กระทิงทะยานทั่วโลก
คอลัมน์ วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2556 ผู้เข้าชม : 498 คน
นักเศรษฐศาสตร์ นักต่อต้านทุนนิยม นักต่อต้านการเก็งกำไร และผู้มีคุณธรรมทุศีล ล้วนพยายามหาเหตุผลเพื่อสร้างข้อกล่าวหาถึงเบื้องหลังการวิ่งทะยานขึ้นของราคาหุ้นในตลาดทั่วโลก แม้กระทั่งในเวียดนาม และยูโรโซน ที่เศรษฐกิจย่ำแย่ มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
นักยุทธศาสตร์ลงทุนชาวสวิสที่ถนัดมองโลกในแง่ร้ายอย่างมาร์ค เฟเบอร์ ซึ่งนั่งจิบเบียร์ที่เชียงใหม่ยามนี้ฆ่าเวลาหลังเกษียณ บอกว่า ฟองสบู่จากสงครามค่าเงินกำลังพาโลกไปสู่หายนะรอบใหม่จากการวิ่งของราคาหุ้นทั่วโลกที่เป็นปรากฏการณ์ประเดี๋ยวประด๋าว
สิ่งหนึ่งที่คนเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ และจำต้องยอมรับโดยดุษณีก็คือ ภาวะกระทิงกำลังกลับมาโดดเด่นในตลาดหุ้นทั่วโลก ดัชนีของตลาดหุ้นสำคัญของโลกทำนิวไฮครั้งแล้วครั้งเล่า สวนกระแสกับอารมณ์ของความรู้สึกนอกตลาดที่หวาดหวั่นกับความอลหม่านของวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เกิดข้อสรุปที่งุนงงว่าหรือตลาดหุ้นกำลังจะเป็นฟองสบู่ระลอกใหม่
คำตอบมีอยู่ 2 ข้อ ข้อแรก ผลประกอบการซึ่งเป็นพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน ฟื้นตัวขึ้นมาหรือกำไรเพิ่มมากขึ้นอย่างโดดเด่น สวนกระแสความผันผวนของปัจจัยนอกตลาด ทำให้ค่าพี/อีของหุ้นจำนวนมาก ต่ำเกินไป ส่งผลผลักดันต่อราคา ส่วนข้อสอง ตลาดหุ้นถือเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงในการลงทุนของนักลงทุนต่ำที่สุด เพราะเป็นตลาดที่มีการคาดเดาพื้นฐานของธุรกิจรองรับ ไม่ได้ซับซ้อนเหมือนกับตราสารอนุพันธ์ หรือหลักทรัพย์อื่นๆ ที่เข้าใจยาก ไม่เหมาะสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ไม่ได้ลึกซึ้งมากมายนักกับการลงทุนในข้อมูลข่าวสาร
ความมั่นใจของนักลงทุนที่มอบให้กับตลาดหุ้น ไม่ได้เลื่อนลอยหรือตั้งบนรากฐานของจินตนาการแบบคิดเอาเอง แต่เป็นสิ่งที่สัมผัสได้และดำรงอยู่เป็นรูปธรรม
แม้ว่าในภาพรวม กองทุนการเงินระหว่างประเทศจะปรับลดอัตราการเติบโตของจีดีพีทั่วโลกเฉลี่ยจาก 3.5% เหลือแค่ 3.3% ในปีนี้ แต่การที่ประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในเอเชียมีการเติบโตที่แข็งแกร่งจากการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น และยกระดับการบริหารจัดการภายใน ทำให้ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ได้สะท้อนออกมาเป็นรายได้ การเติบโต และกำไรที่เพิ่มมากขึ้นโดดเด่น เหนือกว่าบริษัทชื่อดังในระดับโลกในชาติพัฒนาแล้วที่ยุโรป สหรัฐ หรือญี่ปุ่น
ผลกำไรในไตรมาสแรกของปีของบริษัท ใน S&P 500 ที่สหรัฐ ส่วนในทวีปยุโรปกำไรไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นที่ 3% แม้จะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ถือว่าดีเกินคาด ส่วนญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นและนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” เพื่อขจัดภาวะเงินฝืดได้สร้างแรงบันดาลใจและความคาดหวังในทางบวก จนกระทั่งมองเห็นความสดใสของอนาคตมากขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี จนแสดงออกมาให้ดัชนีสารพัดของตลาดหุ้นโตเกียวมีผลตอบแทนของราคาดีที่สุดในโลก
โปรแกรมแก้ปัญหาเศรษฐกิจจำนวนมากของประเทศต่างๆ ในโลกที่ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ล้วนมีความระวังระไวไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวด้านราคาของตลาดหุ้น เรื่องนี้ นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนเก็งกำไรระดับโลกต่างรู้ดี ดังนั้น จึงมองเห็นตลาดหุ้นเป็นขุมทรัพย์ที่มีความปลอดภัย ไม่ว่าผลตอบแทนที่แท้จริงจะเป็นเช่นใด แต่การที่ความเสี่ยงต่ำ ก็เป็นพื้นที่ปลอดภัยมากเกินพอในตัวเองอยู่แล้ว
นอกจากนั้น การที่เงินเฟ้อมีอัตราลดลงจากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้จบรอบขาขึ้นอันยาวนานลงไป ซึ่งทำให้ตลาดดังกล่าวมีความเสี่ยงในการเข้าเก็งกำไร นอกจากจะส่งผลให้เงินหนีออกจากตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มาสู่ตลาดหุ้นมากขึ้นแล้ว ก็มีส่วนทำให้ความกังวลว่าเงินเฟ้อจะกระทบกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือการควบคุมคุณภาพสินเชื่อ หรือการออกมาตรการควบคุมการปล่อยเงินกู้ของธนาคารต่างๆ บรรเทาเบาบางลงไปมาก ที่สำคัญคือกำลังซื้อของประชาชนโดยรวมก็เพิ่มขึ้นโดยปริยายด้วย
เรื่องที่มีความหมายต่อตลาดหุ้นโดยอ้อมคือ ผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือพันธบัตรรัฐบาล ที่มีแนวโน้มลดต่ำลง หลังจากที่เศรษฐกิจอันเลวร้ายในหลายประเทศ ส่งสัญญาณทางบวกมากขึ้นหลังจากวิกฤตผ่านไป ก็ทำให้การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ทั้งหลายขาดเสน่ห์ลงไปอย่างชัดเจน ผลตอบแทนเฉลี่ยของตราสารหนี้อายุ 10 ปีในสหรัฐ, อังกฤษ, เยอรมนี และญี่ปุ่น ต่ำกว่า 2% เท่านั้น
แล้วในท้ายที่สุด ความผันผวนของตลาดเงินตราระหว่างประเทศ ทำให้การเก็งกำไรค่าเงินข้ามสกุล เต็มไปด้วยความเสี่ยง ไม่คุ้มสำหรับเม็ดเงินมหาศาลที่เดิมปกติก็ให้ผลตอบแทนต่ำอยู่แล้ว มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
การทำนิวไฮครั้งแล้วครั้งเล่าของตลาดหุ้นในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียอย่างน่าอิจฉา ไม่ใช่เรื่องแปลก และการทะยานขึ้นนิวไฮในรอบหลายปีของหุ้นไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรืออินเดีย ก็ด้วยเหตุผลสอดคล้องกัน ไม่ได้ผิดกระแสแต่อย่างใด ผลลัพธ์ตามมาคือ คำพูดไร้สาระว่ากำลังจะเกิดฟองสบู่รอบใหม่ในตลาดหุ้น เป็นน้ำลายเหม็นๆ ของคนไร้เดียงสาที่หลงทางเหมือนลูกแกะตาบอดเท่านั้นเอง
ทั้งหมด คือคำอธิบายเหตุผลว่า เพราะอะไรนับแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน และอาจจะต่อไปอีกระยะหนึ่งในปีนี้ เสน่ห์ของตลาดหุ้นทั่วโลก ยังคงหอมหวนต่อไป แล้วยิ่งหากบริษัทจดทะเบียน ยังคงมีผลตอบแทนในการดำเนินงาน และมีความสามารถในทางวิศวกรรมการเงินที่เหมาะสมผสมโรงเข้าไปด้วย อย่างไม่มากเกิน โอกาสที่ตลาดหุ้นจะยังคงอยู่ในภาวะกระทิงย่อมยาวนานกว่าปกติ สวนทางกับความผันผวนของเศรษฐกิจในภาพรวมที่ยังคงดิ้นรนกระเสือกกระสนกับปัญหาไปทีละเปลาะอย่างยากลำบาก
โดย...วิษณุ โชลิตกุล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น