วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ท้าทายGLOW ผลิตไฟฟ้า

นพดล ปิ่นสุภา
'แกนนำธุรกิจไฟฟ้ากลุ่มปตท.' เมื่อหน้าที่นี้ถูกยกให้อยู่ภายใต้การดูแลของ บมจ.โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ 
ไม่บ่อยครั้งนักที่ 'ผู้บริหารครอบครอบปตท.' จะเปิดพื้นที่ส่วนตัว เพื่อบอกเล่าแผนธุรกิจในนอนาคตแบบ 'เอ็กซ์คลูซีฟ' นานกว่าสองชั่วโมง.. 
ห้องทำงานเรียบง่าย บนชั้น 14 ตึกบี อาคารเอ็นโก ย่านวิภาวดี ของลูกหม้อปตท. 'ต่ายนพดล ปิ่นสุภา' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC หุ้นไอพีโอน้องใหม่ราคา 27 บาท ที่เปิดซื้อขายวันนี้ (18 พ.ค.) เป็นวันแรก ถูกเปิดต้อนรับทีมงาน 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' เป็นฉบับแรก 
บมจ.โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่างๆ เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ จำกัด และบริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อเดือนม.ค.2556 เพื่อเป็นแกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่มปตท.
ปัจจุบัน GPSC ถือหุ้นใหญ่ โดย บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC บมจ.ปตท.หรือ PTT บมจ.ไทยออยล์ หรือTOP บริษัท ไทยออยล์ พาวเวอร์ จำกัด หรือ TP คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 22.73% -22.58%- 20.79% -8.91% ตามลำดับ (ตัวเลขภายหลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอ) 
บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,851 เมกะวัตต์ ไอน้ำประมาณ 1,512 ตันต่อชั่วโมง,น้ำเย็นรวมประมาณ 12,000 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 2,080 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จากโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 1 แห่ง ณ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และจากโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น และหน่วยผลิตไอน้ำ ภายใต้ชื่อ โรงผลิตสาธารณูปการ 3 แห่ง จังหวัดระยอง
'ผู้บริหารวัย 51 ปี' ส่งยิ้มทักทายอย่างเป็นกันเอง พร้อมแจกแจงความกังวลใจที่นักลงทุนมีต่อหุ้น GPSC เป็นเรื่องแรกก่อนเจาะลึกแผนธุรกิจว่า นักลงทุนหลายรายอาจคิดว่า หลังหุ้น GPSC เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นแล้ว ราคาจะไม่ค่อยขยับไปไหนเหมือนหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายๆบริษัทที่ราคาย่ำอยู่ที่เดิม หลังผลประกอบการในแต่ละปีไม่ได้ขยายตัวอย่างหวือหวา เพราะวิถีของบริษัทผลิตไฟฟ้ามักทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว
ส่วนตัวขอชี้แจ้งว่า ธุรกิจของ GPSC จะมีความแตกต่างจากเจ้าอื่น ตรงที่ธุรกิจมีโอกาสเติบโตรวดเร็ว เนื่องจากเราอยู่ภายใต้การดูแลของบมจ.ปตท.หรือ PTT ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ฉะนั้นเมื่อหุ้นใหญ่ไปทำงานที่ไหนมักพาเราไปด้วย ฉะนั้นโอกาสที่บริษัทจะมีโครงการใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะจับมือกับพันธมิตร เทคโอเวอร์กิจการ หรือดำเนินการเอง ย่อมไม่ใช่เรื่องยาก
นอกจากนั้นในแง่ของกลุ่มลูกค้า ที่ผ่านมาเราไม่ได้จำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ.กฟภ.และกฟน.เท่านั้น แต่ยังจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมด้วย ส่วนใหญ่ลูกค้าของเรามีหลากหลายประเภท เช่น กลุ่มปิโตรเคมี เป็นต้น ซึ่งการดำเนินธุรกิจเช่นนี้ ถือเป็นการสร้างความสมดุลในกับสัดส่วนรายได้
'จากนี้ธุรกิจในเครือปตท.จะหันมาซื้อไฟฟ้าจาก GPSC แตกต่างจากในอดีตที่ต่างคนต่างดำเนินการเรื่องซื้อไฟฟ้า' 
'5 ปีชิงผู้ผลิตไฟฟ้าอันดับ 3' 
กรรมการผู้จัดการใหญ่ เล่าแผนธุรกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2558-2562) ว่า วันนี้ GPSC ถือเป็นผู้นำด้านไฟฟ้าอันดับ 4 หากพิจารณาจากจำนวนเมกะวัตต์ ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,851 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าในและนอกประเทศ 1,504 เมกะวัตต์ คิดเป็น 81.2% และ 347 เมกะวัตต์ คิดเป็น 18.8 % ตามลำดับ
ฉะนั้น 'เป้าหมายแรก' หลัง GPSC เข้าตลาดหุ้น คือ ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อโดดขึ้นไปนั่งเก้าอี้ 'ผู้ผลิตไฟฟ้าอันดับ 3' แทนที่ บมจ.โกลว์ พลังงาน หรือ GLOW ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 3,000 เมกะวัตต์
ส่วน 'เป้าหมายใหญ่ต่อไป' ซึ่งบริษัทอาจใช้เวลาสักระยะในการเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ ๆ เพื่อก้าวสู่ 'อันดับหนึ่ง' แทนที่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง หรือ RATCH และ บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือ EGCO ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าฝั่งละประมาณ 5,000 เมกะวัตต์
'ความฝันนี้ไม่รู้จะเกิดขึ้นช่วงไหน แต่เราจะตั้งใจทำให้ได้' 
ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจมากกว่า 50% ที่เหลือเป็นรายได้จากเงินปันผล อนาคตเราจะมีรายได้จากการเข้าไปลงทุนมากขึ้น เรื่องนี้ถือเป็น 'ข้อดี' อีกหนึ่งข้อของเรา โดยในปีนี้จะรับเงินปันผลจากหลากหลายบริษัท อาทิเช่น บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด ,บริษัท ไทย โซลาร์ รีนิวเอเบิล ,บริษัท สยาม โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด, บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด และบริษท ราชบุรีพาวเวอร์ จำกัด ซึ่ง GPSC มีสัดส่วนการลงทุนที่ 100%- 40%- 40% -25% -15% ตามลำดับ
ถามว่า GPSC จะเดินทางสู่เป้าหมายแรกด้วยวิธีใด?
'นพดล' ตอบคำถามนี้ว่า ก่อนปี 2562 บริษัทจะต้องมีกำลังการผลิตเทียบเท่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 1 พันเมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับตอนนี้ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,851 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพียง 1,315 เมกะวัตต์ ซึ่งอีกประมาณ 500 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยจะทยอยเดินเครื่องผลิตในปีนี้ประมาณ 50 เมกะวัตต์ และจะผลิตเต็มกำลังในปี 2562
สำหรับกำลังการผลิตเทียบเท่าไฟฟ้า 1 พันเมกะวัตต์ จะมาจากโครงการโรงไฟฟ้าประเภทใดบ้างนั้น 'เอ็มดีใหญ่' บอกว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาและศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าหลากหลายประเภท โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิ พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก๊าซชีวภาพ หรือแม้กระทั่งพลังงานถ่านหิน และโคเจนเนอเรชั่น เป็นต้น
ตามแผนธุรกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งใจจะใช้เงินลงทุน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเทียบเท่าไฟฟ้า 1 พันเมกะวัตต์ ประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท และลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในส่วนที่เหลืออีก 500 เมกะวัตต์ ประมาณ 6,000 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าการลงทุน 18,000 ล้านบาท 
แม้จะใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่นักลงทุนไม่ต้องกังวล เพราะเราได้เตรียมความพร้อมเรื่องเงินลงทุนไว้หมดแล้ว โดยเงินส่วนใหญ่จะมาจากการเสนอขายหุ้นไอพีโอ และกู้เงินแบงก์ ปัจจุบันบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน หรือ D/E หากไม่ร่วมบริษัทในเครือจะอยู่ระดับต่ำเพียง 0.50 เท่า
เขา ไม่รอช้ารีบแจกแจงแผนลงทุนทั้งในและนอกประเทศว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรหลายราย ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรที่เตรียมจะจับมือกันทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล หรือไบโอแมส (Biomass) กำลังการผลิตประมาณ 8-9 เมกะวัตต์ต่อโรงงาน มูลค่าลงทุนเฉลี่ย 2 ล้านเหรียญต่อเมกะวัตต์
ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา หากผลออกมาในลักษณะ 'ดำเนินการแล้วคุ้มค่า' เราอาจจัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดยการให้พันธมิตรถือหุ้นมากกว่า GPSC เนื่องจากเขาเป็นเจ้าของวัตถุดิบ ฉะนั้นถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดเร็วๆนี้ อาจได้ข้อสรุป
ถามว่า ทำไมพันธมิตรรายนี้มาชวน GPSC ทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล เขาตอบว่า 'จุดเด่น' ของเราอยู่ตรงที่เป็นองค์กรที่มีเครดิตและฐานะการเงินที่ดี ฉะนั้นเมื่อไปยื่นขอกู้เงินจากสถาบันการเงินย่อมได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำ ที่สำคัญยังสามารถขอกู้เงินได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่ 70% ของมูลค่าโครงการ
เมื่อเป็นเช่นนั้นต้นทุนทางการเงินของโครงการก็จะต่ำมาก ซึ่งจะส่งผลให้มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดี ทั้งนี้พันธมิตรรายดังกล่าว ไม่ใช่มือใหม่ในวงการ ก่อนหน้านี้เขาได้ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลมาแล้ว 1 แห่ง กำลังการผลิตประมาณ 8-9 เมกะวัตต์ต่อโครงการ
'ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่า ท่ามกลางดอกเบี้ยที่ลดลง และความเสี่ยงต่างๆที่ไม่เท่ากันในแต่ละโครงการควรอยู่ระดับ 12-15% ถามว่า โอกาสจะเห็นตัวเลขมากกว่านี้มีหรือไม่ ตอบตรงนี้เลยว่า มีแน่นอน หากสามารถควบคุมเรื่องค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างให้อยู่ระดับที่เหมาะสมได้'
'พร้อมผุดพลังงานถ่านหินในพม่าและอินโดนีเซีย'
'บอสใหญ่' เล่าต่อว่า เมื่อเดือนต.ค.2557 บริษัทได้เซ็นสัญญาบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU กับรัฐบาลประเทศพม่า เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประเทศพม่า กำลังการผลิตประมาณ 2 พันเมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างรัฐบาลพม่า และพันธมิตรอีก 5 ราย โดยพันธมิตรหนึ่งในนั้น คือ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ EGATi
ในช่วงกลางปีนี้อาจสรุปผลการศึกษาได้ว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ถ้าผลการศึกษาออกมาดี ก็จะนำไปสู่การเซ็นสัญญาบันทึกข้อตกลง หรือ MOA และจะดำเนินการขายไฟฟ้ากลับเข้ามาในเมืองไทยต่อไป ทั้งนี้ GPSC ถือหุ้นในโครงการดังกล่าวประมาณ 40% ถือเป็นลีดของโครงการ 
ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้บริษัทได้ส่งแผนศึกษาความเป็นไปได้ให้กับรัฐบาลพม่าเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ เขตอิรวดี ประเทศพม่า กำลังการผลิตประมาณ 500 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนประมาณ 6-7 แสนเหรียญต่อเมกะวัตต์ ซึ่งโครงการนี้บริษัทได้ร่วมมือกับรัฐบาลพม่าและเอกชนสัญชาติไทย ล่าสุดกำลังรอรัฐบาลพม่าพิจารณา
นอกจากนั้นบริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิตประมาณ 200-300 เมกะวัตต์ ร่วมกับเหล่าพันธมิตรเมืองไทยและอินโดนีเซีย มูลค่าลงทุนยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง แต่น่าจะใช้เงินลงทุนมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ ตอนนี้บอกได้เพียงว่า จะใช้เวลาก่อสร้างโครงการประมาณ 3-4 ปี ซึ่งระยะเวลาจะนานกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซที่ดำเนินการ 2 ปีครึ่ง
'ลุยพลังงานแสงอาทิตย์เต็มตัว' 
'ลูกหม้อปตท.' เล่าว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นอีกโปรเจคที่น่าสนใจ ก่อนหน้านี้เราได้จับมือกับพันธมิตร เพื่อดำเนินโครงการโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี กำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟภ.5 ปี โดยจะต่อสัญญาอัตโนมัติทุก 5 ปี สิ้นสุดรอบแรกปี 2561-2562
ล่าสุดเราได้เข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 18 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 85.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยการถือหุ้นผ่านบริษัท Ichinoseki Solar Power-1GK ในสัดส่วน 99% เบื้องต้นเรามีแผนจะยื่นขออนุญาตขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 20 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2560
บริษัทเชื่อว่ากำลังการผลิตในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะไม่หยุดอยู่ที่ 20 เมกะวัตต์ โอกาสที่จะมีกำลังการผลิตแตะระดับ 100 เมกะวัตต์ ไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งมูลค่าการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังานแสงอาทิตย์จะอยู่ระดับ 3 ล้านเหรียญต่อเมกะวัตต์
ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการลงทุนในเมืองไทย เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่ได้ราบเรียบเหมือนบ้านเรา ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ระดับ 40 เยนต่อหน่วย ถือว่าเป็นการรับซื้อไฟฟ้าที่สูงกว่าพลังงานอื่นๆที่อยู่ระดับ 30 เยนต่อหน่วย
ทั้งนี้หากรัฐบาลไทยเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่อีกรอบ และจัดการโครงการที่ค้างท่อแล้วเสร็จ เราก็พร้อมจะเข้าไปร่วมประมูล เพราะบริษัทต้องการพัฒนาไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงในเมืองไทยเป็นหลัก แต่ที่เข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นก่อน เนื่องจากโอกาสเปิด ที่สำคัญเขาเป็นผู้นำเทคโนโลยี ฉะนั้นเราสามารถเรียนรู้แล้วนำกลับมาใช้ต่อยอดในโครงการภายในประเทศต่อไป
ปัจจุบันเรามองการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ในเมืองไทยและญี่ปุ่น ส่วนพลังงานถ่านหินตอนนี้คงหนีไม่พ้นพม่าและอินโดนีเซีย GPSC มีความพร้อมในทุกมิติ เราสามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ทุกขนาด เริ่มตั้งแต่โรงงานไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ VSPP กำลังการผลิตไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ ไล่ไปจนถึงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 700 เมกะวัตต์ ฉะนั้นเราพร้อมขยายตัวออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งแบบไปคนเดียวหรือจับมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ
'ขยายพลังงานน้ำในสปป.ลาว' 
เขา บอกว่า สำหรับเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 2 โครงการ ในประเทศสปป.ลาว โดยโครงการแรก GPSC ได้ลงทุนผ่านบริษัทในเครือชื่อ “นที ซินเนอร์ยี่” หรือ NSC ซึ่ง NSC ได้เข้าไปถือหุ้น 25% ใน XPCL ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งใน สปป.ลาว เพื่อทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีที่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายน้ำล้น (Run-of-river) ขนาดประมาณ 1,285 เมกะวัตต์
ส่วนโครงการที่สองลงทุนผ่านบริษัท ไฟฟ้าน้าลิก 1 จำกัด หรือ NL1PC ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งใน สปป.ลาว เพื่อทำโครงการโรงไฟฟ้าน้าลิก 1 ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายน้ำล้นขนาดประมาณ 65 เมกะวัตต์ ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า พลังงานน้ำยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากในสปป.ลาว แต่ในเมืองไทยคงเกิดขึ้นยาก ฉะนั้นเราคงเดินหน้าทำพลังงานน้ำในสปป.ลาวต่อไป
ส่วนธุรกิจน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU กับบริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท จัดการและพัฒนาน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTW เพื่อศึกษาโครงการพัฒนาน้ำ โดยนำน้ำเสียมาบำบัดให้มีคุณภาพเป็นน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม หากโครงการประสบความสำเร็จก็จะกลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่อื่นต่อไป ล่าสุดบริษัทมีแผนจะไปทำโครงการดังกล่าวในพัทย
'อนาคตอาจเห็นเราแตกไลน์ไปสู่ 'อุตสาหกรรมน้ำกินน้ำใช้' ในเมืองไทย และประเทศเพื่อนบ้าน วันนี้ สปป.ลาว มีน้ำดิบเยอะมาก ต่อไปเมืองเขาต้องเติบโต ฉะนั้นการบริหารน้ำให้เพียงพอย่อมสำคัญ' 

                                                'รายได้' ขยับปีละ 17% 
'นพดล ปิ่นสุภา' นายใหญ่ บมจ.โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ บอกว่า หลังโครงการต่างๆ แล้วเสร็จ เชื่อว่า ก่อนปี 2562 สัดส่วนรายได้ของบริษัทจะมีหน้าตาเปลี่ยนไป โดยรายได้จากไฟฟ้าจะอยู่ระดับ 60% ไอน้ำ 12% พลังงานแสงอาทิตย์และไบโอแมส 12% ถ่านหิน 12% ที่เหลือจะกระจายไปในส่วนอื่นๆ เช่น พลังงานลม และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น
'กำไรขั้นต้นของพลังงานแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่จะยืนในระดับตัวเลข 2 หลัก' 
สำหรับในแง่ของรายได้รวม ภายหลังบริษัทมีกำลังการผลิตเทียบเท่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 1 พันเมกะวัตต์ รายได้ในแต่ละปีจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 17% โดยการเติบโตจะมาจากในประเทศ 70% และต่างประเทศ 30% ซึ่งรายได้จากพลังงานหมุนเวียนจะคิดเป็น 10% ของรายได้รวมทั้งหมด 
โดยในช่วง 3 ปีก่อน (2555-2557) บริษัทมีรายได้หลักมาจากไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม สัดส่วน 66.25% -27.81% -1.17% ตามลำดับ ปัจจุบันเรายังมีรายได้จากต่างประเทศค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากประเทศสปป.ลาว
ผู้บริหาร ย้ำว่า สำหรับโครงการที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ โครงการผลิตสาธารณูปการ 4 ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จังหวัดระยอง มูลค่าลงทุนประมาณ 3,670 ล้านบาท แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิตไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์ และพลังงานไอน้ำ กำลังการผลิต 70 ตันต่อชั่วโมง โดยเราจะจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมเอเซียและบริเวณใกล้เคียงโครงการ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการระยะที่ 1 ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2558 และจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2560
นอกจากนั้นบริษัทยังมีโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร จังหวัดระยอง มูลค่าโครงการ 1,285 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 8 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบของกฟภ.ในปี 2560 ล่าสุดอยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาตสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับกฟภ.
ทั้งนี้หากโครงการนำร่องดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดี บริษัทก็พร้อมจะเข้าไปทำโครงการดังกล่าวในเขตพื้นที่อื่นต่อไป ปัจจุบันมีหลายจังหวัดติดต่อให้เราเข้าไปสร้างโครงการแล้ว อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้ หลังรัฐบาลมีนโยบายต้องการลดขยะในสังคม เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมอบหมายให้หน่วยงานที่มีความแข็งแรงในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดระยองนำร่องไปก่อน ซึ่งเราคือ ผู้ได้รับคัดเลือกจากภาครัฐ
อย่างไรก็ดี “ความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้า” ของ GPSC ที่ระบุไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์มีด้วยกันหลายหลายประการ เช่น 1.บริษัทพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตจากปตท.เพียงรายเดียว.2 ผลประกอบการของบริษัทอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศ
3. บริษัทกำหนดราคาจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม อ้างอิงจากราคาของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตของบริษัท เนื่องจากโครงสร้างต้นทุนของบริษัทมีลักษณะแตกต่างออกไปจากโครงสร้างต้นทุนของกฟภ 4. ลูกค้ารายใหญ่และสาคัญที่สุดของบริษัท คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) บริษัทจึงมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาลูกค้ารายใหญ่
5. โรงไฟฟ้าศรีราชา ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ โดยให้สิทธิแก่ กฟผ. ในการเปลี่ยนแปลงปริมาณไฟฟ้าที่จะรับซื้อจากบริษัทได้ ฉะนั้นหากกฟผ.สั่งลดปริมาณหรือไม่รับซื้อไฟฟ้าจากบริษัท อาจส่งผลกระทบต่อผลการดาเนินงาน ซึ่งกรณีนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วในปี 2557 ส่งผลให้รายได้รวมในปี 2557 ลดลง 9.92% เป็นต้น
'การออกไปเติบโตนอกบ้าน ถือเป็น 'จุดเด่น' ข้อหนึ่งของเรา เมื่อเทียบกับบริษัทพลังงานอื่นๆ ที่อาจมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการชนะการประมูลโรงไฟฟ้าเพียงเดียว แต่เรามีช่องทางการหารายได้หลากหลาย ทั้งจากลูกค้าในนิคมอุตสหกรรม ,บริษัทครอบครัวปตท.และลูกค้าต่างประเทศ' ลูกหม้อที่ทำงานในเครือปตท.มากว่า 26 ปี ปิดท้ายบทสนทนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น