วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ไทยพาณิชย์คว้า3ดีลยักษ์ รุกธุรกิจไอบีโกยกำไรเละ ซ่อนมูลค่าหุ้นมโหฬารเป้าหมาย235บาท

ไทยพาณิชย์คว้า3ดีลยักษ์
รุกธุรกิจไอบีโกยกำไรเละ
ซ่อนมูลค่าหุ้นมโหฬารเป้าหมาย235บาท

ข่าวหน้าหนึ่ง วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน 2557  


ไทยพาณิชย์ได้ 3 งานใหญ่ ดีล WHA รับรู้รายได้ไตรมาส 4 อีก 2 งาน ซีพีซื้อธุรกิจเทสโก้ มูลค่า 3 แสนกว่าล้านบาท และดีลขาย LHBANK  ด้านเจ้าสัวธนินท์ยอมรับอยากได้ LOTUS และเคยคุย LHBANK โบรกให้เป้าใหม่ SCB กว่า 235 บาท

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มี 3 ดีลใหญ่ที่ธนาคารได้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในปีนี้   ได้แก่ ดีลWHA ซื้อ HEMRAJ และอีก 2 ดีลเทสโก้โลตัส และ LHBANK ซึ่งคาดว่า 2 ดีลหลังจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1/58 และ จะทำให้ SCB รับรู้รายได้ และ สินเชื่อขนาดใหญ่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ดีลล่าสุด เป็นดีล CPALL จะเข้าซื้อธุรกิจ เทสโก้ โลตัส  หรือ LOTUS  ซึ่งต้องแข่งขันทางด้านราคากับอีก 2 ราย คือ กลุ่มไทยเบฟ และ กลุ่มอิออน โดยต้องยอมรับว่า ซีอีโอของอิออน เดินทางมาจากญี่ปุ่นด้วยตัวเอง และยังมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งต้องการขยายฐานที่เมืองไทยเป็นอย่างมากหลังไปขยายสาขาที่กัมพูชามาแล้ว
ก่อนหน้านี้รอยเตอร์ ระบุว่าเครือซีพีกำลังเล็งที่จะซื้อ เทสโก้ โลตัส กลับมามีมูลค่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเครือซีพีนั้นเคยขายโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ไปให้กับกลุ่มค้าปลีกยักษ์ใหญ่สัญชาติ UK อย่างเทสโก้ในปี 2541 ภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดย ณ เดือนสิงหาคม 2557 บริษัทเทสโก้ ประเทศไทย มีไฮเปอร์มาร์เก็ต 162 แห่ง และสาขาขนาดเล็กอีกกว่า 1,627 แห่ง ด้วยพื้นที่ทั้งหมด 15.8 ล้านตารางเมตร ซึ่งเทสโก้ถือเป็นผู้ดำเนินการค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก เซเว่น-อีเลฟเว่น ของกลุ่ม CPALL
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า อีก 1 ดีลที่สำคัญของ SCB   คือ เป็นที่ปรึกษาดีลแอล เอชไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป หรือ LHBANK  ที่จะหาพันธมิตรใหม่ โดยมีธนาคารจากประเทศจีน 2-3 รายที่สนใจร่วมทุนในครั้งนี้  โดยหนึ่งในนั้น ได้แก่ ผิงอัน ที่กลุ่มซีพีถือหุ้นใหญ่ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากัน
ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์แอล เอชไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป เผยว่าอยู่ระหว่างพิจารณา โดยเปิดโอกาสให้พันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง
“SCB จะได้รับค่าฟีจากการทำ 2 ดีลนี้ค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นดีลใหญ่  และหากดีลจบก็จะได้ค่าฟีจากการปล่อยเงินกู้อีก”แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB กล่าวว่า ธนาคารจะรับรู้รายได้จากการเป็นที่ปรึกษาดีล WHA ประกาศทำ Tender Offer หุ้น HEMRAJ ที่ราคา 4.5 บาท/หุ้น โดยแหล่งเงินทุนที่ WHA จะใช้ซื้อกิจการมาจากการเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ไม่เกิน 8.8 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือได้รับการสนับสนุนเงินกู้ยืมจาก SCB ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการทำ Tender Offer มีกำหนดเสร็จสิ้นในเดือนมี.ค.58 และ WHA จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ HEMRAJ ในขณะที่หุ้น HEMRAJ ยังคงซื้อขายในตลาดต่อไป
“เรารับรู้รายได้ทันทีในไตรมาส 4/57 และ ในปีนี้ดีลแบบนี้ไม่มีแล้ว โดยรายได้ปีนี้เข้าเป้าตามที่ตั้งไว้ ส่วนในปีหน้าจะมีอีกหลายดีลที่ธนาคารได้เป็นส่วนหนึ่งในการเจรจาหาผู้ร่วมทุน หาแหล่งเงินทุน ซื้อ ขาย กิจการ ทั้งใน และ ต่างประเทศ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจกลับมา ความเชื่อมั่นฟื้นคืน การลงทุนก็กลับมาเหมือนเดิม”

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เผยว่า บริษัทยังไม่เคยเข้าไปเจรจาตกลงการซื้อขายกับห้างค้าปลีกเทสโก้ โลตัสเลย ตั้งแต่มีกระแสข่าวออกมาว่าเทสโก้จะขายกิจการ แต่หากเทสโก้ต้องการขายกิจการยืนยันว่าจะเข้าซื้อหรือหากมีการเสนอขายหุ้นจะเข้าไปถือหุ้นด้วยแน่นอน เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ขัดกับค้าปลีกเดิมที่มีอยู่ทั้งร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น หรือห้างค้าส่งแม็คโคร อีกทั้งยังช่วยต่อยอดให้บริษัทสามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกลงและครบวงจรในทุกช่องทางอีกด้วย
”สื่อตีข่าวกันไปเอง รู้ดีเสียยิ่งกว่าผมอีก แต่ต้องยอมรับว่าเราสนใจที่จะซื้อ เพราะตอนที่ขายไปครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากต้องการนำเงินมาหมุนแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งตัวเทสโก้ไม่ได้มีปัญหา ก็ยังรู้สึกเสียดายมาถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้กับเทสโก้เราก็ไม่เคยคุยกันเลย ครั้งล่าสุดที่เจอกันนานมากแล้ว สมัยประธานใหญ่เทสโก้คนก่อนยังดำรงตำแหน่งอยู่ แต่หากมีการซื้อขายจริงจะรีบออกมาชี้แจงอย่างแน่นอน แต่คงไม่เข้าไปสอบถามเขาว่าจะขายหรือไม่เพราะเป็นการเสียมารยาท คงรอให้เขาออกมาชี้แจงเอง”
สำหรับเทสโก้ โลตัส เดิมเมื่อ 15 ปีก่อนเป็นของบริษัทซีพี แต่ได้ขายให้ออกไป เพื่อรักษาธุรกิจใหญ่ของเครือซีพีไว้ ซึ่งช่วงแรกเริ่มต้นจากการขายหุ้น 75% และเพิ่มทุนใหม่ จากนั้นจึงขายกิจการขายออกไปทั้งหมด โดยมีนายสุนทร อรุณานนท์ชัย ดำรงตำแหน่งเป็นประธานอยู่ในเทสโก้ โลตัส ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันซีพีและเทสโก้ ยังมีความสัมพันธ์ในฐานะคู่ค่า โดยเครือซีพีขายสินค้าให้กับทางกลุ่มเทสโก้ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศอย่างไรก็ตามบริษัทประเมินว่าหากมีการขายธุรกิจ มูลค่าของเทสโก้ น่าจะสูงกว่าราคาของห้างค้าส่งแม็คโคร ที่บริษัทเข้าซื้อกิจการไปเมื่อปี 56 ที่มูลค่าประมาณ 180,000 ล้านบาท
เนื่องด้วยจำนวนสาขาที่มีมากกว่า แต่คงไม่สามารถบอกได้ว่าราคา 300,000 ล้านบาท ที่ถูกหลายฝ่ายประเมินไว้มีความเหมาะสมเพียงใดทั้งนี้มองว่าเทสโก้ไม่น่าจะขายกิจการในตอนนี้ เพราะยังมีความแข็งแกร่งในการดำเนินกิจการ อีกทั้งยังมีหนี้สินที่ต่ำในหลักพันล้าน ในขณะที่มีรายได้สูงถึงหมื่นล้าน ประกอบกับทางเทสโก้ เพิ่งปรับเปลี่ยนประธานบริหารใหม่ จึงเป็นการเร็วเกินไปสำหรับการเข้ารับตำแหน่งแล้วตัดสินใจขายกิจการออกมา คาดว่าจะต้องใช้เวลาศึกษาธุรกิจในระยะหนึ่ง ก่อนตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่างๆ
นายธนินท์ กล่าวอีกว่า มีสถาบันการเงินหลายรายมาหารือว่า สนใจจะซื้อเทสโก้ ในไทยหรือไม่ นอกจากนี้ นายธนินท์ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้"เคยหารือ"กับ ผู้บริหารของ บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป แต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ

นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ในปี 58 สินเชื่อจะเติบโตได้ 6-8% บนพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ประเมินว่าจะเติบโต 4% โดยจะได้รับแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งหาในไตรมาสแรกของปีงบประมาณนี้ภาครัฐสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ 1 แสนล้านบาทก็เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดี
"ปีหน้าจะกลับมาฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี ซึ่งเราก็มองตัวที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การลงทุนภาครัฐเป็นหลักหากสามารถปฏิบัติได้ตามแผนต่อมาภาคเอกชนก็จะมีความเชื่อมั่น และ กลับมาลงทุนอีกครั้งหนึ่งจะส่งผลให้ GDP ปี 58 เติบโตได้อย่างที่คาดไว้"

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่ธนาคารลงนาม MOU กับ Mizuho Bank เพื่อขยายฐานธุรกิจสำหรับลูกค้าใน 2 ประเทศ คือ ไทย และ ญี่ปุ่นรวมทั้งประเทศอื่นๆที่มีเครือข่ายกันอยู่ด้วยการบริการทางการเงินที่ครบวงจร และ มีความหลากหลายเห็นว่าเป็นบวก แทนที่ SCB จะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่ก็สามารถเติบโตได้เร็วขึ้นเมื่อมีพันธมิตรช่วยเหลือ และ ได้ประโยชน์ร่วมกันนับได้ว่าจะสามารถแข่งขันกับ BAY ที่มีพันธมิตรเป็นญี่ปุ่นเช่นกัน
ส่วนแนวโน้มดีขึ้นไตรมาส 4/57 โดยเฉพาะสินเชื่อที่พักอาศัย ส่วน NIM คาดว่าจะปรับขึ้นต่อได้ยาก เพราะต้นทุนการเงินมีโอกาสปรับขึ้นหลังการแข่งขันระดมเงินฝากสูงขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อจะมากขึ้น โดย SCB เป็นผู้นำในสินเชื่อที่พักอาศัย ซึ่งคาดว่าการขาย และ โอนจะคึกคักขึ้นมากในไตรมาส 4/57สินเชื่อประเภทนี้จึงจะเติบโตดีขึ้นตามไปด้วย
โดยในปี 58 ธนาคารคาดว่าสินเชื่อจะเติบโตได้ 6-8% บนพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ประเมินว่าจะเติบโต 4% โดยจะได้รับแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของภาครัฐเป็นหลัก ส่วนเรื่องโอกาสเกี่ยวกับ AEC ทางธนาคารจะมุ่งเน้นในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และ จีน (ยูนนาน) โดยปัจจุบันธนาคารมีการขยายธุรกิจไปในกัมพูชา และร่วมกับพันธมิตรในเวียดนาม และ ลาว แต่เป็นเพียงการขยายสาขาเท่านั้นเนื่องจากประเทศมีขนาดเล็ก
อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาพื้นฐาน 235 บาท ซึ่งเทียบเท่ากับ P/BV ปี 58 ที่ 2.4 เท่า โดยจุดเด่นของ SCB คือ มีการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อที่ดี มีประสิทธิภาพ และ การดำเนินงานมีความยืดหยุ่นสูง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น