วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

“พิชญ์” ยืนยันซื้อหุ้นคืน 5 บาท แจงเหตุดีล BBL ต้องล่ม เพราะถูกตั้งเงื่อนไขให้ต้องค้ำประกันส่วนตัว ยืนยันมีพันธมิตรกองทุนพร้อมลงทุน 30,000 ล้านบาท แต่ไม่ทันกำหนดกสทช. ย้ำเดินหน้าลุยธุรกิจบรอดแบนด์เต็มสูบ

“พิชญ์” ยืนยันซื้อหุ้นคืน 5 บาท แจงเหตุดีล BBL ต้องล่ม เพราะถูกตั้งเงื่อนไขให้ต้องค้ำประกันส่วนตัว ยืนยันมีพันธมิตรกองทุนพร้อมลงทุน 30,000 ล้านบาท แต่ไม่ทันกำหนดกสทช. ย้ำเดินหน้าลุยธุรกิจบรอดแบนด์เต็มสูบ

นายพิชญ์ โพธารามิก กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เปิดเผยว่า บริษัทยืนยันการซื้อหุ้นคืนที่ราคา 5 บาท ส่วนกรณีคณะกรรมการบริษัทมีมติจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นจำนวน 0.30 บาท และมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน เพื่อบริหารทางการเงิน กำหนดวงเงินสูงสุดที่ใช้ในการซื้อหุ้นคืนประมาณ 6,000 ล้านบาท ทั้ง 2 กรณีดังกล่าว เป็นการที่บริษัทต้องการที่สร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น
สำหรับกรณีไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรกและจัดหาหนังสือรับรองวงเงินค้ำประกันจากสถาบันการเงินมูลค่า 75,654 ล้านบาท ให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทันตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ 21 มี.ค. 59 ได้นั้น เนื่องจากช่วงแรกบริษัทเจรจากับธนาคารกรุงเทพ เพื่อขอวงเงินกู้และมีพันธมิตรเป็น Huawei (หัวเหว่ย) จากประเทศจีน
โดยธนาคากรุงเทพให้วงเงินกู้ 80,000 ล้านบาท แต่เมื่อชนะประมูลธนาคารกรุงเทพเปลี่ยนเงื่อนไข โดยการขอให้ตนเองและนายอดิศัย โพธารามิก ซึ่งเป็นพ่อเซ็นหนังสือค้ำประกันส่วนตัว เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม จึงทำให้การเจรจากับธนาคารกรุงเทพต้องยกเลิก
ขณะเดียวกันบริษัทจำเป็นต้องหาพันธมิตรรายใหม่ โดยมีธนาคารไอซีบีซี จากประเทศจีน เป็นตัวกลางในการเจรจาที่จะนำพันธมิตรผู้ประกอบการโทรคมนาคมจากประเทศจีน อาทิ ไชน่า เทเลคอม, ไชน่า ยูนิเวอร์แซล และแชร์ริ่ง โมบาย โดยบริษัทดังกล่าว มีความสนใจที่จะใส่เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท แต่ถือว่าไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ ธนาคารไอซีบีซีจึงแนะนำพันธมิตรรายใหม่ เป็นกองทุนต่างชาติ โดยสนับสนุนเงินวงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท และเข้าถือหุ้นในบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด สัดส่วน 49% และธนาคารไอซีบีซีจะดำเนินการออกหนังสือรับรองวงเงินค้ำประกัน อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณวันที่ 21 เม.ย. 59 จึงไม่ทันกำหนดการชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกวันที่ 21 มี.ค. 59 ตามที่กสทช.กำหนดเวลาไว้
ขณะเดียวกันภายในวันที่ 20 เม.ย.นี้ บริษัทจะมายื่นเอกสารทุกกระบวนการในการหาพันธมิตร และจัดหาหนังสือรับรองวงเงินค้ำประกันจากสถาบันการเงินให้กับ กสทช.รับทราบอีกครั้ง สำหรับกรณีกสทช.เปิดให้ประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ แล้วแต่ตนเองไม่ได้ดำเนินการเข้าร่วมประมูลนั้น เนื่องจากบริษัทวางกรอบวงเงินในการประมูลไว้แล้ว 80,000 ล้านบาท ถือเป็นกลยุทธ์ในการประมูล
นายพิชญ์ กล่าวว่า บริษัทจะเดินหน้าขยายธุรกิจบรอดแบนด์อย่างต่อเนื่อง โดยมั่นใจว่าการทิ้งใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ไม่ส่งกระทบต่อการต่อใบอนุญาตธุรกิจบรอดแบรนด์ เนื่องจากเป็นคนละนิติบุคคล ขณะที่เกณฑ์ใหม่กสทช.ยังไม่บังคับใช้และไม่มีผลย้อนหลัง ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมจากกสทช.นั้น นอกเหนือจากการที่กสทช.ริบวงเงินหลักประกันจำนวน 644 ล้านบาท ต้องรอผลการพิจารณาของคณะทำงานพิเศษของกสทช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น