คำตอบจากสแกนดิเนเวียนโมเดล
คำตอบจากสแกนดิเนเวียนโมเดล
ในภาวะที่ธุรกิจไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันในเวทีโลกที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่สังคมไทยยังมีปัญหาความยากจน ความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในสังคม และคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยที่ตามเด็กชาติอื่นไม่ทัน รัฐบาลต้องรับภาระหนักพร้อมกันหลายด้านภายใต้งบประมาณที่จำกัด ทุกรัฐบาลต้องการลงทุนเพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีความสามารถแข่งขันเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลติดกับดักเป็นผู้อุปถัมภ์ผ่านทั้งโครงการรัฐสวัสดิการและโครงการประชานิยม สังคมไทยจึงอยู่ในสภาพดึงกันไปดึงกันมาระหว่างภาคธุรกิจที่ต้องการวิ่งไปข้างหน้า กับคนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่รู้สึกว่าตนเสียเปรียบหรือถูกทอดทิ้ง สภาพดึงกันไปดึงกันมาแบบไม่เห็นทางออกนี้ ส่งผลให้สังคมและเศรษฐกิจไทยไหลลงเรื่อยๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ
ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศทุนนิยมยักษ์ใหญ่เกือบทุกประเทศก็มีปัญหา จนหลายคนสงสัยว่าไทยควรเดินตามระบบเศรษฐกิจทุนนิยมลักษณะใด ที่จะช่วยให้ธุรกิจไทยแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และคนกลุ่มใหญ่ของประเทศได้รับการดูแลเหมาะสม ในโลกความจริงเราไม่สามารถนำระบบสังคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งไปประยุกต์ใช้กับอีกประเทศหนึ่งได้ง่าย และไม่มีระบบเศรษฐกิจใดที่จะสมบูรณ์ทุกด้าน แต่ผมคิดว่ากลุ่มสแกนดิเนเวียน (สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ และฟินแลนด์) มีแนวคิดและแนวทางที่เราควรศึกษาและนำมาประยุกต์กับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไทยได้ในหลายมิติ
คนสแกนดิเนเวียน ติดนิสัยให้รัฐบาลเป็นผู้ดูแลคุณภาพชีวิตมาหลายสิบปี ระบบเศรษฐกิจของกลุ่มนี้ จึงกลายเป็นรัฐสวัสดิการ รัฐบาลต้องขยายบทบาทเป็นผู้อุปถัมภ์ดูแลชีวิตประชาชนแทบทุกด้าน ส่งผลให้ทั้งธุรกิจและคนต้องเสียภาษีสูงมาก จนไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้คนทำงานได้เต็มศักยภาพ แม้กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียนวันนี้ จะไม่ได้เป็นมหาอำนาจในเรื่องใดเลย แต่มีระบบสังคมและเศรษฐกิจที่มีคุณภาพสูงมาก คนสแกนดิเนเวียนมีคุณภาพชีวิตและระดับการศึกษาอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของทุกประเทศในกลุ่มนี้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ขีดความการแข่งขันของฟินแลนด์และสวีเดนติดห้าอันดับแรกของโลก ส่วนเดนมาร์กและนอร์เวย์อยู่ไม่เกินอันดับที่สิบห้า และที่น่าสนใจคือขณะที่เพื่อนบ้านในยุโรปเกือบทุกประเทศมีปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนี้กลับมีภูมิคู้มกันสูง ขยายตัวได้ต่อเนื่อง และพันธบัตรรัฐบาลของกลุ่มนี้ทุกประเทศยังมีอันดับความน่าเชื่อถือ AAA
บทบาทรัฐอุปถัมภ์ของรัฐบาลสแกนดิเนเวียนคล้ายกับที่หลายคนกังวลว่า จะเป็นปัญหาสำหรับเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพราะคนไทยติดใจนโยบายประชานิยม ทำอย่างไรที่ภาระของรัฐบาลในอนาคต จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสามารถการแข่งขันของธุรกิจไทย ผมเก็บข้อสงสัยนี้มานานว่ากลุ่มนี้มีแนวทางอย่างไร จึงควบคุมภาระของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ และประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างที่เป็นทุกวันนี้ โชคดีที่หนังสือพิมพ์ The Economist ฉบับวันที่ 2-8 ก.พ.2556 มีรายงานพิเศษเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มนี้ จึงขอนำประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง
ประเด็นแรก คนสแกนดิเนเวียนจริงจังสูง ส่งผลให้นักการเมืองกล้าตัดสินใจทำเรื่องยากๆ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ความเป็นรัฐสวัสดิการทำให้ภาครัฐมีขนาดใหญ่มาก สร้างภาระภาษีสูงมากให้ภาคธุรกิจ รวมทั้งสร้างความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการคลัง รัฐบาลของหลายประเทศสแกนดิเนเวียน จึงได้ตัดสินใจลดขนาดของภาครัฐลง ลดหนี้สาธารณะ แก้ปัญหาการขาดดุลการคลังอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญลดภาระผูกพันภายหน้าด้วยการปฏิรูประบบบำนาญ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่หลายประเทศในยุโรปไม่กล้าทำ สวีเดนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูประบบการคลังและระบบบำนาญ สามารถลดรายจ่ายภาครัฐจาก 67% ของ GDP ในปี 1993 เหลือ 49% ของ GDP ในปีที่ 2012 ลดหนี้สาธารณะลงจาก 70% เหลือ 30% ของ GDP และงบประมาณที่เคยขาดดุลเกิน 10% ของ GDP ในแต่ละปีได้กลับเป็นเกินดุล
ประเด็นที่สอง รัฐบาลในกลุ่มนี้ได้ปรับวิธีการให้บริการสวัสดิการสังคม จากที่รัฐเป็นผู้วางแผน กำหนดรูปแบบ และให้บริการ มาเป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนให้ประชาชนไปเลือกใช้บริการตามที่ตัวเองต้องการ เนื่องด้วยประชาชนได้รับเงินอุดหนุนจำกัด ทุกคนจึงระมัดระวังการใช้จ่ายเงินอุดหนุนมากกว่าเดิม ที่สำคัญคือทำให้ผู้ให้บริการต้องแข่งขันกัน สวีเดนและเดนมาร์กเป็นผู้นำในระบบคูปองโรงเรียน ผู้ปกครองสามารถส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนรัฐ หรือโรงเรียนเอกชนที่ไหนก็ได้ โดยใช้คูปองที่ได้รับจากรัฐบาลจ่ายค่าเทอม ระบบนี้ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาของเด็กนักเรียนโดยรวมดีขึ้นมาก มีคะแนนสอบมาตรฐานสูงเป็นระดับต้นๆ ของโลก ในด้านการรักษาพยาบาลก็คล้ายกัน เกิดโรงพยาบาลและคลินิกเอกชนขึ้นจำนวนมาก เพื่อแข่งขันกับโรงพยาบาลของรัฐ ผู้ป่วยเลือกใช้บริการสถานพยาบาลที่ใดก็ได้ภายในสิทธิ์ที่รัฐบาลอุดหนุน แนวคิดแบบ choice and competition เป็นการนำกลไกตลาดเข้ามาประยุกต์ในการให้บริการสวัสดิการสังคม ส่งผลให้ผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการตลอดเวลา รวมทั้งลดไขมันต่างๆ ที่เคยแฝงอยู่ในรายจ่ายภาครัฐอีกด้วย
ประเด็นที่สาม รัฐบาลของกลุ่มประเทศนี้ เชื่อว่าบทบาทรัฐสวัสดิการกับการสร้างความสามารถแข่งขันของธุรกิจ ต้องเสริมซึ่งกันและกัน ในอดีตแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการแรงกว่าเรื่องการแข่งขัน จนสร้างภาระให้แก่ภาคธุรกิจมากเกินควร ทั้งภาระภาษีและกฎเกณฑ์กติกาในการทำธุรกิจ ตัวอย่างหนึ่งคือแนวคิดด้านตลาดแรงงาน ขณะที่หลายประเทศในยุโรป มีกฎเกณฑ์คุ้มครองแรงงานจนธุรกิจขาดความคล่องตัว และตลาดแรงงานขาดความยืดหยุ่นจนไม่สามารถลดปัญหาการว่างงานได้ เดนมาร์กได้เป็นผู้นำในการปฏิรูประบบการจ้างงาน เปิดโอกาสให้ธุรกิจเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามที่เห็นสมควร คนตกงานจะเป็นภาระที่รัฐบาลต้องดูแลและช่วยหางานใหม่ให้ วิธีคิดแบบนี้ทำให้ธุรกิจแข่งขันได้ ขณะที่คนตกงานก็ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ รัฐบาลของกลุ่มประเทศนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างผู้นำธุรกิจเฉพาะทาง (niche market) ที่ขายของได้ทั่วโลก และส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมจริงจัง เปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถด้านนวัตกรรมใช้ศักยภาพของตนได้เต็มที่ ไม่ว่าจะมาจากคนกลุ่มใดของสังคม รัฐบาลเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุน และสนับสนุนทุกขั้นตอนการทำธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (มากกว่าที่จะเอากฎเกณฑ์ของทางการเป็นตัวตั้ง) ใครจะคิดว่าบริษัทที่สร้างการ์ตูน Angry Bird จะตั้งอยู่ในเฮลซิงกิ และไม่น่าเชื่อว่าโคเปนเฮเกนกลายเป็นเมืองศูนย์กลางร้านอาหาร fusion ชั้นนำของโลก
ประเด็นที่สี่ คนในกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์ และความโปร่งใสของรัฐบาล และนักการเมือง โดยตรวจสอบพฤติกรรมของนักการเมืองใกล้ชิด ส่งผลให้คะแนนด้านคอร์รัปชันของประเทศในกลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มสิบอันดับดีที่สุดของโลก จึงทำให้ประชาชนไว้ใจในสิ่งที่รัฐบาลคิดและรัฐบาลทำ ส่งผลให้คนกลุ่มนี้กล้าลองของใหม่ และปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศได้ตามที่รัฐบาลเสนอโดยไม่แคลงใจว่ารัฐบาล อาจทำเพื่อประโยชน์ของตนหรือพวกพ้อง วัฒนธรรมที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์และความโปร่งใส ส่งผลให้สังคมสแกนดิเนเวียนมีระดับความไว้เนื้อเชื่อใจสูง ทั้งต่อรัฐบาล และระหว่างคนในสังคมด้วยกันเอง ความไว้เนื้อเชื่อใจนี้ได้ทำให้เกิดคุณูปการมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะตกลงคำไหนเป็นคำนั้น ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจต่ำ ไม่ต้องกังวลกับค่าทนายหรือค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง และยังส่งผลให้ระบบราชการของสแกนดิเนเวียนรักษาคนเก่งให้ทำงานในระบบราชการได้ แม้ข้าราชการจะได้เงินเดือนต่ำกว่าภาคเอกชน แต่ยินดีทำงานเพื่อสังคม เพราะมีเกียรติและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน
ประเด็นสุดท้าย วัฒนธรรมการเมืองและการบริหารจัดการในกลุ่มประเทศนี้ นิยมหาข้อสรุปร่วมกันระหว่างผู้ที่เห็นด้วยกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย ต่างจากวัฒนธรรมการเมืองและการบริหารจัดการที่มุ่งจะเอาชนะ หรือใช้เสียงข้างมากลากไปโดยไม่สนใจข้อกังวล หรือความเป็นห่วงของเสียงข้างน้อย การมุ่งมั่นที่จะหาข้อสรุปร่วมกัน ทำให้ผู้นำทุกระดับต้องมองด้านบวกมากกว่าด้านลบ มองถึงผลประโยชน์ร่วมกัน ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง รู้จักที่จะนำความคิดเห็นของเสียงส่วนน้อยมาปรับปรุงเพื่อหาทางออกร่วมกัน วัฒนธรรมแบบนี้นอกจากจะช่วยให้มองประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบแล้ว ยังจะช่วยลดความแตกแยกในสังคมด้วย
วันนี้สังคมและเศรษฐกิจไทยอยู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ สแกนดิเนเวียนโมเดล อาจเป็นคำตอบหนึ่ง ที่ช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งในสังคม และลดอุปสรรคสำหรับการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย ในห้าประเด็นข้างต้นนั้น เริ่มทำข้อไหนก่อนก็ได้ครับ ยังไม่สายเกินไป
ดร. วิรไท สันติประภพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น