หุ้นโลกป่วน หวั่นเฟดลด QE
โดย...พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ CPF ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาติ จำกัด (มหาชน)
ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนอย่างหนักปลายสัปดาห์ก่อน จากความวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตร (QE) ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป ประกอบกับข้อมูลภาคการผลิตจีนหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
ดัชนีนิกเกอิทรุดหนัก 7.3% ในวันพฤหัส เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลต์) อายุ 10 ปี ของญี่ปุ่นพุ่งแรงแตะ 1% เป็นครั้งแรกในรอบปี จากระดับ 0.315% เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2556 ก่อให้เกิดการปรับพอร์ตลงทุนครั้งใหญ่ โดยขายหุ้นญี่ปุ่นที่ขึ้นมาแรง 50% ในปีนี้ เพื่อไปชดเชยผลขาดทุนในพันธบัตร หรือช้อนซื้อพันธบัตรที่ราคาร่วงแรง
บอนด์ยิลต์ 10 ปี เป็นเกณฑ์ที่ใช้กำหนดอัตราดอกเบี้ยจำนองบ้านและสินเชื่อระยะยาวอื่นๆ ในญี่ปุ่น หากดอกเบี้ยนี้สูงขึ้นจะทำให้ผู้จำนองบ้านมีภาระมากขึ้น และต้องลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นลง ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จึงต้องอัดฉีดเงิน 2 ล้านล้านเยน หรือ 1.94 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เข้าสู่ระบบการเงินเพื่อสกัดความผันผวนในตลาด ก่อนดึงบอนด์ยิลต์ลงปิดที่ 0.83%
ตลาดหุ้นเอเชียที่เหลือ รวมถึงตลาดหุ้นยุโรปดิ่งราว 2% ในวันเดียวกัน นอกจากนั้นค่าเงินทั่วโลกต่างแกว่งผันผวนอย่างหนักด้วย โดยค่าบาทกลับมาอ่อนแตะ 30 บาท/เหรียญสหรัฐ
น่าสังเกตว่าตลาดหุ้นสหรัฐแกว่งแคบๆ ในวันพฤหัสและศุกร์ แม้บอนด์ยิลต์ 10 ปีของสหรัฐจะขึ้นไปอยู่ที่ 2.02% จากระดับ 1.66% เมื่อต้นเดือน พ.ค.ก็ตาม เนื่องจากแม้สภาพคล่องทางการเงินมีแนวโน้มลดลง แต่ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฟื้นตัวและมีแนวโน้มขยายตัวดี
ด้านเศรษฐกิจจีน HSBC เผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือน พ.ค. ร่วงแตะ 49.6 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ดัชนีร่วงลงต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตหดตัวลง
เศรษฐกิจจีนจึงเผชิญความเสี่ยงที่จะอยู่ในภาวะขาลงในไตรมาส 2 ปีนี้ ข่าวนี้สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง ตลอดจนกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจากจีนเป็นผู้ใช้สินค้าโภคภัณฑ์รายยักษ์ของโลก
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเฟดผูกติดการดำเนินนโยบายการเงินกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง เฟดจะลดหรือยกเลิก QE ในที่สุด ดังนั้นตลาดการเงินจะให้ความสำคัญกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ เพื่อประเมินจังหวะการปรับนโยบายการเงินเฟดอย่างใกล้ชิด
ในส่วนของนโยบายการเงินญี่ปุ่นนั้น แม้ผู้ว่าการ BOJ จะตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ภายใน 2 ปี แต่เขาไม่ต้องการเห็นบอนด์ยิลต์ดีดเร็ว จึงแทรกแซงซื้อพันธบัตรเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน การปรับพอร์ตอย่างรุนแรงในตลาดการเงินญี่ปุ่น ที่สร้างความปั่นป่วนต่อตลาดการเงินโลก จึงมีแนวโน้มผ่อนคลายลง
ความกังวลที่เฟดอาจลด QE ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการปรับพอร์ต ขายทำกำไรหุ้นบ้านเราที่ขึ้นมาแรง 13% ในช่วง 5-6 สัปดาห์ที่ผ่านมา จนชนแนวต้านแถว 1,650 จุด
ตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ สถานการณ์น่าจะผ่อนคลายลง ดัชนีหุ้นไทยอาจใช้เวลาสร้างฐานราคาแถว 1,580-1,620 จุด สักพัก ก่อนไต่ขึ้นรอบใหม่ มองเป็นโอกาสเลือกซื้อหุ้นพื้นฐานดีที่ราคาหุ้นย่อตามตลาด ดัชนีหุ้นยังมีโอกาสแกว่งขึ้นไปทดสอบ 1,700 จุด ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ในสัปดาห์นี้ต้องติดตามสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญได้แก่ GDP ไตรมาส 1 เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่วนในบ้านเราต้องจับตาการประชุม กนง. วันที่ 29 พ.ค.นี้ รวมถึงท่าทีของทางการไทยต่อค่าเงินบาท
แรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแผ่วลงมากกว่าที่คาด จึงเปิดพื้นที่ให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุม|ครั้งนี้ แม้บาทจะอ่อนค่าลงมาใกล้ 30 บาท/เหรียญสหรัฐ ก็ตาม
หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจริงจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะในหุ้นที่อ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ย เช่น หุ้นอสังหาริมทรัพย์ ลีสซิ่ง ตลอดจนบริษัทที่มีหนี้สินในสัดส่วนสูง ทั้งนี้ ต้องตามด้วย ธปท.จะออกมาตรการสกัดการเก็งกำไรเฉพาะธุรกิจหลังลดดอกเบี้ยหรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น