ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ภาระหนี้ก้อนมหึมาไม่ต่ำกว่า 1.1 แสนล้านบาท ทำให้ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" องค์กรรัฐวิสาหกิจ 118 ปี ต้องเร่งทำแผนฟื้นฟูกิจการ ควบคู่เดินหน้าปฏิรูปองค์กรรองรับกับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลกำลังเร่งโหมอยู่ในขณะนี้

คลังขอที่ดิน 3 แปลงแลกหนี้

นาทีนี้การจะปลดหนี้ชนิดพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือภายในเวลาอันรวดเร็ว มีทางเลือกเดียวคือต้องนำที่ดินย่านทำเลทองของ ร.ฟ.ท. ยกให้ "กระทรวงการคลัง" บริหารระยะยาวเป็นการแลกหนี้

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ "รัฐบาลเพื่อไทย" ต่อเนื่องมาถึงยุค "รัฐบาล คสช." มีแนวคิดนำที่ดินไพรมแอเรีย "ย่านมักกะสัน" 497 ไร่ ติดสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2556 ตีมูลค่าอยู่ที่ 84,969 ล้านบาท โดยประมาณ

โดยยกให้กระทรวงคลังเช่าระยะยาว 99 ปี เพื่อล้างหนี้จากการขาดทุนสะสม 56,950 ล้านบาท หนี้จากการจัดซื้อรถจักรในอดีตเมื่อปี 2538 จำนวน 9,029 ล้านบาท และลงทุนแอร์พอร์ตลิงก์ 18,960 ล้านบาท แต่เป็นการประเมินราคาและข้อเสนอแนะของ "ร.ฟ.ท." ฝ่ายเดียว
ชื่อ:  6.jpg
ครั้ง: 13077
ขนาด:  223.0 กิโลไบต์

ล่าสุด "ซูเปอร์บอร์ด-คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ" ประชุมกันเมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา ต้องการให้ ร.ฟ.ท.นำที่ดินอีก 2 แปลงแลกหนี้เพิ่ม โดยประเมินว่าจะปลดหนี้ให้ ร.ฟ.ท.ได้เพิ่มอีกกว่า 8 หมื่นล้านบาท จากที่ดิน "บริเวณ กม.11" 359 ไร่ ใกล้สถานีกลางบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) มูลค่า 18,370 ล้านบาท

อีกแปลงคือย่าน "สถานีแม่น้ำ" 277 ไร่ มูลค่า 10,413 ล้านบาท พร้อมสั่งให้ "คลัง+ร.ฟ.ท." เจรจานอกรอบหาข้อสรุปและนำเสนอที่ประชุมนัดต่อไป

มักกะสันติดรื้อย้ายโรงงาน

ว่ากันว่าเบื้องหลังทำให้ "คลัง" ยื่นข้อเสนอใหม่ให้ที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดเคาะที่ดินเพิ่ม 2 แปลง เนื่องจากมองว่าที่ดินย่านมักกะสันยังมี "โรงงานรถไฟมักกะสัน" เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้การพัฒนาพื้นที่แปลงนี้อาจจะไม่ราบรื่นอย่างที่หวัง เพราะต้องใช้เวลานานกว่า 5 ปี ถึึงจะเคลียร์โยกย้ายโรงงานเสร็จตามแผน ทาง ร.ฟ.ท.เตรียมพื้นที่แก่งคอยประมาณ 1,000 ไร่ไว้รองรับแล้ว ทั้งส่วนโรงงานและที่พักอาศัยรองรับพนักงานรถไฟที่มีอยู่กว่า 2 หมื่นคน

สำหรับย่านมักกะสันมีทั้งหมด 745 ไร่ แต่พื้นที่นำมาพัฒนาได้จริง ๆ มี 497 ไร่เศษ ได้แก่ อาคารโรงงาน 65 ไร่ พื้นที่สับเปลี่ยนย่านโรงงาน 35 ไร่ ย่านโรงงานมักกะสัน 77 ไร่ อาคารแอร์พอร์ตลิงก์สถานีมักกะสัน 35 ไร่ นิคมรถไฟมักกะสัน โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร ที่พักอาศัย บ้านเดี่ยว และแฟลตพนักงานรถไฟ อาคารพัสดุ

ภาระติดพันของที่ดินย่านมักกะสันยังรวมถึงมีผู้เรียกร้องให้ทำเป็น "สวนสาธารณะ" หรือพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติม ขณะนี้ได้กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในการพัฒนาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นไม่ว่าเอกชนรายไหนจะได้สิทธิจัดหาประโยชน์ จำเป็นต้องเสียสละพื้นที่บางส่วนเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวด้วย

รวบ "กม.11-สถานีแม่น้ำ"

ประกอบกับเริ่มเห็นศักยภาพที่ดิน "บริเวณ กม.11" ที่อนาคตจะกลายเป็นศูนย์กลางหรือฮับการเดินทางด้านระบบราง หลังจากรถไฟฟ้าสายสีแดงเสร็จเปิดใช้ในปี 2560-2561 ยิ่งล่าสุด "ปตท." ในฐานะผู้เช่ารายใหญ่บนพื้นที่ 22 ไร่เศษริมถนนวิภาวดีรังสิต ยอมควักเงินกว่า 500 ล้านบาท สร้างตึกสูง 17 ชั้นย่านตึกแดง เพื่อรองรับการย้ายบ้านพักพนักงานรถไฟด้านหลังสำนักงานใหญ่ ปตท. ยิ่งทำให้ที่ดิน กม.11 น่าจะนำพัฒนาได้เร็วยิ่งขึ้น

รวมถึงมองเห็นโอกาสต่อยอดโครงการได้ หลังจาก "ออมสิน ชีวะพฤกษ์" ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. กำลังจะปลุกปั้นพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อ 208 ไร่ มาพัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ยักษ์ มูลค่าร่วม 1 แสนล้านบาท

โดยนำโมเดลต้นแบบจากต่างประเทศมาต่อยอดพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง ล่าสุด มติที่ประชุมบอร์ดเมื่อ 27 มกราคมที่ผ่านมา อนุมัติให้ ร.ฟ.ท.จ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนี้ เป็นการทำงานแข่งกับเวลาให้เสร็จทันยุค "รัฐบาล คสช." นั่งบริหารประเทศ

ขยายเวลาเช่า 50 ปี

"กำลังจะขอเจรจาคลังขยายเวลาการเช่าที่ดินมักกะสันให้ยาวขึ้น จากเดิม 30 ปี วงเงิน 65,056 ล้านบาทต่อสัญญาได้อีก 30 ปี อาจจะเป็นเริ่มต้น 50 ปี และต่อได้อีก 50 ปี เพราะเราคิดว่าแค่ที่ดินมักกะสันแปลงเดียวน่าจะเพียงพอแล้ว ส่วนบริเวณ กม.11 และสถานีแม่น้ำ ทาง ร.ฟ.ท.อยากพัฒนาเอง แต่มาถึงตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย" แหล่งข่าวจากการรถไฟฯกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"

แหล่งข่าวยังระบุอีกว่า นโยบาย ร.ฟ.ท.ที่ผ่านมาจะแลกหนี้เฉพาะที่ดินย่านมักกะสันให้เท่านั้น เนื่องจากประเมินว่าศักยภาพแปลงที่ดินน่าจะเพียงพอต่อการแก้ไขภาระหนี้การรถไฟฯได้อย่างน้อย 7-8 หมื่นล้านบาท

ส่วนภาระหนี้บำนาญที่ประเมินจากปัจจุบันไปถึงปี 2610 อยู่ที่ 65,860 ล้านบาท ร.ฟ.ท.เตรียมนำรายได้จากการนำที่ดินแปลงใหญ่คือ สถานีแม่น้ำและบริเวณ กม.11 รวมถึงที่ดินแปลงอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการเดินรถ เปิดให้เอกชนเช่าระยะยาว

ขณะที่ "ออมสิน" ย้ำชัดว่า...ที่ผ่านมาพูดกันแค่ที่ดินมักกะสัน จึงต้องดูก่อนว่ามติออกมายังไง และวาระประชุมบอร์ดก็มีแค่ที่ดินมักกะสันแปลงเดียวที่จะนำมาแลกหนี้กับคลัง แต่ทำไมและไม่รู้พูดกันยังไงถึงได้รวมถึงสถานีแม่น้ำและ กม.11 ด้วย

"เมื่อเป็นคำสั่งก็ต้องทำตาม แต่ที่จริงแปลงเดียวก็เกินพอ เพราะมูลค่าที่ดินสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาทแล้ว ถ้าตกลงไม่ได้ กระทรวงการคลังไม่เอา การรถไฟฯจะพัฒนาเอง" คำกล่าวของประธานบอร์ด ร.ฟ.ท.

ประเมินจากความเห็นต่างทั้งฝ่ายคลัง-การรถไฟฯ ปฏิบัติการยกที่ดินแลกหนี้ครั้งนี้ยังต้องลุ้นกันอีกหลายยกกว่าจะได้ข้อยุติ