วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2558

หุ้นสื่อสารตีปีก ประมูลคลื่น4G ไม่เกินส.ค.ปีนี้

หุ้นสื่อสารตีปีก
ประมูลคลื่น4G
ไม่เกินส.ค.ปีนี้

ข่าวหน้าหนึ่ง วันอังคารที่ 06 มกราคม 2558 

กสทช.กางแผนดำเนินงานปี 58 เร่งประมูล 4G จำนวน 4 ใบอนุญาต หลัง 17 ก.ค.นี้หรือไม่เกินเดือนส.ค.นี้ รองรับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล พร้อมสอดรับคลื่น 900 หมดสัมปทาน 30 ก.ย.นี้ ล่าสุดอยู่ระหว่างรอคสช.เห็นชอบจัดทำหลักเกณฑ์การประมูล
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานในปี 2558 สำนักงาน กสทช.เดินหน้าจัดประมูล 4G จำนวน 4 ใบอนุญาต แบ่งเป็นคลื่น 1800MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต และคลื่น 900MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต เพื่อรองรับความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรองรับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล
โดย กสทช.ได้ทำหนังสือไปยังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วตั้งแต่เมื่อกลางเดือนธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา เพื่อขอความเห็นชอบในการะบวนการก่อนที่จะมีการประมูล 4G จะต้องมีการจัดทำหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น ราคากลาง หลักเกณฑ์ในการประมูลต่างๆ คาดว่าจะต้องเวลาไม่น้อยกว่า 5-6 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอ คสช.เห็นชอบ และหากเริ่มกระบวนการได้ในเดือนก.พ.นี้ จะเสร็จสิ้นภายในเดือนก.ค. 2558
กระบวนการนี้ กสทช.เห็นว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคาะราคาประมูลแต่อย่างใด ส่วนการเคาะราคาประมูลจะทำหลังจากวันที่ 17 ก.ค. 2558 ดังนั้นก็จะไม่ขัดกับประกาศ คสช.ที่กำหนดไว้ให้ชะลอการประมูล 4G ออกไป 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 2557
“คลื่น 900MHz ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC จะหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 30 ก.ย. 2558 เราจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่คลื่น 900MHz หมดสัญญาสัมปทาน เนื่องจากจะได้ไม่ต้องเข้าสู่มาตรการเยียวยา โดยทั้งหมดจะดำเนินการเปิดประมูลหลังจากวันที่ 17 ก.ค. 2558 โดยจะมีการจัดประมูลไล่เลี่ยกันทั้ง 2 คลื่น ถ้าประมูลเดือนส.ค.เราก็จะออกใบอนุญาตภายในเดือนก.ย.ทันที” นายฐากร กล่าว
ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ได้ประกาศพร้อมเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 4G ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558
นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช.ยังคงเดินหน้าแจกคูปองทีวีดิจิตอลให้ครบทั้ง 14.1 ล้านครัวเรือน โดยจะทยอยแจกในอำเภอที่มีสัญญาณครอบคลุมตั้งแต่ 80% แล้วอย่างต่อเนื่อง และจะเสนอต่อ คสช.ขอแจกคูปองให้กับกลุ่มผู้ที่ใช้ทะเบียนบ้านชั่วคราว กลุ่มที่ตกสำรวจ ผู้ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านพักข้าราชการ
หลังจากในปี 2557 ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.ได้ทำการแจกคูปองออกไปแล้ว 3 ครั้ง เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 7,045,896 ฉบับ ในพื้นที่ 45 จังหวัด และในปัจจุบันมีผู้นำคูปองดิจิตอลทีวีไปใช้แลกซื้ออุปกรณ์เพื่อการรับชมแล้วประมาณ 2.4 ล้านฉบับ คิดเป็น 37-38% ของจำนวนคูปองที่สำนักงาน กสทช.แจกออกไป
อีกทั้งในปี 2558 สำนักงาน กสทช.จะให้ใบอนุญาตประกอบการให้บริการโทรทัศน์ประเภทกิจการบริการสาธารณะอีก 3 ใบอนุญาต โดยเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้มีการพิจารณาการให้ใบอนุญาตประกอบการให้บริการโทรทัศน์ ประเภทกิจการบริการสาธารณะ ช่องรัฐสภา หลังจากในปี 2557 ที่ผ่านมา ได้ให้ใบอนุญาตประกอบการให้บริการโทรทัศน์ประเภทกิจการบริการธุรกิจจำนวน 24 ใบอนุญาต และใบอนุญาตประกอบการให้บริการโทรทัศน์ ประเภทกิจการบริการสาธารณะไปแล้ว 3 ใบอนุญาต
ขณะเดียวกัน สำนักงาน กสทช.มีแผนปรับปรุงคลื่นความถี่ประมาณ 15 ย่านความถี่ เช่น ย่านความถี่ 146-148MHz โดยปรับปรุงสำหรับวิทยุสมัครเล่นให้เป็นกิจการหลัก, ย่านความถี่ 470-510MHz ปรับปรุงเพื่อใช้ในกิจการกระจายเสียงได้ด้วย, ย่านความถี่ 510-960MHz ปรับปรุงให้ใช้ในกิจการโทรคมนาคม, ย่านความถี่ 2300-2400MHz และย่านความถี่ 2500-2600MHz ปรับปรุงเพื่อนำไปใช้เป็น IMT จากตารางความถี่ของแผนแม่บทเดิมเพื่อนำเสนอให้ กสทช.พิจารณาก่อนจะเสนอไปยังที่ประชุม WRC หรือ World Radio Conferences เพื่อให้การใช้ความถี่ของไทยเป็นไปตามมาตรฐานโลก
อีกทั้ง สำนักงาน กสทช.เร่งรัดให้มีการเปิดประมูลเลขสวยจำนวน 300,000 เลขหมายให้เสร็จภายในปีนี้ โดยเงินที่เกิดจากการประมูลทั้งหมดจะนำส่งรัฐให้เป็นรายได้แผนดินเพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้พัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งคาดว่าจะนำเงินส่งเข้าคลังมากกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำราคาประมูลเริ่มต้น และคาดว่าจะสามารถประกาศเงื่อนไขในการประมูลได้ในเดือนเม.ย.-พ.ค. 2558 จากนั้นจะเริ่มนำเลขสวยทยอยออกมาประมูล
รวมไปถึงการเร่งรัดให้ซิมเติมเงินต้องลงทะเบียน ซึ่งปัจจุบันมีการลงทะเบียนไปแล้ว 1.3 ล้านเลขหมาย ส่วนที่เหลือจะให้ภาครัฐออกนโยบายบังคับใช้ โดยเตรียมจัดทำรายละเอียดเสนอรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบเร็วๆ นี้ โดยให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 6 เดือน จากเดิมต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 ปี
รวมทั้งกำหนดให้ประชนที่ใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่าน Wi-Fi ต้องมีการลงทะเบียนแสดงตัวตนด้วยการใส่หมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัว เพื่อยืนยันการตรวจสอบการใช้งานป้องกันทั้งความปลอดภัย การสร้างความมั่นคง ลดข้อมูลส่วนตัวไปใช้งานในทางที่ผิด รวมถึงการแฮ็กข้อมูลส่วนตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น