วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

กลยุทธ์สู่ความมั่งคั่ง : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

กลยุทธ์สู่ความมั่งคั่ง : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


เด็กจบปริญญาตรีใหม่ ๆ หรือเพิ่งเริ่มทำงานมาได้สักพักหนึ่งบางคนนั้น บางทีก็ “ฝัน” ที่จะร่ำรวยด้วยการลงทุนในหุ้น พวกเขารู้สึกว่าหุ้นนั้นสามารถทำให้คนรวยได้เร็วและเหนื่อยน้อยที่สุด ว่าที่จริงพวกเขาอาจจะคิดว่าการทำงานกินเงินเดือนนั้น “ไม่มีทางรวย” เพราะเขาอาจจะลองนับดูเงินเดือนที่จะได้รับหรือได้รับแต่ละเดือนแล้วก็พบว่ามันแค่พอกินพอใช้หรือบางทีก็ไม่ใคร่พอด้วยซ้ำ โอกาสที่จะรวยนั้นไม่มีแน่นอน แต่ถ้า “เล่นหุ้น” และประสบความสำเร็จอย่าง “เซียน” หลาย ๆ คนที่อ้างว่าเริ่มลงทุนด้วยเงินเพียงน้อยนิดหลักหมื่นหรือแสนบาทแล้วกลายเป็นเงินหลายสิบหรือหลายร้อยล้านบาทในเวลาไม่กี่ปี โอกาสรวยเป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีก็เป็นไปได้ ดังนั้น คนหวังรวยเร็ว ๆ ซึ่งก็เป็นแนวความคิดของเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากจึงมุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้นและทุ่มเทให้กับการลงทุนหรือเล่นหุ้นจนอาจจะ “ลืม” คิดถึงความเป็นจริงที่อาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่ตนเองรับรู้มา หรือความเป็นจริงของตนเองที่อาจจะไม่เหมาะกับการยึดถือการลงทุนเป็นอาชีพตั้งแต่เริ่มต้นทำงานหลังจากเรียนจบ

ผมคิดว่าคนที่หวังจะร่ำรวยเร็ว ๆ จากเงิน “เริ่มต้น” ที่น้อยหรือไม่มีเลยนั้น จำเป็นที่จะต้องกำหนดกลยุทธ์ใหญ่หรือยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องสำหรับตนเองเสียก่อน ประการแรกก็คือ ดูว่าตนเองมีจุดแข็งหรือความสามารถโดดเด่นทางด้านไหน ถ้าเป็นคนเรียนเก่งและจบมาทางสายวิทยาศาสตร์ เช่น วิศวกรรมหรือแพทย์ หรือไม่ก็จบทางด้านที่เกี่ยวกับการเงินหรือธุรกิจในสถานศึกษาชั้นนำของประเทศ ในกรณีแบบนี้ เราก็มี “แต้มต่อ” ในเรื่องของการทำงานในองค์กรธุรกิจ และถ้าเราขยันขันแข็งและมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี โอกาสที่เราจะทำเงินได้มากและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมั่นคงก็จะมีมาก และนี่เป็นหนทางที่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้ ว่าที่จริงในสังคมไทยยุคใหม่นี้ พนักงานที่ทำงานจนร่ำรวยหรือมีความมั่งคั่งนั้น มีไม่น้อยเลยและจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามแบบอย่างของประเทศที่เจริญแล้ว ดังนั้น ถ้าใครมีคุณสมบัติดังกล่าว ผมคิดว่าเราต้องใช้มันเต็มที่ นั่นก็คือ มุ่งหน้าสู่การทำงานในธุรกิจที่กำลังเติบโตเร็ว ในบริษัทที่เปิดโอกาสให้เราเติบโตได้จนสามารถกลายเป็นผู้บริหารระดับสูง และเมื่อถึงจุดนั้น เราก็จะมีความมั่งคั่งโดยที่มีความเสี่ยงน้อย และในกรณีอย่างนี้ การทุ่มเทให้กับการทำงานคือสิ่งที่เราจะต้องทำอย่างเต็มที่

ในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้น “บูม” มานานนับสิบปีอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้และทำให้มีนักลงทุนที่รวยจากการลงทุนในหุ้นจำนวนมากรวมถึงคนหนุ่มสาวที่อายุเพิ่งจะสามสิบบวกลบ คนจำนวนมากจึงคิดว่าตลาดหุ้นหรือการลงทุนคือสิ่งที่สามารถทำให้เรารวยได้เร็วและง่าย ดังนั้น เส้นทางการลงทุนจึงเป็นเส้นทางที่หลายคนเลือกตั้งแต่เรียนจบใหม่ ๆ หรือเพิ่งทำงานมาไม่นาน หลายคนทุ่มเทกับการวิเคราะห์หาหุ้นลงทุนโดยที่ให้ความสำคัญกับงานประจำน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเพราะเขาอาจจะคิดว่างานนั้นเป็นแค่ “ส่วนเสริม” ของการมุ่งหน้าสู่ความมั่งคั่ง พวกเขาอาจจะคิดว่าเมื่อถึงวันหนึ่งในอีกไม่นาน เขาจะลาออกจากงานและมาเป็นนักลงทุนเต็มตัว ส่วนบางคนนั้น พวกเขาปฏิเสธการทำงานหรือเลิกทำไปแล้วทั้ง ๆ ที่เงินลงทุนยังไม่มากพอที่จะมี “อิสรภาพทางการเงิน” แต่พวกเขาคิดว่าเขาสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีพอที่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและมีส่วนเกินที่จะนำไปลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นคนที่ร่ำรวยได้ เขาเชื่ออย่างนั้นเนื่องจากผลงานที่ผ่านมาหลายปีนั้นสูงขนาดปีละอาจจะ 50% หรือ เกิน 100% และเขามั่นใจว่าการทำผลตอบแทนปีละ20%-30% ขึ้นไปนั้น เป็นสิ่งที่ง่ายมากไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรในอนาคต ซึ่งผมคิดว่า พวกเขาคิดผิด!

ผมคิดว่าการที่จะพิสูจน์ได้ว่านักลงทุนคนไหนมี “ความสามารถสูงเป็นพิเศษ” ได้จริงนั้น เขาจะต้องผ่านการลงทุนที่ยาวนานระดับอย่างน้อย 15-20 ปีขึ้นไป และสร้างผลตอบแทนที่ผมอยากเรียกว่า “Total Return” อย่างน้อย 20% ต่อปีแบบทบต้น โดยที่เงินเริ่มต้นที่จะเริ่มบันทึกจะต้องมีนัยสำคัญสำหรับเขานั่นก็คือ ไม่ใช่เงินเล็กน้อยที่เขาอาจจะเสียไปครึ่งหนึ่งโดยไม่ได้รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ ตัวอย่างเช่น เงินเริ่มต้นที่จดบันทึกผลตอบแทนนั้น อาจจะเท่ากับรายได้จากการทำงาน 4-5 ปี ของเขา และเขาก็ไม่มีแหล่ง “เงินสำรอง” อื่น เช่น เงินจากพ่อแม่ที่มีฐานะและพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนเมื่อเกิดความจำเป็น และด้วยการวัดแบบนี้ ผมเชื่อว่า เราอาจจะพบว่าจำนวน “เซียนหุ้น” ในตลาดหุ้นไทยอาจจะลดลงไปมาก เหตุผลที่ผมต้องกำหนดระยะเวลาการวัดผลงานที่ยาวนานนั้นเป็นเพราะว่าในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น เป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจะอยู่ในช่วงบูมจัดที่ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนจะสูงโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความสามารถมากนัก ส่วนเรื่องผลตอบแทนทบต้นปีละ 20% นั้นผมตั้งไว้เพราะพอร์ตเริ่มต้นของคนหนุ่มสาวอาจจะไม่ใหญ่นักซึ่งทำให้อาจจะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าปกติได้ ในกรณีที่เริ่มลงทุนด้วยพอร์ตขนาดใหญ่เป็น 10 ล้านบาทขึ้นไปนั้น ผมคิดว่าผลตอบแทนถ้าได้ถึง 15% ต่อปีขึ้นไปก็ต้องถือว่ามีฝีมือในการลงทุนเป็นพิเศษแล้ว

ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดอีกเรื่องหนึ่งก็คือคำว่า Total Return หรือ “ผลตอบแทนรวม” ของการลงทุน เพราะนี่เป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจเวลาวัดผลหรือวัดความสามารถในการลงทุนของตนเอง ก่อนอื่นต้องกำหนดเสียก่อนว่าเม็ดเงินหรือพอร์ตการลงทุนรวมของตนเองคือเท่าไรเสียก่อน บางคนอาจจะคิดว่าเงินที่ตนเองเอามาลงทุนใน “หุ้น” คือพอร์ตรวมของตนเอง ดังนั้น เวลาวัดผลก็จะดูว่าในแต่ละปีได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นเท่าไรแล้วก็บวกด้วยปันผล ในกรณีแบบนี้ผมคิดว่าไม่เหมาะ เพราะถ้าส่วนที่เรานำมาลงทุนในหุ้นนั้นมีเพียงนิดเดียว ต่อให้ผลตอบแทนในหุ้นจะสูงมาก มันก็ไม่ทำให้เรารวยหรือทำให้ผลตอบแทนเม็ดเงินของเราทั้งหมดสูงขึ้นมาได้มาก วิธีที่ผมคิดว่าดีกว่าก็คือ กำหนดว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้างที่เราไม่ได้ใช้เองและสามารถนำไปหารายได้ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ถือว่าเป็นเงินลงทุนหมด

ตัวอย่างเช่น เงินฝากธนาคารและหุ้นกู้หรือพันธบัตรที่มีรายได้จากดอกเบี้ย คอนโดที่เราซื้อมาไม่ใช่เพื่ออยู่อาศัยแต่นำไปปล่อยเช่าซึ่งค่าเช่าก็เป็นผลตอบแทน แบบนี้ถือเป็นเงินที่ต้องนับรวมในพอร์ตการลงทุน ส่วนบ้านที่เราใช้อยู่อาศัยนั้นไม่นับเป็นเงินลงทุนเช่นเดียวกับรถยนต์ที่เราใช้ ส่วนเครื่องเพชรและทองรูปพรรณที่เราใช้ในการแต่งตัวนั้นไม่ถือเป็นเงินลงทุนในขณะที่ทองแท่งนั้น แม้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดรายได้แต่มัน “พร้อมขาย” และเราตั้งใจซื้อเพื่อลงทุนก็ต้องนับรวมในพอร์ตของเรา เมื่อเรากำหนดได้ทั้งหมดแล้วว่าอะไรเป็นทรัพย์สินเพื่อการลงทุน เราก็จะคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินทุกรายการตาม “ราคาตลาด” ในตอนต้นปีของแต่ละปี กรณีที่ไม่มีราคาตลาดที่เราสามารถขายได้ชัดเจนเช่น คอนโด เราก็ควรกำหนดราคาที่ “อนุรักษ์นิยม” เช่น ใช้ราคาที่ซื้อมาแม้ว่าเราจะคิดว่าราคามันน่าจะเพิ่มขึ้นแล้ว เป็นต้น ส่วนกรณีของทองแท่งนั้น เราสามารถใช้ราคาตลาดได้เนื่องจากมันสามารถถูกนำไปขายได้จริง หลังจากนั้นเราก็รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดดังกล่าวและกำหนดว่านี่คือทุนทั้งหมดที่เรามีในการลงทุน

ผลตอบแทนรวมหรือ Total Return นั้นก็คือมูลค่าของทรัพย์สินที่เรามีทั้งหมดตอนปลายปี ลบตอนต้นปีแล้วหารด้วยมูลค่าพอร์ตทั้งหมดตอนต้นปีคูณด้วย 100 ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ผลตอบแทนต่อปี และเราทำแบบนี้ปีแล้วปีเล่า ถ้าตัวเลขเฉลี่ยแบบทบต้นสูงถึง 15%-20% ก็แสดงว่าเรามีความสามารถในการลงทุนสูงจริง แต่ความสามารถนี้ไม่ใช่เกิดจากการลงทุนในหุ้นหรือเลือกหุ้นเก่งเพียงอย่างเดียว แต่มันหมายความว่าเราสามารถจัดสรรเงินลงทุนในทรัพย์สินที่ถูกต้องด้วย นั่นก็คือ เราจัดสรรเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูง นั่นก็คือหุ้นซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่น อย่างไรก็ตาม การจัดเงินไปลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่นด้วยนั้น มันสามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนได้ และนั่นก็อาจจะทำให้เราตัดสินใจยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลงบ้างโดยไม่ลงทุนในหุ้นทั้ง 100% และนี่ก็คือตัวเลขที่จะบอกว่าเรามีความสามารถในการลงทุนมากพอที่จะใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองหรือไม่

*********************

กลยุทธ์สู่ความมั่งคั่ง 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Monday, 19 January 2015

โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/01/19/1516

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น