หั่นอาร์พี0.25% รับศก.แผ่ว
*** "โต้ง"อัด กนง.ลดน้อยและช้าเกินไป -หุ้นดิ่ง 17 จุด
กนง.หั่นดอกเบี้ยอาร์/พีลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.50% รับมือ ศก.ชะลอตัว หลังไตรมาสแรกจีดีพีโตต่ำกว่าที่คาด "โต้ง"ระบุ ลดน้อยและช้าเกินไป ชะลอเงินบาทแข็งค่าได้แค่ช่วงสั้น ล่าสุดอ่อนตัวลงแตะ 30.23 บาท/ดอลล์ ส่วนตลาดหุ้นไทยดิ่งหนัก 17 จุด หลังนักลงทุนต่างชาติเทขายทำกำไร 4.5 พันล้านบาท เหตุเงินบาทอ่อนค่ากดดัน ด้านโบรกฯ ประเมินกลุ่มแบงก์-เช่าซื้อ-อสังหาฯ รับผลบวกมากสุด โดยเฉพาะ KBANK มีเงินฝากออมทรัพย์สูง ส่วน TISCO-TCAP- KK มีพอร์ตเช่าซื้อมาก
*** กนง.ลดดอกเบี้ยอาร์/พี ลง0.25% ตามคาด
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมกนง.ว่า คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากเดิมที่ 2.75% เป็น 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ เนื่องจากประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้แม้จะยังคงขยายตัว เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/56 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์มาก
ขณะเดียวกันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐที่จะทยอยดำเนินการหากมีความล่าช้าเกิดขึ้นอาจส่งผลถึงแรงส่งทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีได้ ขณะเดียวกันแนวโน้มการส่งออกมีความเสี่ยงมากขึ้นจากเศรษฐกิจภูมิภาคที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะประเทศจีน ขณะที่แรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อน้อยลงจากปัจจัยด้านต้นทุน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ดังนั้น นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมได้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่ยังมีอยู่
' เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ของปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าคาดจากอุปสงค์ในประเทศ อาจกระทบต่อแรงส่งของเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้ โดยเฉพาะหากมีความล่าช้าในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และแนวโน้มการส่งออกก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจภูมิภาคที่ชะลอลง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อน้อยลงและยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย คณะกรรมการจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง' นายไพบูลย์ กล่าว
*** ยันมีเครื่องมือดูแลความเสี่ยงด้านสินเชื่อ-ปัญหาหนี้หลังดอกเบี้ย
ทั้งนี้ กนง.ยืนยันว่ามีความพร้อมในการดูแลความเสี่ยงในทุกด้าน ทั้งการขยายตัวของสินเชื่อและปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ภายใต้สถานการณ์ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่ทั้งนี้จำเป็นจะต้องพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละสถานการณ์ ซึ่งคณะกรรมการ กนง.ได้ให้ความสำคัญและแสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายนั้นจะต้องพิจารณาน้ำหนักปัจจัยหลายด้านประกอบกัน ทั้งเศรษฐกิจ เสถียรภาพราคา เสถียรภาพการเงิน ซึ่งรวมถึงสินเชื่อและหนี้ครัวเรือน และราคาสินทรัพย์ต่างๆ โดยต้องชั่งน้ำหนักถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก
' เรามีความพร้อมในการดูแลความเสี่ยงทุกด้าน แต่จะใช้ความจำเป็นของสถานการณ์ เรื่องสินเชื่อและหนี้ครัวเรือนเรายังให้ความสำคัญ และติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ว่าการดำเนินนโยบายจะต้องชั่งน้ำหนักหลายปัจจัย ซึ่งดูแล้วว่าการลดดอกเบี้ยลง 0.25% ตอนนี้ เหมาะกับการดูแลสถานการณ์ของเศรษฐกิจ' นายไพบูลย์ กล่าว
*** หุ้นร่วง 17 จุด-เงินบาท 30.21 บาท/ดอลล์
ด้านความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นวานนี้ ทันทีที่เปิดตลาด ดัชนีฯ ร่วงลง 7-8 จุด ก่อนที่จะรีบาวน์ขึ้นมา และช่วงท้ายตลาดก็ไม่สามารถปรับขึ้นมาในแดนบวกได้ แต่กลับร่วงลงมากกว่าเดิมจากแรงขายในช่วงท้ายตลาด ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,601.61 จุด ลดลง -17.96 จุด หรือ -1.11% มูลค่าการซื้อขาย 61,256.61 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธ 4,544.90 ล้านบาท
ส่วนค่าเงินบาทปิดตลาดวานนี้ที่ 30.19-30.21 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากที่เปิดตลาดในช่วงเช้า จากเหตุผลหลักคือ ตอบรับข่าวที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% ประกอบกับทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นทำให้เงินบาทและค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคอ่อนค่าลง โดยระหว่างวันอ่อนค่าสุดที่ 30.23 บาทต่อดอลลาร์ และแข็งค่าสุดที่ 30.10 บาทต่อดอลลาร์
*** โบรกฯ ชี้ SET ร่วงเพราะลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาด
นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้บริหารสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์และกลยุทธการลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า การที่ตลาดหุ้นปรับลดลงประมาณ 7 จุดในช่วงเปิดตลาดภาคบ่าย เชื่อว่าตอบรับข่าวที่ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% แต่เป็นการตอบรับในเชิงผิดหวังกับการที่ กนง.ลดลงต่ำกว่าที่คาด โดยก่อนหน้านี้มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า กนง.อาจจะปรับลดลงได้ถึง 0.50% แต่เมื่อออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดทำให้มีแรงขายออกมา
*** ชี้เม็ดเงินจะโยกจากตลาดเงินสู่ตลาดทุน
แต่ทั้งนี้ เชื่อว่าแรงขายดังกล่าวเป็นเพียงแรงขายในระยะสั้นเท่านั้น เพราะเชื่อว่าในระยะถัดไปแรงซื้อของนักลงทุนจะกลับเข้ามาและส่งผลให้ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น จากการที่ผลตอบแทนในตลาดเงินปรับลดลงตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นผู้ฝากเงินจะโยกมาในตลาดทุนเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าในปีนี้เป้าหมายดัชนีจะอยู่ที่ 1,686 จุด ตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี
' ในเชิงทฤษฎีหากลดดอกเบี้ยอาร์พีลงจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของเม็ดเงินในประเทศ โดยเงินทุนจะมูฟจากตลาดเงินเข้าสู่ตลาดทุนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นในตลาดสูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน เหตุผลคือดอกเบี้ยในตลาดเงินต่ำลงทำให้คนโยกเงินมาสู่ตลาดทุน ผู้ที่มีเงินออมส่วนเกินจะยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้มากกว่าที่จะฝากแบงก์และได้ดอกเบี้ยต่ำลง' นายปริญทร์ ระบุ
ทั้งนี้ จากแนวโน้มดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้นจากการโยกเงินภายในประเทศ เชื่อว่าจะได้เห็น 1,686 จุดเร็วเกินคาด โดยน่าจะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย.นี้ จากเหตุผลหลักคือ แรงดึงดูดของการลงทุนในตลาดหุ้นย่านเอเชียยังคงดี ประกอบกับการโยกเม็ดเงินจากตลาดเงินเข้าสู่ตลาดทุน
กลยุทธการลงทุน สำหรับนักลงทุนระยะสั้นเน้นขึ้นขายลงซื้อ ส่วนนักลงทุนระยะกลางและระยะยาวเน้นอ่อนตัวให้ทยอยซื้อ โดยเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแกร่ง สามารถเข้าไปเลือกได้ในทุกกลุ่มและพิจารณาหุ้นที่มีการจ่ายปันผลในระดับที่ดีต่อเนื่อง
*** 'กิตติรัตน์' ระบุชะลอบาทแข็งในระยะสั้น-ลดน้อยไป
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง กล่าวถึง มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%ว่า เป็นการปรับลดที่น้อยเกินไป และช้าเกินไป แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีการปรับลดดอกเบี้ย 'มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มา'
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เชื่อว่าจากการปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าว น่าจะทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นไปอีกในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ต่อไป ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมจะประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อดูแลในเรื่องนี้
*** ส.อ.ท.ผิดหวังอยากให้ลด 0.50%
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% เหลือ 2.50% ต่อปีนั้น ผิดไปจากที่ ส.อ.ท.คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 0.50% แต่ยังอยู่ในวิสัยที่รับได้และไม่ผิดหวังแต่อย่างใด ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยระดับนี้คงพิจารณาแล้วว่าเพียงพอที่จะดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ และคงจะทยอยปรับลดลงได้อีก
'การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งนี้ นับเป็นการดีที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันของภาครัฐที่ดูแลเศรษฐกิจของประเทศประสานกันทั้งนโยบายการเงินและการคลัง และยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า ทุกฝ่ายเห็นข้อมูลเศรษฐกิจที่ตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและปัญหาเงินบาทแข็งค่ากระทบต่อเศรษฐกิจไทย'
นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ส.อ.ท.จะติดตามดูผลจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ครั้งนี้ต่อไป ส่วนเงินบาท แม้ขณะนี้อ่อนค่าลงมาอยู่ในระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ แล้วก็ตาม แต่ยังคงแข็งค่ากว่าช่วงต้นปีนี้อีก 2% ยังไม่สะท้อนระดับที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งทางการค้าเต็มที่ เพราะต้องเป็นอัตราที่แข่งขันได้ โดยเฉพาะกับประเทศคู่แข่งขันทางการค้าในอาเซียนด้วยกัน อีกทั้งยังมีคู่แข่งอย่างจีน อินเดีย และบังกลาเทศ
' สิ่งที่ ส.อ.ท. ต้องการคือ ให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเงินบาทมีเสถียรภาพและมีค่าเงินที่เกาะกลุ่มเทียบเคียงกับประเทศคู่แข่งขัน 14 ประเทศได้'
*** นายแบงก์ชี้ ลด 0.25% กระตุ้น ศก.แค่ระยะสั้น
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% โดยในเบื้องต้นเชื่อว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง. เป็นการตอบสนองในระยะสั้นจากตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ชะลอตัว ซึ่งเชื่อว่าการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ ไม่ได้ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน สะท้อนได้จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศก็อยู่ในระดับที่ต่ำ และไม่สามารถลดลงได้อีก เศรษฐกิจก็ยังไม่มีอัตราการเจริญเติบโต ดังนั้นจึงเห็นว่ากรณีที่อัตราดอกเบี้ยต่ำก็ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน
'ใครเชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโต ถือว่าเป็นการสอดคล้องกับความเชื่อมั่น หลังจากเศรษฐกิจไม่คึกคักเพราะตัวเลขของสภาพัฒน์ก็ได้ประกาศออกมา แต่การลดอกเบี้ยในครั้งนี้คงเป็นการตอบสนองในระยะสั้นเท่านั้น แต่ไม่ขอประเมินว่าเป็นทิศทางดอกเบี้ยขาลงหรือไม่ เพราะเป็นมติของกนง. และในส่วนของธนาคารก็คงจะต้องมาหารือกันอีกที ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนทิศทางดอกเบี้ยอย่างไร หลังจากที่กนง. มีมติมาแล้ว" นายโฆสิต กล่าว
*** BBL รับลูก ธปท.เตรียมลดดอกเบี้ยในอีก 1-2 วันนี้
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวถึง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ลง 0.25% มีผลในวันนี้ว่า ในส่วนของธนาคารกรุงเทพ กำลังพิจารณาน่าจะเห็นใน 1-2 วันนี้ ซึ่การปรับลดอัตราอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว ถือว่าเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจขณะนี้
*** กลุ่มเช่าซื้อ-แบงก์-อสังหาฯรับอานิสงส์
นางสาวธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การที่ กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% จะส่งผลบวกต่อหลายกลุ่มอุตสาหกรรม แต่กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลบวกชัดเจนมากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มเช่าซื้อ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธนาคารพาณิชย์
โดยในกลุ่มเช่าซื้อจะได้รับประโยชน์จากการที่ต้นทุนระดมเงินถูกลง แต่รายได้จากดอกเบี้ยยังคงที่จากการที่ลูกค้าผ่อนชำระในอัตราคงที่จากการทำสัญญาของการเช่าซื้อ ส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลบวกในเชิงของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง โดยเฉพาะดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่จะเห็นผลในทันที ทำให้ต้นทุนในการระดมเงินถูกลง ซึ่งธนาคารที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด คือธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพราะมีสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน
นอกจากนี้ เป็นธนาคารที่มีพอร์ตเช่าซื้อมากเช่น KK TISCO TCAP จะได้ประโยชน์เต็มที่เพราะดอกเบี้ยส่วนใหญ่จะเป็นแบบคงที่ ทำให้ผลตอบแทนปรับลดลงช้ากว่าธนาคารอื่น ที่ไม่มีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ หรือมีในระดับที่ไม่สูงมาก
*** KBANK รับประโยชน์มากสุด เพราะมีเงินฝากออมทรัพย์สูง
ขณะที่นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารพาณิชย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า กลุ่มธนาคารมีโอกาสได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ เพราะแม้ว่าในด้านของดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะต้องปรับลดลงในทันที กรณีดอกเบี้ยที่เป็นแบบ MLR หรือดอกเบี้ยแบบลอยตัว ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนที่ได้จากการปล่อยสินเชื่อลดลง แต่ด้านของเงินฝากจะมีบางส่วนที่เป็นเงินฝากแบบคงที่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการปรับลดดอกเบี้ยลง ก็พอจะชดเชยในส่วนของผลตอบแทนจากเงินกู้ที่ลดลงทันทีได้
ส่วนกรณีของ KBANK หากพิจารณาในฝั่งของเงินฝาก จะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะมีสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์มากถึง 67% ที่เหลือเป็นเงินฝากประจำ และสัดส่วนดังกล่าว ยังสูงกว่าอุตสาหกรรมโดยรวมที่มีสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์ 46%
นางสาวธีรดา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่มุมของราคาหุ้นทั้ง 3 กลุ่มนี้จะพบว่า กลุ่มเช่าซื้อและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างปรับขึ้นไปมากแล้ว ดังนั้นจึงต้องเลือกซื้อเป็นรายตัว โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ บริษัทเลือก SPALI LH เนื่องจากมีงานในมือสูง ราคาหุ้นยังมี upside ส่วนเช่าซื้อแนะนำ TK ทยอยซื้อได้ ราคาพื้นฐาน 21.50 บาท
ส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ราคาหุ้นในปัจจุบันยังปรับขึ้นน้อยกว่าตลาดรวม จึงยังมีความน่าสนใจอยู่ในระยะยาว เพราะหุ้นกลุ่มนี้จะอิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ เพราะเมื่อใดที่มีการขยายการลงทุนจะทำให้สินเชื่อขยายตัวตามได้ดี