วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ตลท.กระตุ้นรัฐเร่งลงทุน ดึงฟันด์โฟลว์เข้าตลาดฯ

ตลท.กระตุ้นรัฐเร่งลงทุน ดึงฟันด์โฟลว์เข้าตลาดฯ

2015-06-16

“สถิตย์” ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยเงินลงทุนไหลเข้าประเทศ ต่างรอการลงทุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ส่วนมูลค่าการซื้อขายที่หดตัว ยอมรับมาจากมาตรการสกัดหุ้นร้อน แต่ก็ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีเสถียรภาพที่ดี ด้าน MBKET แนะเข้าสะสมหุ้นได้
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คาดว่า เงินทุนไหลเข้าหรือฟันด์โฟลว์ต่างรอการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล เพราะหากมีการลงทุนเร็วก็จะช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจในด้านอื่นๆ หรือการลงทุนของภาคเอกชนจะตามมา
“ฟันด์โฟลว์ยังคงรอโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ฟันด์โฟลว์ก็ดูการเบิกจ่ายงบประมาณด้วยว่าเป็นไปตามกำหนดหรือไม่”
นายสถิตย์ กล่าวย้ำว่า ฟันด์โฟลว์ยังคงรอจังหวะเข้าลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีพื้นฐานดีและแข็งแกร่ง
ทางด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ไม่ได้มีปัญหา ซึ่งหากภาครัฐมีการลงทุนจริงตามกำหนด ก็จะทำให้มีการลงทุนของภาคเอกชนตามมา ส่งผลต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศที่ดีขึ้น รวมถึงภาคการส่งออก ภาคการบริการ การท่องเที่ยวก็จะเป็นปัจจัยเสริมเข้ามาด้วย และหากเศรษฐกิจไทยโดยรวมครึ่งปีหลังดีขึ้น การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะโดดเด่นขึ้นมาเช่นกัน
ขณะที่มองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล เงินเฟ้ออยู่ในระดับดี ฐานะการคลังยังดีอยู่ ตลอดจนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของทั้งระบบยังอยู่ในระดับเพียง 2% เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ยังอยู่ในระดับที่แข็งแรง ซึ่งปัจจัยทุกอย่างยังมีเสถียรภาพดี รอเพียงการลงทุนภาครัฐ ขณะที่ยังคาดว่าราคาพืชผลทางการเกษตรในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นด้วย
นายสถิตย์ กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ปรับลดลงเหลือราว 40,000 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้จะอยู่ที่ราว 50,000 ล้านบาท เป็นผลจากมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯและก.ล.ต.ร่วมมือกันออกมาตรการให้การซื้อขายในตลาดหุ้นมีเหตุผลมากขึ้น ทั้งมาตรการให้สมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนที่จะซื้อ(Cash Balance) และเกณฑ์ NET SETTLEMENT หรือการระงับการซื้อขายหุ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ได้ผล รวมถึงการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้การซื้อขายมีเหตุผล ได้มาตรฐาน นำไปสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯที่มั่นคง จะหนุนให้เกิดการลงทุนแบบมีเหตุผลในระยะยาว
ขณะที่หุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดต่อวัน 5 อันดับแรกในช่วงนี้จะเป็นหุ้นพื้นฐาน และมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน จะอยู่ในกลุ่มรายย่อยราวครึ่งหนึ่ง หรือ 2 หมื่นล้านบาท/วัน ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มกองทุนในประเทศ, ต่างชาติ และพอร์ตโบรกเกอร์ ซึ่งถือว่ามีความสมดุลแล้ว จากที่ในช่วงครึ่งหลังปีที่แล้วหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกเป็นหุ้นเก็งกำไร และมูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่จะอยู่ที่นักลงทุนรายย่อยราว 3 หมื่นล้านบาท/วัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเริ่มมีเสถียรภาพ
ด้านนายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังแม้มองอัพไซด์ไม่สดใสมากนัก โดยยังคาดดัชนีที่ระดับประมาณ 1,650 จุด เนื่องจากมีหลายสัญญาณทางเศรษฐกิจที่สะท้อนว่าดีขึ้นทั้งการบริโภคในประเทศ การท่องเที่ยว และสัญญาณการส่งออกที่กำลังจะฟื้นตัว
"ถ้าปรับทุกอย่างเข้าที่ก็น่าจะดี การใช้จ่ายภาครัฐกำลังจะเดินได้ และที่สำคัญดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เพราะช่วงดอกเบี้ยต่ำแช่นานอยู่สักพักนักลงทุนก็คงอยากจะกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง ด้านดาวน์ไซด์ ขณะนี้หุ้นปรับลงมาเยอะแล้วที่ 1,400 จุดกว่า ตกลงมาเยอะก็เข้าสะสมได้" นายมนตรี กล่าว
นายมนตรี กล่าวว่า สำหรับส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของบริษัทในบางช่วงอาจจะอยู่ในระดับต่ำกว่าตัวเลขสองหลัก แต่ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เพราะสิ่งที่บริษัทมุ่งเน้นคือคุณภาพของงายวิจัย ทั้งการเลือกหุ้น, การพิจารณาทิศทางราคา รวมถึงการแนะนำนักลงทุนให้หลีกเลี่ยงหุ้นเสี่ยงบางตัว ซึ่งบางครั้งอาจกำหนดเป็นหุ้น Turnover List เพิ่มจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด เช่น ต้องให้วางหลักประกัน 100% ในการซื้อขายหุ้นดังกล่าว หรือถ้าหลุด Turnover List ของตลาดฯ แล้วก็ยังคงมีการเตือนอยู่เช่นกัน
"หลังเข้มงวดหุ้นเป็นหุ้น Turnover List อาจทำให้มาร์เก็ตแชร์หลุด 2 หลักไปบ้างก็ไม่น่าจะมีอะไรน่าหนักใจเพราะเราอนุรักษนิยม ดูแลลูกค้าไม่เสี่ยงเกินไป  ส่วนจะคุมต่ออีกนานหรือไม่นั้น ถ้าปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลงก็ไม่ปล่อยให้หลุดจาก Turnover List ของเรา แต่ถ้าเป็นหุ้นพื้นฐานเราก็สนับสนุน" นายมนตรี กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น