วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

กำไรลดลงฮวบฮาบแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไหน หุ้นธนาคารก็หมดเสน่ห์ลงชั่วคราวอย่างน้อยก็จนกระทั่งถึงช่วงเวลาหมดงวดไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

หุ้นธนาคารพาณิชย์


ไม่ว่านายธนาคารพาณิชย์ไทยที่เร่งแข่งกันปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงกะทันหันสัปดาห์นี้จะใช้ถ้อยคำอธิบายที่สวยหรูแค่ไหน นักลงทุนที่ช่ำชองย่อมรู้ดีว่า ถึงเวลาของการขายหุ้นธนาคารออกจากมือแล้ว         
การลดดอกเบี้ยเงินกู้ในเดือนเมษายนของธนาคารพาณิชย์ไทยครั้งล่าสุดนี้ เป็นการย่ำรอยเดิมจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่ธนาคารไทยพาณิชย์นำร่องลดดอกเบี้ยเช่นกัน แต่ด้วยบรรยากาศที่ต่างกัน
ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายกะทันหัน 2 ครั้ง ก่อนที่ธนาคารพาณิชย์จะเดินตามแนวทางที่กำหนดมา แต่ครั้งนี้ ไม่ต้องรอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณอะไรเลย ก็ตัดสินใจลดกันเองเสียแล้ว
ธนาคารไทยพาณิชย์ ตัดสินใจประกาศนำร่องก่อนเพื่อนอีกเช่นเคย โดยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ลงมา 0.15 % ต่อปีเหลืออยู่ที่ระดับ 6.375% ต่อปี ในค่ำวันที่ 4 เมษายน จะมีผลตั้งแต่วันที่ เมษายนเป็นต้นไป
เพียงแค่ข้ามคืน ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทยก็ประกาศตามมาติดๆ ไม่รั้งรอลดดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน โดยรายแรก นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย ออกมาประกาศเอง ว่าปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ลงมา 0.25% เหลือที่ระดับ 6.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน
งานนี้ถึงมาช้าไปนิด แต่มาแรงแซงหน้าไปไกลกว่า 
ส่วนรายหลัง ก็ไม่ยอมให้หัวแถวทิ้งห่างหน้า ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 2 ชนิดลงเท่ากัน 0.25% โดยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) จากเดิม 7.025% มาอยู่ที่ 6.775% และลูกค้ารายบุคคล เอ็มอาร์อาร์ (MRR) จาก 8.025% เป็น 7.775% โดยมีผลตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน เป็นต้นไป
แน่นอนว่า ด้วยเหตุผลเพื่อให้ภาพลักษณ์อันสวยงาม ไม่ให้ถูกข้อครหาว่าหน้าโลหิต นายธนาคารที่บริหารธนาคารทั้ง 3 แห่ง อ้างเหตุผลทำนองเดียวกัน แต่มีรายละเอียดต่างกันไปตามจารีตแบบที่คาดเดาได้ล่วงหน้าว่าต้องพูดอย่างนี้แหละ ไม่เป็นอย่างอื่น
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่ามีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่กำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปผ่านมาตรการทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้กระตุ้นในหลายรูปแบบเป็นระยะๆ พร้อมแบ่งเบาภาระทางการเงินของลูกค้า
ในขณะที่นายบัณฑูร ระบุว่า ต้องการสนองตอบนโยบายภาครัฐในการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการSME ซึ่งถือเป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศโดยอ้างถึงรายงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ว่า SME เป็นกำลังขับเคลื่อน GDP ของประเทศประมาณ 40%
ส่วนนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ระบุว่า การลดดอกเบี้ยเงินกู้ ก็เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจเอสเอ็มอี จะช่วยให้ต้นทุนดอกเบี้ยของผู้ประกอบการ SME ลดลง ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ
ไม่มีนายธนาคารพาณิชย์คนไหนยอมเสียหน้ามาประกาศว่า ที่จำต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้โดยที่แบงก์ชาติไม่ได้นำร่องส่งสัญญาณเหมือนเช่นเคยนั้น เกิดขึ้นเพราะมีคนขอกู้น้อยลง จนกระทั่งกำไรไตรมาสที่ผ่านมาของธนาคารลดลง เนื่องจากเงินฝากล้นธนาคารแล้ว...หรืออะไรทำนองนี้
ครั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ที่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ไม่ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงด้วย ทั้งที่ควรกระทำพร้อมกัน ซึ่งหากไม่ทำขึ้นมาจริงๆ (ไม่ใช่ปล่อยเวลาระยะหนึ่งแล้วลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงตามมาภายหลัง) มีหวังกำไรตกฮวบฮาบ
ดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารเป็นของคู่กัน  ธนาคารพาณิชย์ระดมเงินฝากของผู้มีเงินออม โดยจ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินฝากผ่านต้นทุน จากนั้นนำมาหาประโยชน์จากทั้งสินเชื่อเงินกู้ที่มีผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่าดอกเบี้ย นอกเหนือจากรายได้บางส่วนจากค่าธรรมเนียมให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินสารพัด
การขึ้นหรือลงของอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ ขึ้นกับ 2 ปัจจัยสำคัญคือ ปริมาณเงินในท้องตลาด และความต้องการเงินกู้ของลูกค้าในแต่ละช่วงของเศรษฐกิจ 
ในยามเศรษฐกิจขาขึ้น ความต้องการเงินกู้ของลูกค้าธนาคารพาณิชย์จะพุ่งขึ้นสูง ผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นตาม โดยดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นก่อน และดอกเบี้ยเงินฝากก็จะควบคู่ไปเพราะธนาคารต้องการระดมเงินฝากเข้ามาปล่อยกู้มากขึ้นเพื่อสร้างกำไรเพิ่ม (สอดรับกับการที่ธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสกัดเงินเฟ้อเคียงคู่กันไปด้วย)
ในยามเศรษฐกิจขาลง หรือถดถอย ความต้องการเงินก็ของลูกค้าธนาคารจะตกต่ำ ผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลง โดยเริ่มจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อลดต้นทุนธนาคารลง หากลดดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียว กำไรธนาคารจะลดลงไปรุนแรง
ปรากฏการณ์เช่นนี้ ไม่ได้ใหม่ และไม่ใช่ “มือที่มองเห็น” อะไร แต่เป็นกลไกปกติของธนาคาร สิ่งที่คนถือหุ้นธนาคารหรือนักลงทุนทั่วไปควรจับตามองหลังจากนี้ไป จึงอยู่ที่ความสามารถทำกำไรของธนาคารหลังจากขึ้นหรือลดดอกเบี้ยไปแล้ว
การลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุดนี้ อนุมานเบื้องต้นได้ว่า กำไรจะลดลงไปแน่ เพียงแต่จะลดไม่มากหากลดดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝาก แต่ถ้าลดดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียวก็อนุมานล่วงหน้าได้เลยว่า กำไรลดลงฮวบฮาบแน่นอน
ไม่ว่าจะเป็นอย่างไหน หุ้นธนาคารก็หมดเสน่ห์ลงชั่วคราวอย่างน้อยก็จนกระทั่งถึงช่วงเวลาหมดงวดไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น