วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556

BTSรายได้ปีนี้โต12% ผู้โดยสารพุ่ง7แสนคน

BTSรายได้ปีนี้โต12%
ผู้โดยสารพุ่ง7แสนคน
ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2556
"BTS" เผยผู้โดยสารปีนี้โตกระฉูด 8% เฉลี่ยเกือบ 7 แสนคนต่อวัน ขณะรายได้โตยิ่งกว่าที่ 12% จากอานิสงส์ปรับขึ้นค่าโดยสาร ยันชุมนุมทางการเมืองไม่กระทบการใช้บริการ พร้อมเซ็น MOU ร่วมกับรฟม.-ร.ฟ.ท.-BMCL พัฒนาระบบตั๋วร่วม




นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้อำนวยการสายปฏิบัติการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยถึงการดำเนินงานปี 2556 (เม.ย. 56-มี.ค. 57) ว่า ปริมาณผู้โดยสารจะเติบโตที่ 8% โดยล่าสุดในวันทำงานมีผู้โดยสารที่ 6.5 แสนคนต่อวันแล้ว และเคยทำสถิติสูงสุดที่ 7.8 แสนคนต่อวัน ขณะรายได้อยู่ที่ 20 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 12% ซึ่งรายได้จะเติบโตมากกว่าผู้โดยสารเนื่องจาก BTS มีการปรับขึ้นค่าโดยสารเฉลี่ย 7% ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา

ส่วนกรณีการชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้ไม่ได้ส่งผกระทบต่อปริมาณผู้ใช้บริการ โดย BTS ได้รับทั้งผลดีและผลเสียจากการชุมนุม ซึ่งผลดีคือมีประชาชนบางส่วนเห็นว่าการชุมนุมทำให้การจราจรติดขัด จึงไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว และหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าแทน ส่วนผลเสียคือมีการประกาศปิดโรงเรียนหลายแห่ง อีกทั้งชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่อาศัยในกรุงเทพมหานครเลือกที่จะไม่ออกจากที่พักอาศัยในช่วงนี้ เพราะหวั่นปัญหารถติด

“ความจริงเราเจอทั้งผลบวกและผลลบจากการชุมนุม ผลบวก คือ คนเลี่ยงรถติดไม่เอารถส่วนตัวมาแต่หันมาใช้รถไฟฟ้าแทน ส่วนผลลบคือมีการประกาศปิดโรงเรียนหลายแห่ง พอมาผนวกกันเลยทำให้ผู้โดยสารไม่ลดลง ปัจจุบันตัวเลขวันทำงานอยู่ที่ 6.5 แสนคนต่อวัน และเคยสูงสุดถึง 7.8 แสนคนต่อวัน ปีนี้ผู้โดยสารจะเติบโตที่ 8% ซึ่งเป็นไปตามเป้าที่เราวางไว้ที่ 7-10% ส่วนรายได้จะโตกว่าผู้โดยสารอยู่ที่ 12% เพราะเรามีการปรับขึ้นค่าโดยสาร” นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2560 BTS มีแผนจัดหารถเพิ่มอีก 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ เพื่อมารองรับการเดินทางในปี 2562 ซึ่งจะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตามสายทางรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ ที่มีแผนเปิดบริการปี 2559 และส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระกับหัวลำโพง-บางแค ที่มีแผนเปิดบริการปี 2560 ส่วนสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเปิดประกวดราคางานโยธาในเดือนมกราคม 2557 นั้น BTS มีแผนจะเข้าร่วมประมูลรับงานวางระบบและเดินรถแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (11 ธ.ค.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดประชุมชี้แจงเพื่อเชิญชวนผู้ที่สนใจยื่นเอกสารแสดงคุณสมบัติผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแข่งขันเป็นผู้รับงานจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) วงเงิน 412 ล้านบาท พร้อมทั้งมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานด้านการขนส่งทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย รฟม. การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL และ BTS เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบตั๋วร่วมในประเทศไทย

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ระบุว่า BTS มีความสนใจต่อการเข้าร่วมแข่งขันเป็นผู้รับงาน CCH แต่ต้องขอพิจารณาร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) อย่างรอบคอบก่อน ซึ่งปัจจุบัน BTS มีการให้บริการระบบตั๋วร่วมแรบบิทอยู่แล้วโดยมีบริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (BSS) เป็นผู้รับผิดชอบ โดย BSS เป็นบริษัทในเครือที่ BTS ถือหุ้น 90% และธนาคารกรุงเทพ ถือหุ้น 10% แต่หากจะเข้าร่วมประกวดราคาจริงคงต้องมีการหาพันธมิตรเพิ่ม

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สนข. เปิดเผยว่า สนข.จะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ารับการคัดเลือกมายื่นเอกสารในวันที่ 23 มกราคม 2557 จากนั้น สนข.จะดำเนินการคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้นให้เหลือ 6-7 ราย และให้ยื่นข้อเสนอทางเทคนิคต่อไป โดยผู้ได้รับการคัดเลือกจะต้องรับงานวางระบบ CCH และผลิตตั๋วร่วม มีระยะเวลาดำเนินงานรวมทั้งทดสอบระบบ 30 เดือน และช่วงปลายปี 2557 จะต้องเริ่มนำร่องการใช้ตั๋วร่วมในระบบรถไฟฟ้ากับทางด่วนหรือรถเมล์สาธารณะ ซึ่ง CCH จะเป็นบริษัทลูกของ รฟม. เพราะในอนาคต รฟม.จะต้องกำกับดูแลรถไฟฟ้าอีกหลายสายทาง

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น