วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ทั่วโลกเดินเกม "สงครามค่าเงิน" โจทย์หิน ธปท.ถอดสมการอัตราแลกเปลี่ยน

ทั่วโลกเดินเกม "สงครามค่าเงิน" โจทย์หิน ธปท.ถอดสมการอัตราแลกเปลี่ยน
03/02/2015 - knowledge_trader - 3 Comment - 523 views
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เปิดศักราชปี 2558 ก็เห็นว่าประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลก ต่างพาเหรดดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในรูปแบบต่าง ๆ นำโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดนมาร์ก แคนาดา อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ เปรู และล่าสุดสิงคโปร์

และถ้ามองย้อนไปถึงปลายปีที่แล้ว พบว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียอย่าง "ญี่ปุ่น" และ "จีน" เป็นชาติแรก ๆ ที่ใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกดค่าเงินของประเทศตัวเองให้อ่อนลง

บรรดาธนาคารกลางให้เหตุผลการใช้เครื่องมือดังกล่าวว่า เพื่อรับมือปัญหาเงินเฟ้อลดต่ำ จากการร่วงหนักของราคาน้ำมัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันที และอาจมีประสิทธิภาพที่สุดของการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย คือ "อัตราแลกเปลี่ยนลดลง"

"เรากำลังอยู่ในสงครามค่าเงิน ความเห็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันขณะนี้ คือ วิธีที่ง่ายที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ การปรับลดอัตราแลกเปลี่ยน" นายแกรี่ โคห์น ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของโกลด์แมน แซกส์ กล่าวระหว่างการประชุมเศรษฐกิจโลก ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์



สกุลเงินทั่วโลกแข่งลด "ค่าเงิน"

การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายในหลายประเทศทั่วโลก และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับจากปี 2549 ล้วนเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว

นับจากกรกฎาคมปีกลายจนถึงขณะนี้ ค่าเงินสกุลหลักของโลกอ่อนค่าลงแล้วราว 15% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และนักวิเคราะห์ยังคาดว่าค่าเงินดอลลาร์จะเป็นขาขึ้นต่อไปอีกหลายปี โดย "เงินหยวน" ได้อ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจากธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีในเดือนพฤศจิกายน 2557 ส่วนค่าเงินริงกิตของมาเลเซียร่วงลง 14% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางการดิ่งลงของราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ

ด้าน "เงินเยน" ของญี่ปุ่นก็อ่อนค่าต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นขยายวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เป็น 7 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับเงินยูโรที่อ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 11 ปีเทียบกับดอลลาร์ หลังอีซีบีประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร

การแข่งลดค่าเงินกลายเป็นเทรนด์หลักของธนาคารกลางทั่วโลก หวังกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศและการจ้างงาน ทั้งยังเพิ่มความสามารถการแข่งขันภาคส่งออกในตลาดโลก

นอกจากนี้ บางประเทศยังเผชิญปัญหาหนี้สาธารณะก้อนโตมาตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2551 จนต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัด ทำให้ขาดแคลนงบประมาณสำหรับกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลดค่าเงินจึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่

ฤๅจะเป็น "วิกฤตเศรษฐกิจ" รอบใหม่

นายไซมอน เดอร์ริก จากแบงก์ออฟ นิวยอร์ก เมลลอนวิเคราะห์ว่า รายต่อไปที่จะเคลื่อนไหวกดดันให้อัตราแลกเปลี่ยนต่ำลง คือ ตุรกี บราซิล อาจได้เห็นอินเดียหั่นดอกเบี้ยอีกครั้งเร็ว ๆ นี้ หลังเพิ่งลดอัตราดอกเบี้ยเซอร์ไพรส์ตลาดเมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา

และประเมินว่า ไทยและเกาหลีใต้อาจทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องตัดสินใจลดดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ เพราะกรณีเงินบาทไทยอ่อนตัวในอัตราที่ช้ากว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้เสียเปรียบด้านการส่งออก ประกอบกับดีมานด์ในประเทศซบเซา ขณะที่เกาหลีใต้ ได้รับผลกระทบหนักจากการอ่อนตัวของเงินเยนญี่ปุ่น คู่แข่งสำคัญด้านการส่งออกเพราะขายสินค้ากลุ่มเดียวกัน

มาตรการคิวอีและการลดอัตราดอกเบี้ย ยังทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนมายังประเทศที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่า โดยสหรัฐเป็นเป้าหมายสำคัญทำให้เริ่มมีความกังวลถึงฟองสบู่ตลาดหุ้นหรือตลาดตราสารหนี้ในสหรัฐ

อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ดูจะตอบรับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในแง่บวก เพราะช่วยเพิ่มความคึกคักให้กับตลาดเงินตลาดทุน แต่สงครามค่าเงินรอบนี้จะจบลงยังไงเพราะแต่ละประเทศคงไม่สามารถกดค่าเงินให้ต่ำกว่าคู่แข่งได้ตลอดไป และอาจปะทุเป็นวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ได้

เกม 2 ยักษ์ ศก.เขย่าตลาดเงินโลก

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพกล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันต่างจาก 5 ปีก่อนอย่างมาก โดยมีเหตุใหญ่มาจากสหรัฐกำลังจะขึ้นดอกเบี้ย ดูดสภาพคล่องกลับ ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) กำลังปล่อยสภาพคล่องออกมา อัดเงินเข้ามาเพิ่มและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ จนเกิดเป็นแรงกดดันที่ต่างกัน ทำให้ประเทศอื่น ๆ ในโลกโดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ต้องปรับตัวรับ

"ตอนนี้น้ำที่เคยขึ้นพร้อม ๆ กัน กลับสวนทางกันแล้ว โลกกำลังเตรียมรับมือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 17-18% นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มาก ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (29 ม.ค.) ค่าเงินยูโรอ่อนลงมาก"

เวลานี้จึงเห็นถึงการปรับตัวของหลาย ๆ ประเทศรับมือแรงกดดันที่ไม่เท่ากันนี้ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ประกาศลอยตัวค่าเงินฟรังก์สวิสเทียบยูโรที่ทำให้เงินฟรังก์แข็งค่าขึ้น 20% สิงคโปร์ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้เงินดอลลาร์สิงคโปร์เทียบดอลลาร์สหรัฐไม่แข็งค่าเร็วเกินไป

"ผมคิดว่าตอนนี้ไม่ใช่การทำสงครามค่าเงิน แต่ที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากสกุลเงินหลักเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คนที่เหลือจึงต้องเอาตัวรอด ไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์นี้ แม้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐจะนิ่ง แต่ถ้าดูที่ค่าบาทเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ที่เป็นคู่ค้าคู่แข่งจะเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น"

ไทยคงดอกเบี้ย 2% ท่ามกลางความผันผวน

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า การประชุม กนง.เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เนื่องจากส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินปัจจุบันผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการคงอัตรานี้จะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ท่ามกลางภาวะตลาดการเงินที่ผันผวนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังหารือถึงกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากอีซีบีประกาศใช้คิวอีซึ่ง ธปท.ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้เงินไหลเข้าเอเชียมากนัก แตกต่างจากครั้งที่เฟดประกาศใช้คิวอีและทำให้มีเงินเข้ามาในเอเชียค่อนข้างมาก

"ธปท.จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและเชื่อว่ายังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการดอกเบี้ยในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายในขณะนี้ เนื่องจากยังมีมาตรการอื่นในการดูแลอีกหลายเครื่องมือ อีกทั้งเมื่อดูการไหลเข้าไหลออกของเงินทุนในปัจจุบัน ก็พบว่าเป็นการเคลื่อนไหวปกติ" นายเมธีกล่าวและว่า

ด้าน นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธปท.กล่าวว่า ผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) เมื่อ 27-28 ม.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีสัญญาณว่าธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ย ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.00-0.25% เป็นไปตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น การจ้างงานเข้มแข็งขึ้น และผลของราคาพลังงานที่ปรับลดลงอาจส่งผลให้เงินเฟ้อโน้มต่ำลงต่อไปในระยะสั้น ทำให้ตลาดมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครึ่งหลังของปี ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและเงินภูมิภาค

และนี่คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายประเทศไทยว่าจะอยู่ในเกม "สงครามค่าเงิน" นี้อย่างไร


03/02/2015 - Kiko Japenese


03/02/2015 - lava


04/02/2015 - Giff
ขอบคุณค่ะ
ตอบกลับกระทู้กลับไปหน้าแรก

เข้าเว็บไซต์แบบปกติ

© COPYRIGHT 2013 STOCK2MORROW

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น