วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ดอกเบี้ยจะลดหรือไม่


ใกล้แล้วนะครับ

ใกล้อะไร ท่านผู้อ่านจะได้คำตอบในอีกอึดใจนี้แหละครับ


บทความเดือนนี้ของผม หากท่านได้อ่านควบคู่ไปกับบทความของผมอีกสองบทความ คือ Currency War (มี.ค. 2556) และเราควรเตรียมตัวอย่างไรสำหรับ QE 3 (ต.ค. 2555) ก็จะได้มุมมองที่ครบถ้วน และหากเพียงแต่ท่านยังจำได้ถึงเรื่องดังกล่าว ก็ไม่ต้องไปหาอ่านซ้ำก็ได้ครับ


คิดอยู่เหมือนกันว่า จะพูดเรื่องที่“ใกล้”นี้ดีหรือไม่ เพราะว่ามีคนพูดกันเยอะในช่วงนี้ แต่ลองติดตามจากสื่อต่างๆ ก็มีความรู้สึกว่า หากผมเป็นประชาชนคนธรรมดาทั่วไปก็คงจะ “มึน” ไม่รู้จะเชื่อใครดี ผมจึงขออนุญาตในที่นี้ นำเสนอความคิดของผม ตามสไตล์ของผมคือทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย หวังว่าท่านจะเข้าใจและเตรียมตัวเตรียมใจได้พร้อม สำหรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนะครับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะไม่ทำให้ท่าน “มึน” มากขึ้น





1.จนถึงขณะนี้ (28 เม.ย. ) ก็ยังไม่มีมาตรการที่จะออกมาสกัด หรือ ชะลอการแข็งค่าของเงินบาท จริงอยู่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงวันศุกร์ที่ 26 เม.ย. ซึ่งตลาดคาดว่าจะมี สุดท้ายก็ไม่มี แต่ผมว่า มันใกล้แล้วนะครับ ที่จะถึงจุดที่ทางการ ”ทนไม่ไหว” มาตรการ (จะ’ไลค์’หรือ’ไม่ไลค์’ก็ตาม) คงจะประกาศ ก็เพียงแต่จะเตือนท่านผู้อ่านที่รักของผมว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง คงไม่ต้องรอให้ประกาศก่อนหรอกนะครับ 



2.มันใกล้แล้วนะครับ ที่อัตราดอกเบี้ยทางการคงจะต้อง”ยอมลด”ลง ผมไม่”บังอาจ”ไปบอกหรอกนะครับว่าจะลดลงเท่าไร แต่เชื่อว่า ลดลงมาเท่าไรก็ยังคงไม่สามารถหยุดยั้งการที่มีเงินทุนไหลเข้าอยู่ดี หากฟังการแถลงข่าวของพี่โต้งเมื่อวันศุกร์ ผมเชื่อว่าคราวนี้ลดแน่



3.มันใกล้แล้วนะครับ ที่เราจะเห็นค่าของเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับเงินบาทสูงขึ้น ผมลองใช้ความรู้ทางด้าน technical analysis ที่มีอยู่ไม่มาก นักวิเคราะห์ดูแล้ว ค่าของเงินดอลลาร์/บาทน่าจะ”bottom out” ที่ประมาณ 27 - 28 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ กอปรกับการที่เศรษฐกิจอเมริกามีแนวโน้มที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นทุกวัน โดยพิจารณาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญตอนนี้ เช่น การขอเงินช่วยเหลือการว่างงาน (Jobless Claims) หรือจะเป็นตัวเลขสร้างบ้านใหม่ และยอดขายบ้านใหม่ (Housing Starts and New Home Sales) ที่สนับสนุนแนวโน้มดังกล่าว โดยไม่ต้องกล่าวถึงตัวเลขอัตราการว่างงาน(Unemployment rate) และการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Non Farm Payroll) ซึ่งก็บ่งชี้ไปในทางเดียวกัน ค่าของเงินดอลลาร์ก็ได้สูงถึงระดับ 99 เยนกว่าๆมาแล้ว ก่อนจะมา”พัก”อยู่ที่ระดับ 98 เยนในปัจจุบัน สุดท้ายก็คงทะลุ 100 เยน 



4.มันใกล้แล้วนะครับ ที่ความขัดแย้งของผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจะมาถึงจุดแตกหัก ลองวิเคราะห์แบบบ้านๆดู พี่เขาก็พยายามให้เห็นว่า หากไม่ทำตามที่พี่เขาบอก หากเศรษฐกิจเป็นอะไรจะต้องรับผิดชอบ เห็นพี่เขาพูดอยู่หลายที บรรดาพวกพ้องของพี่เขา ก็ออกมาประสานเสียงกันใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ”หนังสือพิมพ์คุณภาพ” หรือ “อาจารย์ใหญ่” หรือแม้กระทั่ง “คนที่อยากเปลี่ยนงาน” ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อที่จะมี “Justification” ในระดับ “สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรง” เพียงพอที่จะใช้อำนาจตามกฎหมาย


หากผมจะขออนุญาตแนะนำ ผมอยากจะเรียนแนะนำดังต่อไปนี้ครับ


1.เงินทุนไหลเข้าต้องแก้ด้วยเงินทุนไหลออก การผ่อนปรนให้มีการลงทุนในต่างประเทศในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ และยังมี "ดอกจัน" อยู่มาก ควรต้องมีการสนับสนุนให้มีการ "ขนเงิน" ออกไปให้มากกว่านี้ หากท่านผู้รับผิดชอบ (ก็แบงก์ชาตินั่นแหละ) ทำแล้วไม่ถูกใจ อยากจะเสนอพี่เขาให้ทำเองเลย โดยใช้เครื่องมือของพี่เขานั่นแหละ

ผมคิดว่าตอนนี้ใครไปลงทุนเมืองนอก, ใครไปเที่ยวเมืองนอก, ใครซื้อของนอก ต้องถือว่าเป็นผู้มีคุณูปการต่อระบบเศรษฐกิจ ต้องสนับสนุนเต็มที่ มีความเป็นไปได้ไหมที่จะ "คืนเงิน” ให้กับผู้ที่ซื้อดอลลาร์ และนำเงินออกไปต่างประเทศจะได้รับส่วนลดพิเศษจากพี่เขา เมื่อมีหลักฐานมาโชว์โดยไม่ต้องมีดอกจันให้ยุ่งยาก ก็ในเมื่อคืนภาษีรถคันแรกยังทำได้เลย ทำไมซื้อดอลลาร์จะทำไม่ได้


2.ดอกเบี้ยทางการจะลดหรือไม่ลด ผมคิดว่าไม่ต้องทะเลาะแล้ว ในความเห็นของผมให้ลดลงเป็นศูนย์ หรือใกล้ศูนย์อาจจะพอทำให้พันธบัตรของไทยดู “sexy” น้อยลง ทำให้เงินไม่ไหลเข้ามาได้บ้าง แต่ก็จะไปกดดันเรื่อง asset bubble มากขึ้น การลดลงเพียงเล็กน้อยถึงพอควร คงไม่หยุดยั้งเงินทุนไหลเข้าได้หรอก ในเมื่อคนที่พิมพ์แบงก์ 2 เจ้าใหญ่ ดอกเบี้ยของเขาอยู่ที่ศูนย์เปอร์เซ็นต์ 



3.อยากจะขอร้องว่า ให้มองการเห็นต่างเป็นเรื่องปกติของการดำเนินนโยบาย การแตกหักกันคงจะไม่ได้เป็นผลดีต่อพวกเราด้วยกันหรอก ดูอเมริกาเป็นตัวอย่างเห็นทะเลาะกันเป็นประจำ แต่ไม่เห็นต้องแตกหัก 



สุดท้ายจะขอยกตัวอย่างสองเจ้าสัวนักลงทุนตัวจริง ที่เห็นโอกาสที่”ของนอก”ถูกและค่าเงินของเราแข็ง ออกไปซื้อกิจการในต่างประเทศในระดับ"อภิมหา”ดีล ระดับโลก หากเราสามารถสนับสนุนเรื่องการลงทุนหรือซื้อสินทรัพย์ต่างๆในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิผล โดยให้มีข้อจำกัดให้น้อย ผมเชื่อว่าจะทำให้ค่าเงินบาทของเราอ่อนลงได้ในทันตา (ทั้งๆที่อาจไม่ได้ใช้เงินสักบาทไปซื้อดอลลาร์) 


ทั้งนี้ยังไม่ได้พิจารณาเหตุปัจจัยเรื่อง trend ของตลาดที่ค่าของเงินดอลลาร์สูงขึ้น หากพิจารณาปัจจัยนี้ด้วย การไปสู้กันเรื่องดอกเบี้ย อาจจะไม่มีความจำเป็นเลย และขอให้พึงระลึกไว้ด้วยว่า อานิสงส์ของเงินแข็งก็มีอยู่มาก อย่าลืมหรือแกล้งลืมกันไปซะงั้น สุดท้ายจริงๆทั้งหมดที่นำเสนอเป็นความเห็นส่วนตัวของผม และโปรดใช้วิจารณญาณในการรับรู้ด้วยครับ



Tags : ใกล้แล้วนะครับ • เสถียร ตันธนะสฤษดิ์ 

เสถียร ตันธนะสฤษดิ์

Money Time

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น