วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ปรับกระบวนทัศน์ คอลัมน์ วันพุธที่ 05 พฤศจิกายน 2557


ปรับกระบวนทัศน์

คอลัมน์ วันพุธที่ 05 พฤศจิกายน 2557 
ผู้เข้าชม : 10 คน 

สถานการณ์เศรษฐกิจโลก กำลังบังคับให้คนทั้งโลก จำต้องปรับกระบวนทัศน์กันเสียใหม่ แบบที่ โทมัส คุห์น นักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์อเมริกันเคยกล่าวเอาไว้
ปรากฏการณ์ฉับพลัน หลังจากที่ ธนาคารกลางหรือ เฟดฯ ของสหรัฐฯเลิกมาตรการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเดือนละ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่ใช้มายาวนานเกือบ 7 ปี ธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็ใช้มาตรการเดียวกันที่แรงกว่า ด้วยวงเงินเฉลี่ยมากถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน
มาตรการให้ยาแรงดังกล่าว แม้จะต่างจากมาตรการของธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ที่เลือกเอาการลดดอกเบี้ยลงต่ำติดพื้นและติดลบแทนการเพิ่มวงเงิน แต่ก็เข้าใจกันได้ดีว่า ญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก เพราความพยายามจะใช้ อาเบะโนมิกส์ ตามแผน “ลูกศร 3 ดอก” ของเขา ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทำให้พ้นจากภาวะเงินฝืดขึ้นมาได้
ทันทีที่ญี่ปุ่นเริ่มใช้  “ยาแรงทางการเงิน” ดังกล่าว เกิดภาวะพร้อมกันอีก 2 ทางคือ ซาอุดีอาระเบีย ประกาศลดราคาน้ำมันที่ขายไปยังสหรัฐฯลงทุกระดับ ทำให้ราคาน้ำมันดิ่งเหว ชนิดตั้งตัวแทบไม่ทันกันเลย ไม่มีใครคาดคิดว่ายุคน้ำมันถูกจะกลับมาเร็วเช่นนี้
นอกจากราคาน้ำมันแล้ว ยังตามมาด้วยราคาทองคำที่ตกต่ำสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง และค่าเงินเยนที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี ถือเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมใดๆ ของประเทศใดประเทศหนึ่ง
โดยทฤษฎีและทางปฏิบัติ มาตรการ QE มีจุดมุ่งหมายในลักษณะ “ยาสารพัดนึก” สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจที่พังพินาศให้ฟื้นคืนกลับมา ด้วยการเพิ่มปริมาณเงินในท้องตลาดเพื่อทำให้เงินเฟ้อขึ้นมาจนกว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุถึง 5 อย่างพร้อมกัน (เพียงแต่จัดลำดับความสำคัญต่างกัน) คือ
ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรหรือตราสารหนี้ในท้องตลาดต่ำเพื่อช่วยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจหมุนเวียนได้ด้วยสภาพคล่อง 
เพิ่มมูลค่าของราคาหุ้นที่พังพินาศในตลาดหุ้นให้สูงขึ้น ทำให้ค่าพี/อีของหุ้นสูงกว่าระดับปกติ
เพิ่มอัตราเงินเฟ้อให้พ้นจากระดับต่ำสุด เพื่อให้นักธุรกิจมีความหวังในการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นในอนาคต
กระตุ้นการจ้างงานโดยเฉพาะแรงงานที่เข้าตลาดใหม่ทุกปี
กระตุ้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม
คำถามคือ หากค่าเงินเยนจากการใช้มาตรการ QE ของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันยืนเหนือระดับ 110 เยนต่อดอลลาร์ เกิดถดถอยลงไปที่ระดับมากกว่า 120 เยนต่อดอลลาร์ จะเกิดอะไรขึ้น
คำตอบเบื้องต้นออกมาว่า โลกโดยรวม อาจจะพอรับมือไหว จากการที่ญี่ปุ่นจะได้เปรียบดุลการค้าอีกครั้ง หลังจากถอยร่นมาหลายปี
คำถามต่อไปคือ หากค่าเงินเยนต่อดอลลาร์ ร่วงไปที่ระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ยุโรปจะรับมือไหวหรือไม่ 
คำตอบคือ สหรัฐฯที่กลับฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้งหลังวิกฤตซับไพรม์ น่าจะยังพอรับมือไหว แต่ยุโรปคงจะรับมือไม่ไหวแน่ จะต้องออกมาตรการทำนองเดียวกับ QE ที่หลีกเลี่ยงมาโดยตลอดไม่พ้น เพื่อให้ค่าเงินยูโรต่ำลงโดยเปรียบเทียบ
หากเป็นเช่นนั้นจริงหมายความว่าสงครามค่าเงินทั้งโลกจะต้องเกิดขึ้นโดยมีญี่ปุ่น และ ชาติในยูโรโซนเป็นคู่ต่อกรสำคัญ แต่ผู้ที่จะตกเป็นเหยื่อของการต่อสู้ในลักษณะ “ช้างประสานงา” ดังกล่าว หนีไม่พ้นหายนะของชาติกำลังพัฒนาทั่วโลก
โดยนัยของมาตรการ QE ที่จะส่งผลกระทบให้เกิดสงครามค่าเงินครั้งใหญ่ระลอกใหม่ในเร็วๆ นี้ (ซึ่งความเป็นไปได้สูงมาก) ทำให้มีข้อสรุปสั้นของบทบรรณาธิการ The Economist ของอังกฤษที่แหลมคมว่า การใช้มาตรการ QE ทั้งของสหรัฐฯ และตามด้วยญี่ปุ่นนั้น แท้จริงแล้วคือการส่งออกภาวะเงินฝืดจากชาติพัฒนาแล้วไปสู่ชาติกำลังพัฒนาหรือตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย ใกล้เคียงกับความเป็นจริง
กระแสโลกาภิวัตน์ และอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวทั่วโลก ทำให้การพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาลของสหรัฐฯและญี่ปุ่นซึ่งถือว่าเป็น  “ตัวเร่งทางการเงิน” (monetary accelerator) ตามมาตรการ QE ส่งผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกรับผลสะเทือนที่หวั่นไหวรุนแรงทั้งบวกหรือลบ
ข้อเท็จจริงที่ว่าใน 1 ทศวรรษมานี้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติกำลังพัฒนาหรือตลาดเกิดใหม่ เติบโตมากกว่าอัตราของชาติกำลังพัฒนา(โออีซีดี) ดังนั้น โอกาสที่จะมีแรงขับให้ค่าเงินสกุลท้องถิ่นสกุลต่างๆ แข็งค่าขึ้นเร็วย่อมเป็นเชื้อที่ดีอยู่แล้ว การเพิ่มปริมาณเงินในชาติพัฒนาแล้ว และปล่อยให้ไหลบ่าไปท่วมตลาดเกิดใหม่ จะทำให้ค่าเงินชาติเหล่านั้นผันผวนรุนแรงจากขนาดของตลาดที่ค่อนข้างเล็กกว่าโดยเปรียบเทียบ
ผลพวงที่เลี่ยงไม่พ้นอยู่ที่ การแข่งขันทำสงครามค่าเงินเพื่อปกป้องความสามารถทางการค้าและการลงทุนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นสงครามขยายวงที่เกิดจากเงื่อนไขของชาติพัฒนาแล้วโดยตรง
มาตรการส่งออกภาวะเงินฝืดผ่าน QE จึงเป็นการผลักภาระของหายนะทางเศรษฐกิจจากชาติร่ำรวยไปสู่ชาติที่ยากจน ที่กลายเป็นแพะรับบาป จากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของตนเอง
สถานการณ์ดังกล่าว อาจจะมีคนมองว่าจินตนาการ หรือ มโนเกินจำเป็น แต่ถามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด คำตอบคือ เป็นไปได้อย่างสูงยิ่ง หากว่าชาติกำลังพัฒนาไม่ได้เตรียมความพร้อมเอาไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น