วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

JAS ปฏิเสธข่าวกดราคารับซื้อหุ้นคืน 5.60 บาท ยืนยันไม่มีเป้ารับซื้อหุ้นคืนที่ราคาใดราคาหนึ่ง ยืนยันคดีฟ้องร้องต่างๆ ไม่มีผลต่อการดำเนินงานและจ่ายปันผล แม้สัดส่วนรายได้บรอดแบนด์สูงถึง 80% ของรายได้รวม

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: JASปัดกดราคาซื้อหุ้นคืน


ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2557
ผู้เข้าชม : 13 คน
JAS ปฏิเสธข่าวกดราคารับซื้อหุ้นคืน 5.60 บาท ยืนยันไม่มีเป้ารับซื้อหุ้นคืนที่ราคาใดราคาหนึ่ง ยืนยันคดีฟ้องร้องต่างๆ ไม่มีผลต่อการดำเนินงานและจ่ายปันผล แม้สัดส่วนรายได้บรอดแบนด์สูงถึง 80% ของรายได้รวม



วานนี้ (14 ส.ค.) ราคาหุ้นบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) หรือ JAS ปิดที่ระดับ 6.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หลังช่วงเช้าเจอแรงเทขายอย่างหนัก ทำให้ราคาลงไปแตะระดับ 6.05 บาท จากข่าวลือในห้องค้าว่าบริษัทมีเป้าหมายจะมีการกดซื้อหุ้นคืนที่ราคาแค่ 5.60 บาท แต่หลังจากผู้บริหารออกมาปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว ส่งผลให้นักลงทุนสนใจกลับเข้ามาลงทุนในหุ้น JAS อีกครั้ง ด้วยมูลค่าซื้อขายกว่า 4,521 ล้านบาท

นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เปิดเผยว่า กรณีมีกระแสข่าวลือในห้องค้าว่าบริษัทมีเป้าหมายซื้อหุ้นคืนที่ระดับราคา 5.60 บาท/หุ้นนั้น ขอชี้แจงว่ากระแสข่าวดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริงแต่ประการใด โดยบริษัทไม่มีราคาเป้าหมายในการรับซื้อหุ้นคืนที่ระดับราคาใดราคาหนึ่ง

ส่วนกรณีวันที่ 2 มิ.ย. 57 บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) หรือ TT&T ยื่นฟ้องบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด หรือ ACU ให้ขายหุ้น 70% ใน บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด หรือ TTTBB ให้ผู้ถือหุ้น TT&T และวันที่ 17 มิ.ย. 57 TT&T ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลให้มีคำสั่งห้ามไม่ให้ ACU ทำการจำหน่าย จ่าย โอน จำนำ หรือก่อให้เกิดภาระผูกพันใดๆ ในหุ้นที่ ACU ถืออยู่ใน TTTBB จำนวน 868,994,799 หุ้น และห้ามไม่ให้ ACU ลงมติใดๆ เกี่ยวกับการจำหน่าย จ่าย โอน หรือก่อให้เกิดภาระผูกพันในทรัพย์สินของ TTTBB

รวมถึงกรณีเจ้าหนี้สถาบันการเงินต่างประเทศของบริษัทเตรียมยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งภายในวันที่ 18 ส.ค. 57 เพื่อเรียกร้องให้บริษัทกลับมาชำระหนี้เป็นเงินต้นบวกดอกเบี้ยรวมประมาณ 10,000 ล้านบาทนั้น ยืนยันว่าการฟ้องร้องในคดีต่างๆ ดังกล่าวไม่มีส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทและการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ธุรกิจบรอดแบนด์ของบริษัทมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 80% ของรายได้รวมของบริษัท

ก่อนหน้านี้ นายพิชญ์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 15-20% จากปีก่อน ช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้อยู่ที่ 6,053 ล้านบาท เติบโต 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ประมาณ 5,400 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1,737 ล้านบาท เติบโต 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1,491 ล้านบาท ขณะที่ลูกค้าบรอดแบนด์ปัจจุบันสูงถึง 1.5 ล้านราย และมีจำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 20,000-25,000 รายต่อเดือน

ขณะที่ตัวแทนจากบริษัท วีระวงค์, ชินวัฒน์ และเพียงพนอ จำกัด ที่ปรึกษากฎหมาย JAS กล่าวว่า คดีของ TT&T จะไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญใดๆ ต่อ ACU และ JAS เนื่องจากบันทึกข้อตกลงในการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนวันที่ 13 ก.ย. 49 ได้สิ้นผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 51 ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลง หลังจาก TTTBB ได้ดำเนินการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนต่อ ก.ล.ต.แล้ว แต่ไม่สามารถหาข้อมูลตามที่ ก.ล.ต.ร้องขอได้ จึงทำให้ ก.ล.ต.ส่งคืนคำขออนุญาตในวันดังกล่าว จึงถือว่าบันทึกข้อตกลงสิ้นผลบังคับไปแล้ว

ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีผู้ถือหุ้น TT&T แม้แต่รายเดียวมาแจ้งความจำนงที่จะขอซื้อหุ้นตามสิทธิของตนกับ ACU ซึ่งหลังจากบันทึกข้อตกลงหมดอายุตั้งแต่ 12 ก.ย. 52 มาเป็นเวลาเกือบ 5 ปี ถือว่านานเกินสมควรตามกฎหมาย ดังนั้นบันทึกข้อตกลงจึงสิ้นผลบังคับไป

ขณะที่คำฟ้องระบุจำนวนหุ้นสูงเกินกว่าจำนวนในบันทึกข้อตกลง โดยบันทึกข้อตกลงที่ TT&T ใช้อ้างในการฟ้องร้องนั้นมีผลผูกพันเฉพาะส่วนของหุ้นเพิ่มทุนครั้งแรกจำนวน 99 ล้านหุ้นเท่านั้น โดยผู้ถือหุ้น TT&T สามารถใช้สิทธิ 70% ของการเพิ่มทุนครั้งแรก ดังนั้นจำนวนหุ้นที่ถูกต้อง คือ 69,999,510 หุ้น หรือคิดเป็น 5.60% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดใน TTTBB จำนวน 1,250 ล้านหุ้น

ตัวแทนจากที่ปรึกษากฎหมายของ JAS กล่าวว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ACU ก็ไม่ต้องโอนขายหุ้น TTTBB ที่ถืออยู่ไม่ว่าจำนวนใดๆ และยังเป็นสิทธิออกเสียงและรับเงินปันผลในหุ้นที่มีการฟ้องร้องกันเช่นเดิมทุกประการ เว้นแต่กรณีที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ระหว่างการพิจารณาคดีจำกัดสิทธิดังกล่าวเป็นกรณีเฉพาะเจาะจง ตามคำร้องของ TT&T เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 57

ทั้งนี้ ในขณะนี้อยู่ระหว่างศาลอยู่ระหว่างสืบพยานของทั้ง 2 ฝ่าย คาดว่าศาลจะมีคำสั่งประมาณต้นเดือนก.ย.นี้ ซึ่งหากศาลสั่งคุ้มครองประโยชน์ ก็จะต้องมาพิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นใน TTTBB ของ ACU และจะมีผลกระทบต่อการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ก.ล.ต.หรือไม่ อย่างไร อีกครั้งหนึ่ง

แต่หากศาลมีคำสั่งยกคำของ TT&T ก็จะทำให้การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเดินหน้าต่อไปได้ และ ACU ยังเป็นสิทธิออกเสียงและรับเงินปันผลในหุ้นที่มีการฟ้องร้องกันเช่นเดิมทุกประการ โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 7-10 ปี

สำหรับกรณีเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ที่มีปัญหา และจะยื่นฟ้องศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องให้ JAS ชำระหนี้ให้นั้น ยืนยันว่าจากการคำนวณโดยยึดหลักกฎหมาย จำนวนหนี้เหลือเพียง 1,343 ล้านบาทเท่านั้น และหากมีการฟ้องร้องจริงต้องไปพิสูจน์ในศาลว่าเป็นเจ้าหนี้เดิมตัวจริง ระหว่างที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 7-10 ปี JAS ก็ไม่ต้องชำระหนี้ไม่ว่าจำนวนใดๆ ให้แก่บุคคลที่มาฟ้องคดี

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น