ซีเอ็นบีซี - หลังจากที่มีแรงเทขายมากสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 1,000 กว่าจุด หรือ 7.16% ขณะที่หุ้นจีนก็สามารถดีดตัวได้เมื่อปิดตลาดหลังจากที่หยุดการซื้อขายนานหนึ่งสัปดาห์ หุ้นพลังงานทั่วภูมิภาคก็ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้แม้ว่าราคาน้ำมันปรับตัวลง ขณะที่หุ้นทองคำปรับตัวลงหลังราคาทองลดลง 1.41%
ดัชนีนิกเกอิฟื้นตัวจากวันศุกร์ โดยปิดตลาดเพิ่มขึ้น 1,069.97 จุด หรือ 7.16% ปิดที่ 16,022.58 จุด ส่วนดัชนีโทปิกซ์ปรับตัวขึ้น 95.95 จุด หรือ 8.02% ปิดที่ 1,292.23 จุด ดัชนีนิกเกอิได้ปรับตัวลงถึง 12.88% ในช่วงวันที่ 1-12 กุมภาพันธ์
หุ้นญี่ปุ่นดีดตัวขึ้นทั่วกระดาน โดยอารมณ์ในตลาดพลิกผันทันทีหลังจากที่ โคโซ ยามาโมโตะ ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ออกมาชี้เมื่อวันศุกร์ว่า นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ต้องการจัดประชุมสุดยอดเศรษฐกิจฉุกเฉินเพื่อหารือมาตรการที่จะแก้ไขการชะลอตัวลงของการเติบโตทั่วโลกและความวุ่นวายในตลาด
หุ้นส่งออกญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นระหว่าง 6.71-9.56% เมื่อดอลลาร์แข็งขึ้น 0.65% เป็น 113.94 เยน ส่วนบริษัทเทรดดิ้งล้วนแต่รีบาวด์อย่างรุนแรงโดยปิดเพิ่มขึ้นบริษัทละกว่า 8%และในบรรดา 5 บริษัทเทรดดิ้งรายใหญ่ บริษัท อิโตชู คอร์ป ปรับตัวขึ้น 12.19%
ดัชนีคอสปิในเกาหลีใต้ ปิดเพิ่มขึ้น 26.92 จุด หรือ 1.47% ปิดที่ 1,862.20 จุด ส่วนตลาดออสเตรเลีย ปรับตัวขึ้น 78.15 จุด หรือ 1.64% ปิดที่ 4,843.50 จุด เนื่องจากภาควัสดุปรับตัวขึ้น 4.44% และภาคพลังงานปรับตัวขึ้น 3.08% ขณะเดียวกันบริษัททรัพยากรก็ปรับตัวขึ้นเป็นส่วนใหญ่ยกเว้นบริษัทเหมืองทองคำ ซึ่งหุ้นทองคำในออสเตรเลียปิดลดลงระหว่าง 0.55-13.04% เนื่องจากทองคำในตลาดสปอตปรับตัวลง 1.41% เหลือ 1,220.26 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ในประเทศจีน ดัชนีเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต ปรับตัวลงมากกว่า 2% ปิดลดลง 16.23 จุด หรือ 0.59% ปิดที่ 2,747.26 จุด ในช่วงเช้า นักวิเคราะห์กล่าวว่า การดีดตัวในสหรัฐและยุโรปเมื่อวันศุกร์และความเห็นของโจว เสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน เกี่ยวกับเงินหยวน อาจจะมีผลกระทบในทางบวกต่อการซื้อขาย
ค่าเงินหยวนแข็งสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สำหรับปีนี้เนื่องจากดอลลาร์-หยวนอ่อนตัวลง 1.22% เหลือ 6.4911 หยวนต่อดอลลาร์ โดยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โจวได้กล่าวกับนิตยสารการเงินไคซินว่า ไม่มีปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้เงินหยวนอ่อนลงต่อไป และยังไม่ยอมรับการคาดการณ์ที่ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะควบคุมเงินทุนอย่างเข้มงวดเพื่อยับยั้งไม่ให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ข้อมูลการค้าเดือนมกราคมชี้ว่า ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาด การส่งออกในเดือนมกราคมลดลง 11.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.9% ส่วนการนำเข้าลดลง 18.8% จากที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 0.8%
หุ้นธนาคารทั่วเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้น หลังจากที่หุ้นธนาคารในยุโรปและสหรัฐปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ ขณะเดียวกันบริษัทโบรกเกอร์ในเกาหลีใต้ ปิดเพิ่มขึ้น 3.23% และ 13.23%
หุ้นพลังงานก็ปรับตัวขึ้นทั่วภูมิภาคแม้ว่าราคาน้ำมันเจอแรงกดดันอีกครั้ง โดยในตลาดเอเชีย ตราสารน้ำมันดิบเวสต์ เท็กซัส อินเตอร์มีเดียต (WTI) ปรับตัวลง 0.65% เหลือ 29.25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 12.32% เมื่อวันศุกร์ในตลาดสหรัฐ ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ปรับตัวลง 0.51% เหลือ 33.19 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 9.35% ในสหรัฐเมื่อวันศุกร์ อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันยังคงกดดันและผันผวนอยู่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น