วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

วันนี้ JAS ลุ้นคำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ หลัง TT&T ร้องขอศาล หวั่นกระทบการตั้ง IFF และรายได้บริษัทหากศาลสั่งคุ้มครองไปถึงรายได้ของ TTTBB เหตุเป็นสัดส่วนถึง 80% ขณะที่ฝ่ายกฎหมาย JAS มั่นใจสู้

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: JASลุ้นศาลชี้ชะตาวันนี้
มั่นใจสู้ข้อกฎหมายได้

ข่าวหน้าหนึ่ง วันอังคารที่ 09 กันยายน 2557
ผู้เข้าชม : 13 คน
วันนี้ JAS ลุ้นคำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ หลัง TT&T ร้องขอศาล หวั่นกระทบการตั้ง IFF และรายได้บริษัทหากศาลสั่งคุ้มครองไปถึงรายได้ของ TTTBB เหตุเป็นสัดส่วนถึง 80% ขณะที่ฝ่ายกฎหมาย JAS มั่นใจสู้ข้อกฎหมายได้



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 9 กันยายน 2557 นี้ เวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีจะมีคำสั่งใน กรณีบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) หรือ TT&T ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 57 ในระหว่างที่คดีหมายเลขดำที่ พ.882/2557 ซึ่ง TT&T ยื่นฟ้องบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด หรือ ACU ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ถือหุ้นอยู่ 100% ให้ ACU ขายหุ้น 70% ใน บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด หรือ TTTBB ให้ผู้ถือหุ้น TT&T อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในชั้นศาล

แหล่งข่าวจาก บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เปิดเผยว่า บริษัทประเมินว่า หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวออกมา จุดแรก คือ กระทบต่อการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่บริษัทมีแผนจะนำสินทรัพย์ของ TTTBB ขายเป็นสินทรัพย์จัดตั้งกองทุนดังกล่าว มูลค่าเบื้องต้นราว 50,000-70,000 ล้านบาท เพราะจะทำให้แผนการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวต้องชะลอออกไปก่อน จนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุด

"วันนี้ก็ต้องรอคำสั่งศาลว่าจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้ามีคำสั่งคุ้มครองก็จะไปกระทบกับการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทมากที่สุด เพราะเราต้องหยุดพักไปก่อน แต่ตัวเลขมูลค่ากองทุนฯ ยังไม่แน่นอน เพราะเรื่องอยู่ที่ ก.ล.ต. ซึ่งเรานำสินทรัพย์ของ TTTBB ไปจัดตั้ง ถ้ามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวออกมาก็ยังดำเนินการใดๆ ไม่ได้" แหล่งข่าว กล่าว

นอกจากนี้ยังอาจจะกระทบในด้านของการรับรู้รายได้ของ JAS หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองไปถึงรายได้ของ TTTBB ซึ่งมีผลต่อรายได้รวมของ JAS ค่อนข้างมาก เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนรายได้จาก TTTBB อยู่ที่ 80% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก จึงมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากคำสั่งของศาลยังให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้จาก TTTBB ได้ตามปกติ ก็จะไม่กระทบเท่าใดนัก

ขณะที่อีกกรณีหนึ่งคือ หากศาลยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของ TT&T ก็จะเป็นผลดีต่อบริษัทมากที่สุด เนื่องจากการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามแผนงานโดยไม่หยุดชะงัก และบริษัทก็ยังสามารถรับรู้รายได้จาก TTTBB ตามปกติ

"เรามีรายได้จาก TTTBB ในสัดส่วน 80% ถ้าไม่สามารถรับรู้รายได้จาก TTTBB ได้ ก็กระทบทั้ง 2 ด้านทั้งรายได้บริษัทและการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่หากศาลยกคำร้องทุกอย่างก็เป็นไปตามปกติ ต้องรอดูวันนี้อีกที จริงๆ แล้วการฟ้องร้องของ TT&T เป็นการให้ ACU ขายหุ้นของ TTTBB ให้ผู้ถือหุ้นของ TT&T ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร และสัญญาที่เคยทำไว้กับ TT&T ก็หมดอายุไปนานแล้ว ทำไมเพิ่งมายื่นฟ้อง" แหล่งข่าว กล่าว

ด้านฝ่ายกฎหมายของ JAS เปิดเผยว่า มีความเชื่อมั่นว่าจะสู้ข้อกฎหมายกับ TT&T ได้ เนื่องจากมีการบันทึกข้อตกลงในการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนวันที่ 13 ก.ย. 49 ได้สิ้นผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 51 ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลง หลังจาก TTTBB ได้ดำเนินการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนต่อ ก.ล.ต.แล้ว แต่ไม่สามารถหาข้อมูลตามที่ ก.ล.ต.ร้องขอได้ จึงทำให้ ก.ล.ต.ส่งคืนคำขออนุญาตในวันดังกล่าว จึงถือว่าบันทึกข้อตกลงสิ้นผลบังคับไปแล้ว

ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีผู้ถือหุ้น TT&T แม้แต่รายเดียวมาแจ้งความจำนงที่จะขอซื้อหุ้นตามสิทธิของตนกับ ACU ซึ่งหลังจากบันทึกข้อตกลงหมดอายุตั้งแต่ 12 ก.ย. 52 มาเป็นเวลาเกือบ 5 ปี ถือว่านานเกินสมควรตามกฎหมาย ดังนั้นบันทึกข้อตกลงจึงสิ้นผลบังคับไป

ขณะที่คำฟ้องระบุจำนวนหุ้นสูงเกินกว่าจำนวนในบันทึกข้อตกลง โดยบันทึกข้อตกลงที่ TT&T ใช้อ้างในการฟ้องร้องนั้นมีผลผูกพันเฉพาะส่วนของหุ้นเพิ่มทุนครั้งแรกจำนวน 99 ล้านหุ้นเท่านั้น โดยผู้ถือหุ้น TT&T สามารถใช้สิทธิ 70% ของการเพิ่มทุนครั้งแรก ดังนั้นจำนวนหุ้นที่ถูกต้อง คือ 69,999,510 หุ้น หรือคิดเป็น 5.60% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดใน TTTBB จำนวน 1,250 ล้านหุ้น

นางสาวมินทรา รัตยาภาส รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคเคเทรด จำกัด กล่าวว่า หากศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว มองว่าจะกระทบต่อราคาหุ้น และกระทบต่อการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) สำหรับธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนสัดส่วนถือหุ้นใน TTTBB และผลการดำเนินงานตามปกติของ JAS ขณะที่หากศาลสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราว ทาง JAS ก็สามารถดำเนินการในการจัดตั้งกองทุนฯ ได้ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะพิจารณา เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ขายเข้ากองทุนฯ อยู่

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่คุ้มครองชั่วคราวในวันนี้ แต่ศาลยังมีการพิจารณาคดีที่ TT&T ยื่นฟ้อง ACU ต่อไป โดยประเมินผลกระทบกรณี TT&T ยื่นฟ้องร้อง เป็น 2 กรณี คือ 1.ผู้ถือหุ้น TT&T ได้สิทธิถือหุ้นใน TTTBB ราว 70 ล้านหุ้น หรือ 70% ของทุนจดทะเบียน 110 ล้านบาท ก่อนการเพิ่มทุนปี 2552 ทำให้ ACU จะถือหุ้นลดลงเหลือ 93.6% จากปัจจุบันถือหุ้น 99.2% ใน TTTBB รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ JAS โดยทำให้กำไรสุทธิลดลง 10% ตามสัดส่วนถือหุ้นที่ลดลง และกระทบมูลค่าเหมาะสม 1.00 บาท

และ 2.ผู้ถือหุ้น TT&T ได้สิทธิถือหุ้นใน TTTBB ราว 870 ล้านหุ้น หรือ 70% ของทุนจดทะเบียน 1,250 ล้านบาท เพิ่มทุนปี 2553 ทำให้ ACU จะถือหุ้นลดลงเหลือ 30% จากปัจจุบันถือหุ้น 99.2% ใน TTT BB รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ JAS โดยทำให้กำไรสุทธิลดลง 60% และกระทบมูลค่าเหมาะสม 6.50 บาท ทั้งนี้มองว่า กรณี 2 มีความเป็นไปได้น้อย ขณะที่ JAS ยืนยันการเพิ่มทุนของ TTTBB ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย และมีหลักฐานครบถ้วนเพื่อพิสูจน์ในชั้นศาล ทั้งนี้ ยังคงประเมินผลกระทบจาก TT&T ฟ้องทั้ง 2 กรณีโดยเฉลี่ยผลกระทบกรณีละ 50% คิดเป็นมูลค่า 3.75 บาท/หุ้น จากมูลค่าเหมาะสมปี 2558 ที่ 11.90 บาท

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น