รถไฟไทย สื่อไทย
คอลัมน์ วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2557
จะเป็นด้วยความหวังดี หรือสอพลอ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือรวมๆ กันทั้งหมด สื่อไทยเมื่อวานนี้โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ รายงานข่าวที่ทำให้ราคาหุ้นก่อสร้างวิ่งกัน 3-5% เริงร่ากันไปวันหนึ่ง ระบุว่า ครม.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ 4 แสนล้านบาท ในความร่วมมือไทย-จีน
กว่าจะเข้าใจถ่องแท้ก็หลังจากตลาดหุ้นปิดทำการไปแล้วว่า เป็นเรื่องโอละพ่อ เพราะไม่มีเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเลย และเรื่องยังอยู่ที่ปลัดกระทรวงคมนาคม นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ เพื่อรวบรวมและประมวลนำเสนอครม.โดยที่ยังไม่มีวงเงิน หรือ เงื่อนเวลา ที่ชัดเจน
การนำเสนอข่าวดังกล่าว จึงเป็นความผิดพลาดอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนคุณภาพของสื่อไทยได้ชัดเจน
โดยข้อเท็จจริง โครงการรถไฟรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติอีกขั้นหนึ่งของระบบขนส่งและขนคนด้วยรางที่จำเป็นอย่างยิ่งหากประเทศไทยต้องการจะก้าวข้ามอุปสรรคและต้นทุนที่แสนแพงของการขนส่งและการเดินทางปัจจุบัน แต่โครงการสาธารณูปโภคที่พระพุทธเจ้าหลวงเคยริเริ่มเอาไว้เมื่อ 150 ปีก่อน ไม่เคยได้รับการใส่ใจจากรัฐบาลต่างๆ มายาวนาน
ในปี 2552 จีนเป็นผู้จุดกระแสเรื่องนี้ขึ้นมา เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เดินทางไปเจรจากับจีน ที่ต้องการให้เส้นทางรถไฟไทยเป็นส่วนหนึ่งในการแหวกวงล้อมในการคมนาคมระบบรางทางตอนใต้ของจีนให้ได้รับการแก้ไข โดยต้องการให้เส้นทางรถไฟที่จีนจะสร้างเชื่อมกับจีนตอนใต้มายัง สสป.ลาว และเวียดนาม เชื่อมเข้ามายังภาคอีสานของไทยต่อไปยังภาคตะวันออกและส่วนอื่นๆ
ในครั้งนั้น มีการตั้งคณะกรรมการประสานงานโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมา อย่างเป็นเรื่องเป็นราว พร้อมกับมอบให้กลุ่มบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ทำการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งระบบ แถมยังมีการแย่งซีนระหว่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นโครงการของใคร ก่อนที่ท้ายสุดจะลงเอยด้วยความว่างเปล่า ไม่ได้มีการดำเนินการต่อ
เหตุผลก็เพราะหลังจากการเจรจาเงื่อนไข พบว่าในการลงทุนร่วมนั้น จีนจะเป็นผู้ลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยีและราง แต่การเดินรถต้องให้คนไทยเป็นผู้ดำเนินการ แต่จีนจะทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทย โดยเงินที่จะนำมาลงทุนนั้น จีนจะปล่อยกู้ให้ไทยในอัตราดอกเบี้ย 5-7% ซึ่งถือว่าสูงเกินไปเมื่อเทียบกับโครงการของญี่ปุ่นหรือชาติอื่นๆ ที่อัตราดอกเบี้ยติดพื้นที่ระดับ 0.5-1% เท่านั้น
หากรัฐบาลไทยสมัยนั้นยอมรับเงื่อนไขดอกเบี้ยมหาโหดของจีน (ซึ่งผิดวิสัยเงินกู้โครงการระดับนี้ที่มักจะต่ำเหมือนให้เปล่ากันทั้งโลก) ป่านนี้ก็คงเป็นทาสดอกเบี้ยจีนอ่วมอรทัยแน่นอน
โครงการดังกล่าวถูกเก็บเข้าหิ้งจนมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่ง รมว.คมนาคม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ทำการศึกษาใหญ่โต กลายเป็นโครงการ ยุทธศาสตร์ลงทุนก่อสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาระบบราง 80% การพัฒนาระบบถนน 10% และระบบขนส่งทางออากาศทางน้ำ รวมแล้ว วงเงินรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ที่จะทำเป็นโครงการกู้เงิน ซึ่งก็มีคนขัดขวางสารพัด รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญที่ตีความว่า โครงการกู้เงินดังกล่าวผิดรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องตกไป
มาถึงรัฐบาลเผด็จการทหารภายใต้คสช. โครงการขนส่งระบบรางก็ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง คราวนี้ ปรับเปลี่ยนโครงการพอเป็นพิธีแล้วเพิ่มงบประมาณไปอีกเป็น 3 แสนล้าน ทั้งที่ลดโครงการลงจากรถไฟความเร็วสูงเป็นรถไฟธรรมดา ซึ่งน่าแปลกที่ไม่มีใครตั้งคำถามสักแอะ และสื่อทั้งหลายก็พากันเชียร์ยกใหญ่ว่าจะช่วยกระตุ้นการจ้างงานและเศรษฐกิจให้คึกคักขึ้นมาใหม่
ความร้อนรนของพฤติกรรม “เชียร์แขก” ของสื่อไทย จนถึงขั้นลงข่าวผิดพลาด (แม้กระทั่งผู้สื่อข่าวแห่งสำนักข่าวรอยเตอร์ก็เป็นไปด้วย) เป็นภาพสะท้อนสื่อไทยได้ดี
หลายปีก่อน ดันแคน แมคคาร์โก้ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ของอังกฤษ เคยศึกษาสื่อไทยกับการเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง และได้ระบุเอาไว้ว่า สื่อไทยนั้น “เล่นการเมือง” เสียจนเกินข้อจำกัดของวิชาชีพมายาวนาน จนแยกแยะไม่ออกว่า เส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริง กับความเห็นส่วนตัวนั้น อย่างไรเป็นหลัก เป็นรอง และอย่างไหนเป็นข้อเท็จจริง อย่างไหนเป็นความเห็น
ข้อสรุปดังกล่าว เมื่อปรากฏขึ้นมาเป็นข้อเท็จจริงจากข่าวมติ ครม.เท็จในเรื่องรถไฟทางคู่ 4 แสนล้านเมื่อวานนี้ ทำให้อดย้อนไปถึงคำพูดของนักโฆษณาชวนเชื่อชื่อดังของนาซีเยอรมัน โจเซฟ ก็อบเบิ้ล ที่เคยกล่าวหาว่าสื่ออย่างบีบีซี และรอยเตอร์นั้นคือ โรงงานผลิตคำโกหกของเชอร์ชิล หรือ Aus Churchills Lügenfabrik
ทำนองเดียวกันกับที่ จอร์จ ออร์เวล เคยระบุเอาไว้ถึงกระบวนการบิดเบือนข้อเท็จจริงภายใต้บงการของพี่เบิ้ม (big brother) และ กระทรวงแห่งความจริง ในประเทศโอเชียนเนีย ในนวนิยายเรื่อง 1984 อันลือลั่น ซึ่งปัจจุบันนักการสื่อสารมวลชนเรียกว่าเป็น “ยุทธการหญ้าเทียม” หรือ astroturfing อันถือเป็นส่วนหนึ่งของ สงครามชิงพื้นที่ข่าวสาร อย่างหนึ่ง เพื่อให้ข่าวสารประดิษฐ์ (หญ้าเทียม) ถูกเชื่อว่าเป็น ของจริง ของแท้ (หญ้าจริง)
สงครามเสื้อสี และความคลั่งเกลียดทักษิณ ชินวัตร กับพวกหลายปีมานี้ ทำให้สื่อไทยจำนวนมากเพลิดเพลินกับการผลิตชุดข้อมูลที่ครอบงำสังคมด้วยความเท็จจนเลยเถิดอย่างไร้ยางอาย ถึงขั้นเสนอความเท็จหน้าตาเฉย กรณีข่าวมติครม.รถไฟทางคู่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้น โดยไม่มีตรวจสอบ เป็นกรณีตัวอย่างเท่านั้นจากข้อมูลมากมายมหาศาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น