Risk of weaker yuan on Thai baht
หวั่นหยวนอ่อนค่า ความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง / Flash / EIC Analysis | Economic Intelligence Center (EIC)
- เงินหยวนจะยังคงมีทิศทางอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จาก 1) การเข้าไปอยู่ในตะกร้าสกุลเงิน SDRs (Special Drawing Rights) ของ IMF ทำให้เงินหยวนจำเป็นต้องเคลื่อนไหวไปตามทิศทางของตลาดมากขึ้น 2) การเปลี่ยนการอ้างอิงค่าเงินหยวนของ PBOC ให้ขึ้นอยู่กับตะกร้าสกุลเงินแทนที่จะผูกอยู่กับดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว โดยการเปลี่ยนให้เงินหยวนมาขึ้นอยู่กับตะกร้าสกุลเงินอีก 12 สกุลที่มีทิศทางอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้เงินหยวนอ่อนลงตามไปด้วย และ 3) ค่าเงินหยวนที่ซื้อขายกันนอกประเทศ (CNH) ได้อ่อนตัวลงเร็วกว่าเงินหยวนในประเทศ (CNY) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเงินหยวนของต่างชาติที่ลดลง ทำให้ส่วนต่างระหว่าง CNH และ CNY กว้างขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ PBOC มีโอกาสปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงต่อไปอีก โดยไม่มีแรงจูงใจในการแทรกแซงค่าเงินมากดังเช่นในอดีต ซึ่งจะช่วยรักษาระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน หลังจากล่าสุดทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนในเดือนธันวาคมลดลงกว่า 108.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากสุดเป็นประวัติการณ์
- การทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกจีน การส่งออกของจีนในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้หดตัวลงแล้วกว่า 3%YOY ทั้งนี้ ดัชนีค่าเงินหยวน (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) เมื่อเทียบกับตะกร้าของค่าเงินอื่นๆ ซึ่งคำนวณโดย Bank for International Settlement (BIS) ได้แข็งค่าขึ้นเมื่อช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มาอยู่ในระดับที่มากกว่า 125 ซึ่งเป็นระดับที่ IMF ชี้ว่าไม่อ่อนค่าจนเกินไปแล้ว อีไอซีจึงมองว่า PBOC ได้เข้าไปลดค่าเงินลงเพื่อให้ NEER กลับมาอยู่ในระดับราว 125 อีกครั้ง
- ยังมีความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจจีน แต่โอกาสที่จะเกิด hard-landing ยังมีน้อย เศรษฐกิจจีนยังคงมีทิศทางชะลอตัวลงในปี 2016 จากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ชะลอลง แต่ภาคบริการของจีนกลับยังสามารถขยายตัวได้ในระดับสูง โดยล่าสุด ภาคการบริการของจีนมีสัดส่วนต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นและยังสามารถขยายตัวได้ดีในอัตราสูงกว่า 10% ซึ่งภาคการบริการจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจจีนต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ PBOC ยังมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจจีนเกิด hard-landing
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น