วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

Amazing Japan

Amazing japan : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Amazing japan : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

]ผมเพิ่งกลับจากการเที่ยวเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆ  นี้  ซึ่งก็ทำให้ผมได้ความรู้และความเข้าใจในประเทศและคนญี่ปุ่นมากขึ้น  ว่าที่จริง  ผมเองไปเยี่ยมเยือนญี่ปุ่นมาหลายครั้งและต้องถือว่าเป็นประเทศที่ผมไปเที่ยวมากที่สุดประเทศหนึ่ง  ไม่ใช่ว่าผมจะชอบมากเป็นพิเศษ  แต่เหตุผลสำคัญก็เพราะว่าคนใกล้ชิดผมนั้นชอบไปเนื่องจากญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่ “อะไร ๆ  ก็ดูดีไปหมด”  แม้ว่าจะไม่มีอะไรที่ดูมหัศจรรย์หรือน่าทึ่งอย่างปิรามิดหรือกำแพงเมืองจีน  แต่ญี่ปุ่นมีสินค้ามากมายที่  “กุ๊กกิ๊ก”  สภาพของเมืองและสถานที่ที่สะอาดดูดี  มีดอกและใบไม้ที่สวยงามในบางช่วงเวลา  มีคนที่สุภาพน่ารัก  มีอาหารการกินที่คุ้นปาก  มีสถานที่ท่องเที่ยวที่จัดสร้างและบริหารอย่างดีซึ่งรวมถึงสวนสัตว์และสวนสนุกที่ทำได้ดีมากไม่นับโบราณสถานที่ไม่ด้อยกว่าใครในย่านนี้  และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมไปมากขึ้นยังอยู่ที่การเปิดให้นักท่องเที่ยวไทยเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องมีวีซ่าเพื่อที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  คนไทยที่ไปญี่ปุ่นหลังการเปิดให้เข้าประเทศโดยไม่ต้องมีวีซ่าเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด  เข้าใจว่าถึง 50%และผมก็รู้สึกได้จากการที่พบคนไทยจำนวนมากที่ฮอกไกโด

ความ “น่าทึ่ง” ของญี่ปุ่นนั้น  ผมคิดว่าไม่ได้อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นในแง่ของสถานที่หรือโบราณสถานหรือการช็อบปิ้ง  แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นแตกต่างจากคนอื่นโดยเฉพาะคนไทยมากนั้นอยู่ที่คนและสังคมของคนญี่ปุ่นเองที่ผมคิดว่าหาได้ยากในโลกนี้  ในมุมหนึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่  “สมบูรณ์แบบ” ในแง่ที่ว่ามันทำให้การอยู่ร่วมกันของคนญี่ปุ่นมีความกลมเกลียว  ปรองดอง  และช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี  การทะเลาะเบาะแว้งทำร้ายกันหรือการโกงหรือฉ้อฉลมีน้อยมากเมื่อเทียบกับสังคมอื่น ๆ  ทั้ง ๆ ที่เป็นสังคมหรือประเทศที่ใหญ่มาก  มีผู้คนกว่าร้อยล้านคนและอยู่กันอย่าง “แออัด”  นอกจากนั้น  นิสัยและพฤติกรรมนั้นยังส่งมาถึงนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนอย่างตัวผมด้วย   

เริ่มที่ระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่นนั้น  ต้องบอกว่าเป็นจุดเด่นที่หาไม่ได้ง่ายในสังคมอื่น  การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่มีการกำหนดไว้นั้นจะเป็นไปอย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก  และเนื่องจากคนเกือบทั้งหมดทำตาม  คนที่ไม่ปฏิบัติจะถูกมองในแง่ที่ไม่ดีมาก  ผลก็คือ  น้อยคนจะ “แหกกฎ”   ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น  การทิ้งขยะของแต่ละบ้านนั้น  เขาจะมีเวลากำหนดให้ทิ้งแน่นอนและขยะทุกชิ้นจะต้องมีการแยกแยะอย่างถูกต้องออกเป็นหลายใบ เช่น  ขยะเปียกหรือแห้งหรือขยะที่สามารถรีไซเคิลได้  เป็นต้น   ส่วนในที่สาธารณะนั้น  คนญี่ปุ่นจะไม่ทิ้งสิ่งของลงบนพื้น  ในบางกรณีที่ไม่สามารถหาถังขยะได้ซึ่งก็เกิดได้บ่อย ๆ  พวกเขาจะต้องเก็บกลับไปทิ้งที่บ้าน  ดังนั้น  ถนนหนทางและที่สาธารณะของญี่ปุ่นนั้นจะสะอาดมาก   ไม่ต้องพูดถึงขยะ  แม้แต่ใบไม้ก็มักจะถูกเก็บโดยเจ้าของบ้านที่ต่างก็ต้องกวาดเก็บหน้าบ้านให้ดูสะอาดทุกวัน

คนไทยคงจำได้ถึงภาพที่คนญี่ปุ่นต่อแถวรับอาหารหรือความช่วยเหลือจากกรณีสึนามิอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่มีการแซงคิวหรือแก่งแย่งกันทั้ง ๆ  ที่กำลังประสบความลำบากเหลือล้น  นั่นเป็นเรื่องปกติ  การเข้าคิวเพื่อรับบริการต่าง ๆ  หรือใช้บริการหรือทำสิ่งต่าง ๆ  นั้น  จะไม่มีการแซงคิวกันเลย  แม้แต่การข้ามถนน  ถึงจะไม่มีรถมาทุกคนต่างก็จะรอจนสัญญาณไฟเขียวขึ้นจึงจะข้าม  คนญี่ปุ่นนั้น  ตั้งแต่เด็กก็ถูกฝึกให้เป็นคนมีวินัยสูงมาก  ครูสอนเปียโนอย่างภรรยาผมเล่าว่า  เด็กเล็กชาติอื่นนั้น  มักจะไม่ค่อยซ้อมตามที่ครูสั่งก่อนเข้าเรียน  เวลาเรียน ก็มักจะลุกเดินไปมาและหาเรื่องคุย แต่เด็กญี่ปุ่นนั้น  จะทำการบ้านหรือซ้อมเล่นตามที่ครูสั่งเสมอ  เวลาเรียนก็มักจะตั้งใจมีสมาธิในการเรียน  ผมเคยเห็นเด็กอนุบาลขึ้นรถไฟจากบ้านไปเรียนคนเดียวที่ญี่ปุ่นแล้วก็รู้สึกทึ่ง  ผมเพิ่งรู้จักไก้ด์คนไทยที่เคยเรียนที่ญี่ปุ่นเล่าให้ฟังว่า  เขาไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองมาส่ง  แต่ที่เขาทำอย่างนั้นได้ผมคิดว่าเป็นเพราะที่ญี่ปุ่นนั้นสถิติอาชญากรรมต่ำมาก  และโรงเรียนก็ไม่ไกลจากบ้านและเด็กก็ไม่ไปเรียนที่ไกล ๆ  เนื่องจากโรงเรียนที่ญี่ปุ่นในระดับเด็กนั้นต่างก็มีมาตรฐานเท่ากัน

จุดที่เด่นมากที่สุดของญี่ปุ่นนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องของวินัย  แต่เป็นเรื่องของความ  “เสมอภาค” ที่คนญี่ปุ่นยึดถือเมื่อมองคนอื่นหรือปฏิบัติต่อคนอื่น  ทุกคนเคารพสิทธิของคนอื่นอย่างเท่าเทียมกับสิทธิของตนเอง  เวลาจะทำอะไรจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้  และเรื่องของวินัยหลาย ๆ  เรื่องก็เกิดจากเรื่องนี้  เช่น  ที่เขาไม่แซงคิวคนอื่นก็เพราะเขารู้สึกว่าทุกคนเสมอกัน  การแซงคิวก็คือการไม่เคารพสิทธิของคนอื่นที่มาก่อนและต้องได้สิทธิก่อน  ดังนั้น  เรื่องของ  “มนุษย์ป้าหรือมนุษย์ลุง” ที่เอาเปรียบคนอื่นจึงไม่มี  เรื่องสิทธิของคนอื่นนั้นกินความไปถึงสิทธิที่จะอยู่อย่างสงบไม่มีใครมารบกวนไม่ว่ากรณีใดด้วย  ดังนั้น  เวลาที่ใครต้องการเลี้ยงสุนัข  สิ่งสำคัญก็คือเขาจะต้องเอาสุนัขไปเข้าโรงเรียนเพื่อสอนให้ไม่เห่าทำเสียงดังรบกวนชาวบ้านด้วย  พูดถึงความเสมอภาคแล้วต้องยอมรับว่าคนญี่ปุ่นนั้น  มีความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศอื่น ๆ    รายได้ระหว่างพนักงานในบริษัทที่เป็นผู้บริหารกับพนักงานนั้นไม่ต่างกันมาก  ผมเคยได้รับฟังมาว่าผู้บริหารกับคนขับรถของบริษัทใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่นนั้นเงินเดือนอาจจะห่างกันแค่ 1 หรือ 2 เท่าตัวในขณะที่ในประเทศไทยนั้นอาจจะเป็น 8 หรือ 10 เท่า  และนี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นนั้นมีความเสมอภาคกันสูงมาก

ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าแปลกเหมือนกันเมื่อคำนึงถึงว่าคนญี่ปุ่นนั้นเป็นคนที่เก่งและฉลาดวัดจาก IQ ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก  พวกเขาจะโค้งให้กันและกันเวลาพบเจอและทักทายกันไม่ว่าจะเป็นคนที่สูงกว่าในด้านของอายุหรือฐานันดรหรือความมั่งคั่ง  คำพูดในภาษาญี่ปุ่นนั้นบางทีจะรู้สึกว่ายาวมากในแต่ละประโยคที่พูด  คนที่รู้ภาษาบอกผมว่าเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่ามันมีความหมายที่เป็นการให้เกียรติหรือให้ความนับถือหรืออะไรทำนองนั้นอยู่ตลอดเวลาในการพูดกับคนอื่น  นอกจากนั้น  คนญี่ปุ่นจะไม่พูดอะไรที่จะทำให้คนอื่นเสียหน้าหรือเป็นการหักหน้าคนอื่น   บ่อยครั้งพวกเขาก็มักจะไม่พูดอะไรเลยในที่ประชุมสาธารณะ

พูดถึงเรื่อง  “หน้าตา” แล้ว  คนญี่ปุ่นคำนึงถึงหน้าตาสูงมาก  พวกเขาจะไม่ทำอะไรที่ทำให้หน้าตาเขาดูไม่ดี  พวกเขาต้องใช้สินค้าเช่นเสื้อผ้าที่มียี่ห้อดีถ้าสามารถทำได้  ว่ากันว่าผู้ชายญี่ปุ่นนั้นเลิกงานแล้วต้องกลับบ้านค่ำ  เพราะถ้ากลับเร็วจะถูกมองว่าไม่ได้ไปดื่มสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานที่เป็นธรรมเนียมของพนักงานที่ทำงานหนักและมีสังคมที่จะมีความก้าวหน้า  ซึ่งนั่นหมายความว่าคุณเป็นพนักงานที่ไม่ค่อยมีอนาคต  ในด้านของผู้หญิงเอง  เมื่อแต่งงานแล้วก็มักจะต้องออกมาเป็นแม่บ้าน  ถ้ายังทำงานต่อก็จะถูกมองว่าสามีคงไม่ค่อยมีปัญญาเลี้ยงภรรยา  แต่เรื่องนี้ยังเป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ผมเองก็ไม่แน่ใจ  อีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับเรื่องหน้าตาหรือไม่ก็คือ  คนญี่ปุ่นที่ทำงานผิดหรือพลาดนั้น  ก็มักจะต้องออกมาขอโทษต่อหน้าสาธารณชนอย่างที่เราพบเห็นบ่อย ๆ  เวลานักการเมืองหรือผู้บริหารกิจการทำผิดหรือทำพลาดรุนแรง  พวกเขาจะต้องออกมายอมรับและขอขมาซึ่งนี่ก็ตรงกันข้ามกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่คนทำผิดมักจะออกมาปฏิเสธหรือแก้ตัวเสมอ

สุดท้ายคือเรื่องของความ “เนี้ยบ”  ของคนญี่ปุ่นที่ผมประสบทุกครั้งที่มาซื้อของและใช้บริการในญี่ปุ่น  ตัวอย่างเช่น  ไม่ว่าเราจะซื้ออะไรที่ร้าน  เขาก็มักจะห่อด้วยกระดาษของขวัญให้เราเสมอ  ทำให้ดูเป็นของที่มีค่ามากทั้ง ๆ  ที่มันอาจจะเป็นแค่ขนมอบกรอบ  หรืออย่างเวลาเขายื่นของให้เราไม่ว่าจะเป็นจานอาหารหรือเงินทอน  เขาก็จะใช้สองมือจับของสิ่งให้เราเสมอ  และอีกเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจก็คือ  เขาให้บริการทุกคนที่เป็นลูกค้าอย่างเสมอภาค  ไม่เหมือนสังคมอื่นที่มักจะดูว่าเราจะมีทิปให้หรือไม่  และคนญี่ปุ่นเองนั้นก็ไม่มีธรรมเนียมในการให้หรือรับทิปในการให้บริการด้วย

ผมไม่มีเนื้อที่เหลือพอที่จะสรุปอะไรทั้งสิ้น  ดูเหมือนว่าจะเป็นรายการโปรคนญี่ปุ่นสุด ๆ  แต่จริง ๆ  แล้วผมไม่มีอะไรซ่อนเร้น ผมแค่ทึ่งและผมจึงเขียน  แค่นั้นจริง ๆ

******************

Amazing japan 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โลกในมุมมองของ Value Investor

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น