วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

‘อุ๋ย’นับถอยหลังศก.ไทย

‘อุ๋ย’นับถอยหลังศก.ไทย

2015-05-07 12:00:00
ผู้เข้าชม : 4

:ใกล้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด – เร่งโครงสร้างพื้นฐาน

“หม่อมอุ๋ย” ยอมรับไทยใกล้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดรอติดตามอีก 5-6 เดือนข้างหน้า หลังหารือรัฐมนตรีคลัง ผู้ว่าแบงก์ชาติ และสภาพัฒน์ ระบุเงินเฟ้อติดลบ เพราะราคาน้ำมันปรับตัวลดลง  พร้อมแจงแผนระยะยาวให้ไอเอ็มเอฟ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า จากที่ได้หารือร่วมกับนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว ต่างเห็นว่าการที่อัตราเงินเฟ้อของไทยติดลบอยู่ในขณะนี้ ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด แต่การที่เงินเฟ้อติดลบเป็นเพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบต่อราคาโลหะมีค่าที่เป็นสินค้าส่งออกของไทยให้การส่งออกลดลง
ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจโลกทำให้เกิดการชะลอตัวในหลายประเทศ พร้อมกันนี้ยังมีปัจจัยเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งข้าว ยางพารา และน้ำตาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบ แต่ยืนยันว่ายังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ดี จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนที่ไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่นั้น คงต้องรอติดตามในช่วง 5-6 เดือนจากนี้
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีปัจจัยที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย คือ ด้านการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งเป็นแรงหนุนต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ซึ่งล่าสุดสภาพัฒน์ยืนยันว่าจีดีพีไตรมาส 1/58 จะสามารถเติบโตได้ราว 3%
ด้านนายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 48 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกับนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง, เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน และรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระหว่างวันที่ 1-6 พฤษภาคม 2558
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแนะให้สถาบันการเงินต่างประเทศมีบทบาทในการชักชวนนักลงทุนมาลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ PPPs ให้มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งเชิญชวนให้มีการจัดตั้ง International Headquarter ในประเทศไทย ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะด้านภาษี
ขณะที่การประชุมหารือกับ Mr. Takehiko Nakao, President of Asian Development Bank (ADB) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการสนับสนุนประเทศในภูมิภาคในด้านต่างๆ เช่น ด้านคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงประเทศ และด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานเพื่อยกระดับการพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค และหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPPs) โดย ADB พร้อมให้การสนับสนุนทั้งด้านการเงิน ด้านวิชาการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับ PPPs และ Infrastructure Fund แก่ประเทศไทย
นายธีรัชย์  กล่าวว่า การหารือ กับNomura Holding Inc, Daiwa Securities Group และ Bank of Tokyo – Mitsubishi UFJ (BTMU) มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการระดมทุนสำหรับโครงการลงทุนพื้นฐานของภาครัฐ การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้ต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินกู้สกุลเงินเยนที่กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจกู้จากแหล่งเงินกู้ทางการ รวมทั้งการออกพันธบัตรสกุลเงินเยน (Samurai Bond) ของรัฐบาลไทย ซึ่งนักลงทุนของญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะลงทุนจำนวนมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น