วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

BMCLลั่นปี58กำไร อานิสงส์ควบBECL การันตีมีจ่ายปันผล

BMCLลั่นปี58กำไร
อานิสงส์ควบBECL
การันตีมีจ่ายปันผล

2015-05-21

"BMCL" การันตีปีนี้มีกำไร แถมจ่ายปันผลครั้งแรกนับแต่ตั้งบริษัทมา จากอานิสงส์ควบรวม BECL “สมบัติ” ลั่นหลังเปิดบริการสายสีม่วงตั้งแต่ปี 2559 จะไม่มีวันขาดทุน พร้อมจ่ายปันผลตลอดชีพ ส่วนเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อคาดเซ็นก.ค.นี้

นายสมบัติ  กิจจาลักษณ์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท  รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL  เปิดเผยว่า  หลังจากการควบรวมกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL แล้วเสร็จพร้อมเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ผลประกอบการปี 2558 ของ BMCL จะมีกำไร และสามารถปันผลได้ทันที 
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาผลประกอบการแยกรายบริษัทแล้วปีนี้ BMCL จะขาดทุนประมาณ 400-500 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด BMCL มีผู้โดยสารเกือบ 3 แสนคนต่อวัน และทั้งปีจะเติบโตประมาณ 7-8% ขณะปี 2557 ที่ผ่านมา BECL มีกำไร 2,000 ล้านบาท ซึ่งปีนี้จะเติบโตกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน ดังนั้นเมื่อรวมกับผลประกอบการ BMCL ที่ขาดทุนแล้วก็ยังทำให้มีกำไรได้
ขณะเดียวกันเมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ เชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในปี 2559 จะหนุนให้ BMCL มีกำไรยิ่งขึ้น เนื่องจาก BMCL จะมีรายได้เพิ่มจากการรับจ้างวิ่งบริการสายสีม่วงปีละ 1,700 ล้านบาท มีผู้โดยสารใช้บริการจากสายสีม่วงเข้าสู่สายสีน้ำเงินปัจจุบัน (สายเฉลิมรัชมงคล) ในปีแรกอีกประมาณ 50,000 คนต่อวัน โดยคาดว่าผู้โดยสารรวม 2 สายทางจะเติบโตจากปี 2557 อีก 20% รายได้โต 25% เนื่องจากผู้โดยสารใช้บริการยาวขึ้น ขณะเดียวกันประเมินว่าจะมีรายได้เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีก 10-20% ด้วย
“ปี 2558 นี้ เราจะสามารถจ่ายปันผลได้เป็นครั้งแรกในชีวิต และจากนี้ไปก็สามารถจ่ายปันผลได้ตลอดชีวิต โดยปี 2558 เราได้แรงหนุนจากการควบรวมกับ BECL ทำให้เรามีกำไร แต่ปี 2559 เป็นต้นไป เราจะไม่ใช่ภาระ BECL อีกแล้ว แต่จะเป็นตัวช่วยให้มีกำไร เพราะทันทีที่สายสีม่วงเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเราจะไม่มีทางขาดทุนอีกเลย” นายสมบัติ   กล่าว
นายสมบัติ  กล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงแบบเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบยังเป็นกำหนดเดิมคือ 12 สิงหาคม 2559 โดยปลายเดือนกันยายน 2558 รถไฟฟ้า 3 ขบวนแรก จากทั้งหมด 21 ขบวนจะเดินทางมาถึงประเทศไทย และเริ่มวิ่งทดสอบแบบแยกระบบตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2558 วิ่งทดสอบแบบรวมระบบตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2559 วิ่งทดสอบเสมือนจริงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรม แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเปิดให้บริการเร็วขึ้นกว่าเดือนสิงหาคม 2559 หากการทดสอบทุกขั้นตอนไม่มีข้อผิดพลาดเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  ระบุว่า จะสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้เร็วขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2559 เป็นเดือนมีนาคม 2559 โดยปรับกำหนดการทำงานใหม่หลังจากรับมอบรถในเดือนกันยายน 2558 ก็จะเริ่มทดสอบเสมือนจริง คือ วิ่งบริการฟรี ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2558 เป็นเวลา 4 เดือน จากคือทดสอบ 6 เดือน
พล.อ.อ.ประจิน  เปิดเผยถึงความคืบหน้างานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระ กับหัวลำโพง-บางแคว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตนได้ลงนามเห็นชอบตามที่คณะกรรมการตามาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ที่มีนายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง  รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีมติให้เจรจากับ BMCL เพื่อรับงานเดินรถสายทางนี้ โดยดำเนินการตามมาตรา 16 พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 และให้เจรจาโดยใช้วิธีจ้างงานแบบรัฐและเอกชนลงทุนร่วมกัน (Public private Partnership : PPP) ประเภทNet Cost Concession  คือ รัฐบาล เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนจะได้รับสิทธิในการรับสัมปทาน เก็บค่าโดยสารและแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลปัจจุบัน
สำหรับขั้นตอนจากนี้กระทรวงคมนาคมจะนำส่งเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม.เคยมีมติให้ว่าจ้างแบบ  PPP ประเภท Gross Cost  คือ รัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจัดเก็บค่าโดยสาร เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้า เดินรถ แล้วรัฐจ่ายเป็นเงินค่าจ้างแบบกำหนดราคาคงที่  เช่นเดียวกับสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ จึงต้องมาพิจารณาด้วยว่าจะว่าจ้าง BMCL ในรูปแบบใด ก่อนดำเนินการเจรจา และคาดว่าจะสามารถลงนามกับ BMCL ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2558 ขณะที่สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2561ถึงต้นปี 2562
พล.อ.อ.ประจิน  กล่าวเพิ่มเติมถึง  แผนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด (ระยอง) ระยะทาง 194 กิโลเมตร วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร วงเงิน 81,136.20 ล้านบาทว่า จะสามารถสรุปรายละเอียดและเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้  จากนั้นจะเปิดให้เอกชนไทยเข้าร่วมประมูล  ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี
ขณะเดียวกันในวันที่ 27-28 พฤษภาคมนี้ กระทรวงคมนาคมจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับญี่ปุ่น  ในการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน (Standard Gauge) 2 เส้นทาง คือ 1.กาญจนบุรี-แหลมฉบัง ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ระยะทาง 180 กม. กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทาง 255 กม. และกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ระยะทาง 139 กม. 2.กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 680 กม. และพร้อมดำเนินการศึกษาให้ 1 เส้นทาง คือ ตาก-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร ระยะทาง 718 กม.  โดยคาดว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะเริ่มทำการก่อสร้างได้ประมาณไตรมาส 2/2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น