสภาพัฒน์อยู่ที่เพียง 3.9% จากการประเมินของ ธปท.ที่สูงถึง 6.3% โดยในส่วนนี้คาดว่าอาจเป็นผลจากตัวเลขฐานข้อมูลที่นำมาประเมินที่ไม่ตรงกัน ดังนั้น จึงได้เตรียมทีมงานเข้าไปตรวจสอบข้อมูลและจะนำมาวิเคราะห์ใหม่ เพื่อใช้ในการตัดสินใจของกนง.ในการประชุมวันที่ 29 พ.ค.นี้
          ' จีดีพี Q1 ที่สภาพัฒน์ประกาศค่อนข้างน้อยกว่าที่คาดการณ์ แต่มีจุดที่น่าสังเกตุเป็นพิเศษคือตัวเลขอุปสงค์ในประเทศของสภาพัฒน์ต่ำกว่าคาดการณ์ของ ธปท.ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ต่ำเป็นพิเศษ ตอนนี้ได้ให้ทีมงานดูอยู่ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่เรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจไม่ได้เกินความคาดหมาย เนื่องจากปีที่แล้วช่วงเดียวกันนี้มีปรากฎการณ์การฟื้นตัวจากน้ำท่วม และมีมาตรการรัฐหลายส่วนเข้ามากระตุ้น ทำให้คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะค่อยๆโน้มกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งถ้าเศรษฐกิจอ่อน และโมเมนตัมน้อยดอกเบี้ยก็สามารถผ่อนคลายเป็นไปตามโมเมนตัมของเศรษฐกิจ แต่การที่ กนง.จะตัดสินใจก็ต้องมาจากเหตุที่ทีมงานหาข้อมูลมาวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจว่ามีมากน้อยเพียงใด ตัวเลขข้อมูลที่ต่างกันจะทำให้เมื่อเทียบออกมาแล้วมีความแตกต่างกันได้' นายประสาร กล่าว
          ส่วนเรื่องเงินเฟ้อขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในกรอบเป้าหมายและไม่ได้เป็นประเด็นที่กดดันทำงานของ กนง.มากนัก ซึ่งยังคงต้องติดตามความต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นข้อจำกัดด้านอุปทานบางส่วน แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญแต่อย่างใด
          นอกจากนี้ จากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ไตรมาส 1/56 พบว่าตัวเลขมูลค่าการเติบโตของการส่งออกสินค้าและบริการมีความใกล้เคียงกัน รวมถึงมูลค่าการนำเข้า สะท้อนว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 1/56 ที่ธปท.และสภาพัฒน์ประเมินไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน แต่เป็นปัจจัยจากอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ซึ่งตัวเลขของทั้ง 2 แห่งมีการรายงานที่แตกต่างกันมาก
          ' เศรษฐกิจไตรมาส 1 ที่ชะลอไม่มีประเด็นเรื่องการส่งออกและอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้องเลย เพราะข้อมูลการส่งออกและนำเข้าที่ประเมินไว้ใกล้เคียงกันมาก อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน มูลค่าการเติบโตของการส่งออกสินค้าและบริการเท่ากันที่ 8.4% ส่วนการนำเข้าของ ธปท.ที่ 7.8% และสภาพัฒน์ที่ 8.2% ก็ใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการส่งออกต่างประเทศแน่ๆ แต่ที่น่าสนใจคือการบริโภคอุปโภคในประเทศที่ค่อนข้างต่ำกว่ากัน ซึ่งยังต้องขอเวลาหาปัจจัยที่แตกต่าง และจะนำมาประเมินเศรษฐกิจ ปกติเราดูกระบวนการเติบโตของเศรษฐกิจแบบต่อเนื่อง แต่ข้อมูลที่ออกมาจะเป็นจังหวะ 3 เดือนวิเคราะห์ครั้งหนึ่ง ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจพวกนี้ด้านการวิเคราะห์คำนวณไส้ในมีความต่อเนื่องหรือไม่ จึงจะประเมินแนวโน้มในเวลาข้างหน้าได้' นายประสาร กล่าว 


****ผู้ประกอบการคาดถ้าลดดอกเบี้ยลง ส่งผลบวกด้านจิตวิทยาต่อผู้ซื้อบ้าน กู้เงินระยะสั้นดอกเบี้ยถูกลง
          นายชายนิด โง้วศิริมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือ ดอกเบี้ยอาร์/พี ลงอีก 0.25% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่2.75% หลังตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์ประกาศออกมาวานนี้ต่ำเกินคาด จึงเชื่อว่า กนง.จะเลือกใช้วิธีดังกล่าวในการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ
          อย่างไรก็ตาม หากลดอกเบี้ยลงตามที่คาดจริง เชื่อว่า การส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยในทิศทางขาลงจะไปถึงธนาคารพาณิชย์ และเชื่อมต่อไปยังผู้บริโภคน่าจะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง และจะส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเริ่มขยายการลงทุนด้วยการกู้เงินธนาคารเนื่องจากดอกเบี้ยถูกลง นอกจากนี้ กลุ่มที่จะได้ประโยชน์คือผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไปในโครงการใหม่ๆ ซึ่งจะได้ดอกเบี้ยถูกลง ในขณะที่ผู้กู้รายเดิมที่จะได้ประโยชน์จะต้องเป็นผู้กู้ที่อยู่ในช่วงของการจ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัวแล้ว
          นางสุวรรณา พุทธประสาท รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จากัด (มหาชน) หรือ QH เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือ ดอกเบี้ยอาร์/พี ลงอีก 0.25% เช่นเดียวกัน เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจส่วนผลกระทบในเชิงบวกที่จะเกิดขึ้นต่อผู้กู้ซื้อบ้าน เชื่อว่า จะยังไม่เห็นชัดเจนนัก เนื่องจากแม้ กนง.จะไม่ปรับลดดอกเบี้ยลง อัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านก็อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น การลดดอกเบี้ยลงอีกประมาณ 0.25% จึงไม่น่าจะส่งผลในเชิงบวกต่อดีมานด์การซื้อที่อยู่อาศัยให้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
          'ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน ตอนนี้ก็ต่ำมากแล้ว ดังนั้น การลดดอกเบี้ยของ กนง.ไม่น่าจะมีผลต่อผู้ที่ต้องการซื้อบ้านให้มีดีมานด์มากขึ้นแต่อย่างใด เชื่ว่า ดีมานด์ยังเป็นปกติอยู่ แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำลง ดีสำหรับเอกชนที่ต้องการกู้เงินนำไปขยายธุรกิจ มีโอกาสจะได้ดอกเบี้ยถูกลง' นางสุวรรณา กล่าว
          ด้านนางสาวอภิศมา ณ สงขลา ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบริหารเงิน และนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 29 พ.ค.นี้ หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจริง 0.25% ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์จะส่งผลดีต่อบริษัทฯ ในแง่ของอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินระยะสั้นของบริษัทฯ จะลดลง แต่จะไม่ลดลงมากนัก
          แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นจะลดลง แต่บริษัทฯ จะคงยังสัดส่วนเงินกู้ระยะสั้นที่ 30% และระยะยาวที่ 70% เหมือนเดิม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงผันผวนอยู่ หากมีปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้น การปล่อยเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงินจะเป็นไปได้ยาก 


****อสังหาฯ-เช่าซื้อ-ส่งออก ได้อานิสงส์ โบรกเกอร์ แนะซื้อ KK-SPALI- TUF- DELTA - SIRI - PS
          นางสาวธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป ประเทศไทย เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ คณะกรรมการฯ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 2.75% เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวที่ประกาศออกมา ทั้ง GDP ที่ต่ำกว่าที่คาด และอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง รวมถึงภาพรวมตัวเลขการส่งออกที่ลดลงหลังจากเงินบาทแข็งค่าขึ้น จึงทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องนำมาตรการดอกเบี้ยต่ำมาแก้ปัญหาดังกล่าว
          ทั้งนี้ หากหลังการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจริงตามคาดนั้น ก็จะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มเช่าซื้อ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และความต้องการของคนในประเทศในเรื่องที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยแนะนำหุ้นในกลุ่มเช่าซื้ออย่าง KK กลุ่มอสังหาริมทรัพย์อย่าง SPALI เป็นต้น
          บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซียไซรัส ระบุว่า แนวโน้ม เมื่อวานนี้หลังการประกาศตัวเลข GDP งวด Q1/56 ของไทย ซึ่งชะลอตัวลงตามคาด ทำให้นักลงทุนคาดหวังถึงการพิจารณาลดดอกเบี้ยในการประชุม กนง. วันที่ 29 พ.ค.นี้ โดยตลาดฯคาดหวังการลดดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 0.25% ซึ่งการลดดอกเบี้ยเป็นบวกกับตลาดหุ้น เพราะทำให้กำไรและ Valuation เพิ่มขึ้นทั้งนี้ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ได้แก่กลุ่มบ้าน (Top pick: SIRI, PS)
          ด้านนายทวีรัชต์ มัททวีวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่า การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ โดยสาระสำคัญจะอยู่ที่การตัดสินใจว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่ง บล.ฟินันเซีย ไซรัส มีการคาดการณ์ว่า น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงที่ 0.25% ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากตัวเลข GDP ที่ออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ ในประเทศ และที่สำคัญคือในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาก่อนหน้านี้ ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
          ทั้งนี้ หากมีการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จริงนั้น หุ้นในกลุ่มส่งออก อสังหาริมทรัพย์ จะได้รับผลบวกอย่างมาก เพราะความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศจะสูงขึ้น และการส่งออกจะดีขึ้นด้วย โดยแนะนำ TUF DELTA 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น