ลมเย็นที่พัดผ่านกายหลังเท้าแตะพื้นดินกลางกรุงมอสโคนั้น ทำให้ผู้เขียนนึกถึงความรู้สึกเดียวกันเมื่อต้นปีก่อนที่มิวนิค

ที่ ณ ยามนั้น วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปกำลังลุกลามและกำลังขยายตัวเป็นยกที่สองของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ชื่อ:  ยุโรปเมกา.jpg
ครั้ง: 881
ขนาด:  245.4 กิโลไบต์


หนึ่งปีครึ่งผ่านไป เศรษฐกิจโลกดูเหมือนจะปลอดภัยขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจ การจ้างงานและตลาดอสังหาฯ ของสหรัฐที่ดีขึ้น ความเชื่อมั่นของประเทศแถบยุโรปที่กระเตื้องขึ้นบ้างจากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรป เศรษฐกิจจีนที่เริ่มฟื้น และแม้แต่ประเทศที่ดูอาการหนักสุดอย่างญี่ปุ่นก็เริ่มฟื้นจากมาตรการ Abenomics ของชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่และการอัดฉีดอย่างมหาศาลของธนาคารกลาง


แต่นั่นเป็นเพียงแค่เปลือกนอก เพราะปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกอย่างไร้ซึ่งความสมดุล ซึ่งผู้เขียนกังวลว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป โลกมีสิทธิที่จะเข้าสู่วิกฤตอีกครั้งในหนึ่งถึงสองปีข้างหน้านี้ โดยผู้เขียนเห็นว่า มี 4 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป

ปัจจัยเสี่ยงแรกได้แก่สถานการณ์ด้านการคลังของสหรัฐ อันเป็นผลตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปลายปี 2551 ที่ทำให้รัฐบาลบุชยุคนั้นต้องออกมาตรการการคลังจำนวนถึง 7.8 แสนล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการนั้นเองบวกกับนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาลโอบามา ทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายล้นพ้นตัวและต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้นจนหนี้สาธารณะเกินเพดาน ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขอาจนำไปสู่วิกฤตการคลังได้


ด้วยเหตุนี้ ทั้งรัฐบาลและสภาคองเกรสจึงพยายามหาทางลดหนี้สาธารณะโดยเก็บภาษีเพิ่ม และลดรายจ่ายภาครัฐ แต่เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างแนวคิดของสองพรรคการเมืองหลักทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ในวิถีทางในการลดหนี้ อันเป็นที่มาของหน้าผาการคลัง (Fiscal Cliff) หรือภาวะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 5% ของ GDP หมดอายุลง ณ ต้นปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งสองพรรคจะตกลงกันได้บ้าง จนทำให้สหรัฐจะรอดพ้นจากหน้าผาดังกล่าวอย่างคาบเส้นยาแดง แต่ก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ Sequestration หรือการตัดลดงบประมาณอัตโนมัติทุกกระทรวงเป็นจำนวน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปีนี้ รวมถึงต้องยกเลิกส่วนลดภาษีบางประการ ซึ่งมาตรการดังกล่าว มีผลทำให้เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 2 ปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะภาคการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก


และเพราะการตกลงกันไม่ได้ของสองพรรคใหญ่นี่เอง ที่นำไปสู่จุดเสี่ยงที่สอง อันได้แก่มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่ 3 และ 4 (QE3-4) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เนื่องจากนายเบน เบอร์นันเก้ ประธาน Fed เชื่อว่าหากไม่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐที่เผชิญปัจจัยเสี่ยงภาคการคลังอาจจะปักหัวลงอีกครั้งได้ จึงอัดฉีดเงินถึง 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน (หรือ 1.02 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุยาว


อาจกล่าวได้ว่า เบอร์นันเก้คิดถูกอยู่บ้างที่อัดฉีดรุนแรงเช่นนี้ เพราะ QE3-4 ให้ผลบวก 3 ต่อเศรษฐกิจสหรัฐ 3 ประการคือ หนึ่ง ช่วยกดผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐให้ถูกลง ทำให้รายจ่ายดอกเบี้ยของรัฐบาลสหรัฐลดลง สอง ผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลง โดยเฉพาะตัวที่มีอายุยาวนั้น ทำให้ดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage) ของสหรัฐ ที่ผูกติดกับพันธบัตรดังกล่าวลดลงด้วย ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้ภาคอสังหาฯ ฟื้นขึ้น และ สาม เงินที่อัดฉีดนั้นไหลเข้าเก็งกำไรในตลาดทุน ทำให้ราคาหุ้นในสหรัฐ (และทั่วโลก) เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ถือหุ้นรู้สึกว่าตนเองรวยขึ้น จึงบริโภคมากขึ้น และทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น


แต่การอัดฉีดก็มีข้อเสียสำคัญ นั่นคือเงินที่ไหลเข้าเก็งกำไรนั้นทำให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินโป่งพองเกินจริง บิดเบือนปัจจัยพื้นฐานของตลาด รวมถึงทำให้เงินทุนไหลเข้ายังประเทศตลาดเกิดใหม่และทำให้ค่าเงินประเทศเหล่านั้นแข็งค่าขึ้นและผันผวน


ปัจจัยเสี่ยงที่สามได้แก่ การช่วยเหลือของทางการยุโรปต่อวิกฤตธนาคารของไซปรัส ประเทศน้องเล็กของยุโรป ที่มาพร้อมเงื่อนไขว่าหากไซปรัสต้องการเงินกู้ช่วยเหลือจำนวน 1 หมื่นล้านยูโรนั้น จะต้องแลกกับการปิด 2 ธนาคารใหญ่สุด และ “อายัด” เงินฝากในบัญชีที่มีมากกว่า 1 แสนยูโรอย่างไม่มีกำหนด พร้อมทั้งห้ามนำเงินออกนอกประเทศเกิน 3 พันยูโร

สาเหตุที่ทางการยุโรปออกมาตรการ “ปล้นกลางแดด” เช่นนี้ เป็นเพราะเกาะไซปรัสที่มีประชากรไม่ถึง 1 ล้านคนนี้เป็นแหล่งพักเงินของเหล่าเศรษฐีและบริษัทรัสเซีย ทำให้ภาคธนาคารไซปรัสใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจถึงกว่า 8-9 เท่า และทำให้ธนาคารในไซปรัสต้องนำเงินไปลงทุนยังพันธบัตรของประเทศเพื่อนบ้านอย่างกรีซที่ให้ผลตอบแทนสูง และเมื่อวิกฤตกรีซลุกลาม ธนาคารจึงขาดทุนมหาศาลและต้องลดขนาดลง

แต่ผู้เขียนเห็นว่ามาตรการดังกล่าวผิดพลาดอย่างรุนแรง เพราะทำผิด “กฎเหล็ก” สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง เป็นการริบเงินฝากธนาคารที่ควรจะเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยที่สุด สอง มาตรการดังกล่าวทำให้เป็นการ “เลือกปฏิบัติ” ระหว่างประเทศใหญ่มหาอำนาจกับประเทศเล็กที่ไม่มีปากเสียง และ สาม มาตรการปิดกั้นเงินทุนผิดหลักการเคลื่อนย้ายเงินทุนโดยเสรีของยุโรปเอง


ผู้เขียนเห็นว่า มาตรการช่วยเหลือไซปรัสนี้จะเป็น “สนิมเนื้อใน” ที่จะทำลายหนทางสู่การแก้วิกฤตการคลังอย่างยั่งยืนของยุโรปลง เนื่องจากนักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่น และทำให้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรปไม่ขลังเช่นก่อน ขณะเดียวกันอาจเกิดปัญหาเงินไหลออกจากธนาคารในยุโรปใต้อย่างต่อเนื่อง (Silent Bank Run)


ปัจจัยเสี่ยงสุดท้ายได้แก่ มาตรการอัดฉีดครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นจำนวนถึง 7 ล้านล้านเยนต่อเดือน โดยเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว กองทุนหุ้น (ETF) และกองทุนอสังหาฯ (J-REIT) โดยตั้งเป้าว่าจะพิมพ์เงินเพิ่มให้ได้ 2 เท่า เพื่อให้เงินเฟ้อขึ้นไปอยู่ที่ 2% ภายใน 2 ปี (หรืออาจเรียกได้ว่ามาตรการ 222)


ณ ปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ยังไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ต่อผลของประสิทธิภาพของมาตรการดังกล่าวในการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่สำหรับผลต่อตลาดเงินตลาดทุนโลก รวมถึงความเสี่ยงฟองสบู่แล้วนั้น ผู้เขียนกังวลยิ่งนัก เพราะนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีเพียง Fed เท่านั้นที่อัดฉีดเงินเพิ่มเป็นจำนวนประมาณ 2.45 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารกลางสำคัญอื่นๆ กลับลดการอัดฉีดลงเสียด้วยซ้ำ แต่เงินกลับไหลมายังสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นในตลาดเกิดใหม่ ทำให้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 5-30% นับจากต้นปี 


ในขณะที่มาตรการ 222 ของญี่ปุ่นนั้น จะอัดฉีดเงินเป็นปริมาณใกล้เคียงกับ QE ของสหรัฐ จึงอาจพูดอย่างง่ายว่า นับจากนี้ต่อไป ปริมาณเงินที่อัดฉีดเข้ามาในระบบการเงินโลกจะเพิ่มเป็น 2 เท่าจากที่เคยเป็นในช่วงต้นปี และน่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกอย่างน้อยถึงต้นปีหน้า (ยังไม่นับรวมแผนของยุโรปและอังกฤษที่มีแนวโน้มจะใช้มาตรการคล้ายกัน)


สภาพคล่องที่ธนาคารกลางทั่วโลกอัดฉีดเข้ามานี้จะเป็นดั่ง “สึนามิแห่งเงินตรา” และพร้อมจะไหลเข้ามายังตลาดเกิดใหม่ ทำให้ค่าเงินแข็ง เกิดภาวะฟองสบู่ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่สุ่มเสี่ยงต่างๆ โดยเป็นไปได้ว่า สถานการณ์เช่นนี้น่าจะยังเป็นเช่นนี้อีก 1-2 ปี ซึ่งจะทำให้หุ้นทั่วโลกรวมทั้งไทย และอสังหาริมทรัพย์พุ่งกระฉูด รวมถึงจะเห็นการระดมทุนเพื่อนำไปสู่การควบรวมกิจการ รวมถึงการลงทุนโดยตรงต่าง ๆ ที่อาจขาดการตรึกตรองรอบด้านอีกมาก


จนกระทั่งมีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่มา “กระชาก” นักลงทุนให้ตื่นจากฝันหวาน เช่น เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นจน Fed ต้องยุติ QE การแตกของฟองสบู่ของภาคการเงินในจีน หรือวิกฤตการคลังในยุโรป เมื่อนั้น นักลงทุนอาจตกใจจนทำให้ราคาสินทรัพย์หดตัวอย่างรุนแรง รวมถึงเป็นไปได้ที่อาจเกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งมหาศาลขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเต็มที่ (Stagflation) เมื่อนั้น วิกฤตที่รุนแรงกว่าแฮมเบอร์เกอร์อาจเป็นจริงได้


แม้โลกจะดูดีขึ้น แต่สึนามิแห่งเงินตราในรอบนี้ประมาทมิได้แม้แต่น้อย นักลงทุนที่สุขุม รอบคอบ และกระจายความเสี่ยงเท่านั้น จึงจะอยู่รอดได้ในวันพิพากษา


บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่

Tags : ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์