รถยนต์ยอดวูบติดลบ20%
การเมือง วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2557
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยยอดขายรถยนต์ทั้งระบบในประเทศ สำหรับเดือนต.ค.ลดลง 20.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ 10 เดือนแรกปีนี้ ทำยอดขายรถยนต์ได้เพียง 7.19 แสนคัน ขณะที่การส่งออกมีอัตราลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของส.อ.ท. กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ทั้งระบบในเดือนต.ค.อยู่ที่ 70,761 คัน ลดลง 20.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 2.35% จากเดือนก.ย. เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัว
"การเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังไม่ได้ตามเป้าหมาย ราคาสินค้าเกษตรลดลง นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศจำนวนน้อยกว่าเป้าหมาย รวมถึงการส่งออกในอุตสาหกรรมอื่นๆ ยังมีแนวโน้มลดลงอีกด้วย" นายสุรพงษ์ กล่าว
สำหรับยอดขายรถยนต์ทั้งระบบในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) มีทั้งสิ้น 719,171 คัน ลดลง 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ในประเทศปรับลดลงตั้งแต่เดือนพ.ค. 56 ที่ได้ส่งมอบรถยนต์ในโครงการคืนภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์คันแรกหมดแล้ว ซึ่งยอดขายลดลงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเดือนก.ย.อยู่ที่ 68,843 คัน ลดลง 27.5% จากงวดปีก่อน
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนต.ค.อยู่ที่ 93,413 คัน ลดลง 3.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกากลางและอเมริกาใต้เริ่มติดลบมา 2-3 เดือนแล้ว โดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนต.ค.อยู่ที่ราว 4.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ ไทยมีการส่งออกรถยนต์ 932,365 คัน ลดลง 1.25% จากงวดปีก่อน โดยมีมูลค่า 4.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.08% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศและยอดส่งออกรถยนต์ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของยอดผลิตรถยนต์ โดยในเดือนต.ค.มียอดผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 159,760 คัน ลดลง 13.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 2.76% จากเดือนก.ย. เนื่องจากยอดขายภายใน
ประเทศยังไม่ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลง
ประเทศยังไม่ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลง
ส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ในเดือนม.ค.-ต.ค. มีจำนวนทั้งสิ้น 1,568,300 คัน ลดลง 25.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย(TISI) เดือนต.ค.อยู่ที่ระดับ 87.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 86.1 ในเดือนก.ย. นับเป็นการฟื้นตัวขึ้นหลังจากหดตัวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อที่เข้ามาในช่วงปลายปี จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,144 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรม ค่าดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ เช่น ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
"ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น ปัจจัยบวกจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจช่วงปลายปีในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม รวมทั้งการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่ขยายตัวดีขึ้น ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง" นายสุพันธุ์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น