ผลของราคาน้ำมันลดลง
ผลจากราคาน้ำมันลดลง
ผลจากราคาน้ำมันลดลง
โดย วีรพงษ์ รามางกูร
ข่าวเศรษฐกิจของโลกในขณะนี้มีอยู่ 2 ข่าวใหญ่ ๆ คือ ข่าวเรื่องการระบาดของไวรัสอีโบลา และข่าวเรื่องความผันผวนของราคาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมัน หลังจากสหรัฐอเมริกาสามารถขุดเจาะเอาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากผืนดินใต้พิภพได้เป็นผลสำเร็จ
สภาพการณ์โดยส่วนรวมก็คือ ขณะนี้ปริมาณการผลิตมีปริมาณสูงกว่าความต้องการใช้พลังงาน สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันมากที่สุดในโลก กำลังจะกลายเป็นประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันมากกว่าประเทศซาอุดีอาระเบีย และประเทศรัสเซีย ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สถานการณ์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดก็คือ การรวมกลุ่มกันเพื่อควบคุมปริมาณการผลิต หรือที่เรียกว่า Cartel ของน้ำมัน ที่สำคัญคือองค์กรประเทศส่งออกปิโตรเลียม หรือ OPEC ก็คงจะสลายตัวไปในไม่ช้า หลังจากที่เคยรวมตัวกันสำเร็จและสามารถผลักดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้นจากบาร์เรลละ 3 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นมาจนถึง 120 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อไม่นานนี้ ต่อไปข้างหน้าราคาน้ำมันคงจะลดลงไปเรื่อย ๆ ซาอุดีอาระเบียประกาศว่า วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันลดลงครั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียจะไม่ยอมรับภาระลดปริมาณการผลิตของตนลงเพื่อช่วยพยุงราคาเหมือนคราวก่อน ๆ แต่จะรักษาส่วนแบ่งของตลาดของตนไว้ให้ได้ แม้ว่าราคาน้ำมันจะตกลงอย่างรวดเร็วก็ตาม
เมื่อความสำคัญของตะวันออกกลางในฐานะที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลกลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างทวีป ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐอเมริกา ก็คงจะเปลี่ยนไปไม่น้อย ซาอุดีอาระเบียซึ่งมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังอยู่ก็คงจะต้องลดบทบาทของตนลง ในฐานะที่คอยเป็นประเทศจัดการความสมดุลแห่งอำนาจในคาบสมุทรอาหรับและช่องแคบฮอร์มุซ Hormuz
บทบาทของยุโรป ตะวันออกกลาง อาจจะต้องเปลี่ยนไป ความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ในคาบสมุทรอาหรับน่าจะมากขึ้น แต่บทบาทของสหรัฐในการรักษาสันติภาพในภูมิภาคน่าจะเปลี่ยนไป เมื่อผลประโยชน์ในเรื่องน้ำมันเปลี่ยนไป เมื่อประเทศอาหรับหมดเครื่องมือต่อรองกับสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก
ประเทศต่าง ๆ ในคาบสมุทรคงต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ กล่าวคือเงินที่เคยได้จากการขายน้ำมันน่าจะน้อยลงอย่างมาก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มโอเปกคงต้องลดงบประมาณการใช้จ่ายลง ประเทศแรกที่คงจะเดือดร้อนคือ ประเทศเวเนซุเอลา ทุกครั้งที่ราคาน้ำมันดิบลดลงต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เวเนซุเอลาจะต้องออกมาเรียกร้องให้มีการประชุมกลุ่มประเทศโอเปก ประเทศในกลุ่มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็เช่นเดียวกัน
ที่น่ากลัวสำหรับประเทศที่ส่งออกน้ำมันก็คือ ต้นทุนของสหรัฐอเมริกาในการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในชั้นหินจะลดลงไปเรื่อย ๆ เมื่อมีการผลิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศที่เคยผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอื่น ๆ อาจจะต้องลดการผลิตลง โดยมีสหรัฐเข้ามาแทนที่
การที่ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลงอย่างที่เห็นในขณะนี้ น่าจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมของโลกอย่างมาก ประการแรก วัตถุดิบของผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมเคมีน่าจะลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเคมีที่มีวัตถุดิบจากน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
วัตถุต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนโลหะได้ ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม แม้แต่ใยสังเคราะห์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอื่น ๆ น่าจะมีราคาถูกลง เมื่อวัสดุต่าง ๆ เหล่านี้มีราคาถูกลง ราคาสินแร่ วัตถุดิบต่าง ๆ ก็น่าจะมีราคาถูกลงไปอีก ซ้ำเติมจากการที่จีนสั่งเข้าสินค้าเหล่านี้น้อยลง เพราะเศรษฐกิจของจีนเริ่มชะลอตัวลง ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นประเทศส่งออกสินค้าประเภทวัตถุดิบ สินแร่ที่มีเหมืองแร่ทำการผลิต เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ในกรณีของถ่านหินก็คงจะถูกกระทบกระเทือนไม่น้อย
ที่น่าสนใจก็คืออุตสาหกรรมรถยนต์ ขณะนี้กำลังการผลิตมีมากกว่าความต้องการของตลาด ทำให้อัตราการซื้อรถยนต์มีอัตราลดลง การชะลอตัวของตลาดรถยนต์ย่อมมีผลต่อความต้องการชิ้นส่วน อุปกรณ์ต่าง ๆ ของรถยนต์ ซึ่งประเทศในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย เป็นผู้ผลิตและมีส่วนแบ่งที่สำคัญในตลาดรถยนต์
ในขณะเดียวกัน ความต้องการยางธรรมชาติได้ลดลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของตลาดรถยนต์ ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปและเอเชีย ขณะเดียวกันเมื่อน้ำมันดิบมีราคาลดลง ย่อมทำให้ยางรถยนต์ที่ผลิตจากยางเทียมซึ่งเป็นผลิตผลมาจากน้ำมันปิโตรเลียมลดลง ยางเทียมเป็นคู่แข่งโดยตรงกับยางพารา ประกอบกับเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วที่ราคายางรถยนต์ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีนพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการขยายเนื้อที่เพาะปลูกยางพารากันอย่างขนานใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยที่ขยายเนื้อที่เพาะปลูกไปทั่วภาคอีสานและภาคเหนือ แต่ประเทศอื่นที่ไม่เคยปลูกยางพารา หรือเคยปลูกเล็กน้อย เช่น จีน เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา ก็หันมาปลูกยางพารากันหมด ปริมาณการผลิตยางพาราจึงเพิ่มขึ้นอย่างมากในขณะนี้ ราคายางพาราจึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงานและมีค่าแรงที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ต้องคิดว่าจะมีนโยบายที่จะรองรับกับปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างไร คงต้องเริ่มคิด เริ่มทำเสียแต่เนิ่น ๆ เพราะสภาวการณ์ราคายางพาราตกต่ำคงจะต้องมาถึงแน่ ๆ ในอนาคตข้างหน้านี้
การที่เศรษฐกิจของโลกและของภูมิภาคจะชะลอตัวในอนาคตอันใกล้ น่าจะทำให้ความต้องการสินค้าทางด้านเกษตรอย่างอื่นลดลงไปด้วย พร้อม ๆ กับความต้องการสินค้าเกษตรที่สามารถนำไปผลิตทดแทนน้ำมัน เช่น อ้อย น้ำตาล หรือแม้แต่พืชประเภทแป้ง เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง มีราคาลดลงไปด้วย ปัญหาราคาสินค้าตกต่ำก็จะเป็นปัญหาที่หนักหน่วงไม่น้อย
การที่ราคาพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว น่าจะทำให้ความกดดันทางด้านเงินเฟ้อลดลง ตรงกันข้ามถ้าหากภาวะราคาน้ำมันมีราคาถูก ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยทั่วไปอ่อนกำลังลง ถ้าสภาวการณ์เกิดขึ้น อย่างนี้แล้วดำรงอยู่เป็นเวลานานหลายปี โลกเราน่าจะประสบกับภาวะ "ราคาฝืด" Deflation และภาวะเศรษฐกิจฝืด เศรษฐกิจไม่คึกคัก ไม่ซื้อง่ายขายคล่องเหมือนในยามปกติ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง ราคาสินค้าส่งออก ราคาสินค้านำเข้าลดลง ซึ่งเป็นอาการที่จะต้องคอยระมัดระวังเพราะมักจะเกิดขึ้นได้เสมอ
โดยส่วนรวมแล้ว ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานสุทธิ การที่ราคาพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันมีราคาลดลง ก็น่าจะเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์ เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลควรจะถือโอกาสปรับโครงสร้างราคาพลังงาน กล่าวคือราคาน้ำมัน ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว และราคาก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้ราคาสะท้อนต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้โครงสร้างของการบริโภคพลังงานของเราสอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตและการนำเข้า รวมทั้งการรั่วไหลออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ ประเทศ ในกรณีที่ราคามีความแตกต่างกันมากจนเป็นเหตุให้มีการลักลอบการส่งออก ซึ่งเป็นการสร้างต้นทุนให้กับรัฐบาลมากขึ้น ในยามปกติการปรับโครงสร้างราคาพลังงานไม่อาจจะทำได้ง่าย เพราะความรู้ความเข้าใจของประชาชนในเรื่องข้อมูลและปัญหาการสื่อสาร
เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ ผลที่มาจากการใช้นโยบายพลังงานมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กันทางการเมือง ทำให้การพิจารณาให้สัมปทานในการขุดเจาะค้นหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต้องหยุดชะงักมาเป็นเวลา 2-3 ปีแล้ว
การเจรจากับกัมพูชาในการร่วมมือกันขุดเจาะหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในเขตที่ยังพิพาทกันอยู่ให้เป็นเขตพัฒนาร่วม หรือ Joint Development Area ก็ทำไม่ได้ในสมัยรัฐบาลเลือกตั้ง เพราะพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามก็ใช้เป็นเครื่องมือโจมตีกันทางการเมือง ในยามนี้ที่มีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งภาวะราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง อาจจะเป็นโอกาสดีที่จะทำให้การเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาประสบความสำเร็จก็ได้ อาจจะได้ก๊าซขึ้นมาใช้ในช่วงเวลาที่น้ำมันมีราคากลับขึ้นมาสูงก็ได้
ในช่วงเศรษฐกิจขาลง คงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่าง นอกจากการอ่อนตัวลงของราคาน้ำมันและราคาพลังงาน ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่เป็นผลดีและส่วนที่มีปัญหา
ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
**
http://www.prachachat.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น