วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

ราคาหุ้นรายตัวไตรมาสแรก ปี 2557 รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2557 

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: ราคาหุ้นรายตัวไตรมาสแรก ปี 2557

รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 206 คน
ผลพวงจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ ผสมโรงกับตัวเลขเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้หนังสือพิมพ์ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ทำการรวบรวมข้อมูลความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 57 เพื่อเปรียบเทียบราคาหุ้นว่าหุ้นตัวไหนปรับตัวขึ้นโดดเด่น และหุ้นตัวไหนปรับตัวลงแรงอย่างไม่คาดคิด เพราะในสถานการณ์ที่มีความผันผวนตลอดเวลา ข้อมูลตัวเลขจะเป็นเครื่องมือนำทางให้แก่นักลงทุนได้ดีที่สุด

ถึงกระนั้นต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า หุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงบางตัวเกิดจากการเข้ามาเล่นเก็งกำไรเกินความเหมาะสม ซึ่งเป็นผลมาจากนักลงทุนรายย่อยหันมาลงทุนในหุ้นขนาดเล็กแทนหุ้นขนาดใหญ่ เพื่อลดความเสี่ยงจากแรงเทขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศ

ผลดังกล่าวทำให้หุ้นมากหน้าหลายตาเข้ามาติดอยู่ในโผหุ้นขึ้นแรงหุ้นลงแรงเป็นจำนวนมาก และการเรียงลำดับในครั้งนี้ไม่ได้นำเอาผลประกอบการของบริษัทเป็นที่ตั้ง ดังนั้นข้อมูลที่ปรากฏจึงเป็นการเทียบเคียงด้านเดียวเท่านั้น ไม่ได้บ่งชี้ว่า ราคาหุ้นแพงเกินพื้นฐาน หรือถูกกว่าพื้นฐาน แต่เป็นการหยิบยกความเคลื่อนไหวของหุ้นมาอธิบายให้นักลงทุนทราบเท่านั้น

สำหรับหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงสุด 3 อันดับแรกของ SET พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงเกิน 70% คือ 1) บริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MAX โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 0.15 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 0.35 บาท เปลี่ยนแปลง 0.20 บาท หรือ เปลี่ยนแปลง 133.33% น่าจะเป็นผลมาจากความเชื่อที่ว่า บริษัทกำลังจะเทิร์นอะราวด์ หลังตัวเลขขาดทุนน้อยลง

ส่วนอันดับ 2) บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) หรือ SMPC โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 20.20 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 38 บาท เปลี่ยนแปลง 17.80 บาท หรือ เปลี่ยนแปลง 88.12% โดยหลังจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้พ้นเหตุอาจถูกเพิกถอน และเปิดให้ซื้อขายตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 56 ก็มีนักลงทุนเข้ามาไล่ซื้อหุ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับกำไรปี 56 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้นักลงทุนเข้าไปไล่ซื้อหุ้นกันคึกคัก

ขณะที่อันดับ 3) บริษัท แอสเซท ไบร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ ABC โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 3.20 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค.57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 5.50 บาท เปลี่ยนแปลง 2.30 บาท หรือ เปลี่ยนแปลง 71.88% มีการพูดถึงสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงนั้น น่าจะมาจากผู้ถือหุ้นใหญ่โยนหุ้นกันเอง เพราะหุ้นส่วนใหญ่อยู่ในมือเจ้าของ นักลงทุนรายย่อยไม่มีสิทธิ์ได้เป็นเจ้าของ

ส่วนหุ้นที่ปรับตัวลงแรงสุด 3 อันดับแรกของ SET พบว่า ติดลบสูงกว่า 30% คือ 1) บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 10.80 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 1.49 บาท ลบไป 9.31 บาท หรือลงไป 86.20% คงมาจากผลประกอบการปี 56 ที่ออกมาขาดทุน ส่งผลให้นักลงทุนหมดความเชื่อมั่น จึงมีแรงเทขายหุ้นออกมาเรื่อยๆ

ส่วนอันดับ 2) บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ INSURE โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 68 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 44 บาท ลบไป 24 บาท หรือลงไป 35.29% 3) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มิลเลียนแนร์ หรือ MIPF โดยวันที่ 27ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 18.70 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 12.80 บาท ลบไป 5.90 บาท หรือลงไป 31.55%

ในส่วนนี้มีประเด็นให้นักลงทุนขบคิดมากนิดหนึ่ง เพราะหุ้นที่เอ่ยถึงแต่ละตัวมีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดฯน้อยมาก และบางตัวก็เป็นกองทุนอสังหาฯที่อายุงวดลงเรื่อยๆ ขณะที่อันดับถัดลงมามีทั้งหุ้นหลากหลายประเภทคละเคล้ากันไป

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาหุ้นขนาดเล็กอย่างกลุ่ม mai พบว่า หุ้น 3 อันดับแรกมีการเปลี่ยนแปลงเกินกว่า 40% คือ 1) บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ L&E โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 20.20 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 34.75 บาท เปลี่ยนแปลง 14.55 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 72.03% ล้วนเป็นผลมาจากผลประกอบการของบริษัทเติบโตแข็งแกร่ง

ส่วนอันดับ 2) บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IRCP โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 6.50 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 9.60 บาท เปลี่ยนแปลง 3.10 บาท หรือ เปลี่ยนแปลง 47.69% ล้วนเป็นผลมาจากผลประกอบการที่เติบโตแข็งแกร่ง 3) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 17.70 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 25.50 บาท เปลี่ยนแปลง 7.80 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 44.07% ล้วนเป็นผลมาจากผลประกอบการที่เติบโตแข็งแกร่ง

ตรงนี้เป็นการย้ำว่า หุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงของตลาด mai อิงกับผลประกอบการเป็นหลัก

ส่วนหุ้นที่ปรับตัวลงมากสุดใน mai 3 อันดับแรกพบว่า ปรับตัวลงเกินกว่า 15% คือ 1) บริษัท ไฮโดรเท็ค จำกัด (มหาชน) หรือ HYDRO โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 4.02 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 2.64 บาท ลดลงไป 1.38 บาท หรือ เปลี่ยนแปลง 34.33% เป็นไปตามผลประกอบการปี 56 ที่มีผลขาดทุนเกิดขึ้น

ส่วนอันดับ 2) บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 0.83 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 0.55 บาท ลบไป 0.28 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 33.73% ได้รับผลกระทบจากผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องเช่นกัน 3) บริษัท โอเชี่ยน คอมเมิรช จำกัด (มหาชน) หรือ OCEAN โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.08 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 0.88 บาท ลบไป 0.20 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 18.52% ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากๆ เพราะผลประกอบการปีนี้พลิกกลับมามีกำไร แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวลงเรื่อยๆ

เหล่านี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่นักลงทุนต้องทำการสแกนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อหาข้อสรุปที่ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า การขึ้นลงของหุ้นสมเหตุสมผลแค่ไหน โดยมีสัดส่วนทางการเงิน แผนธุรกิจ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเป็นเกณฑ์ชี้วัด นอกเหนือจากราคาหุ้นที่แปรปรวนไปมา

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น