อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกอาจล้มละลายในต้นปี 2561 นี้ จากการวิเคราะห์ครั้งใหม่ของบิ๊ก ครันช์
ประเทศที่พึ่งพาน้ำมันหลายประเทศต้องผลิตน้ำมันมากขึ้นเพื่อให้งบประมาณสมดุล เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกต่ำมาก ประเทศที่ร่ำรวยอย่างกาตาร์ และคูเวตสามารถจัดการต่อปัญหานี้ได้ในขณะที่ประเทศที่ยากจนกว่าอย่างลิเบีย ได้เกิดความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองหนักเข้าไปอีก จากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จำเป็นจะต้องขายน้ำมันในราคา 269 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลิเบียจึงจะมีงบประมาณสมดุล
ซาอุเป็นชาติที่อยู่ระหว่างสองฝ่ายนี้ คือเป็นชาติที่มีเสถียรภาพที่มีสินทรัพย์สำรองหนุนหลังอยู่มากโดยในเดือนธันวาคม ซาอุมีทุนสำรองประมาณ 624,000 ล้านดอลลาร์ แต่เสถียรภาพนั้นส่วนใหญ่ต้องซื้อด้วยตำแหน่งงานของรัฐบาลและการใช้จ่ายของรัฐและเนื่องจากราคาน้ำมันลดลง ซาอุต้องดึงทุนสำรองมาชดเชยมาก
แน่นอนว่า การวิเคราะห์นี้ขึ้นอยู่กับว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจมากหรือมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อซาอุ และผู้เชี่ยวชาญยังคงสันนิษฐานว่า ราคาน้ำมันในขณะนี้ จะยังคงต่ำอยู่
ซีเอ็นบีซีได้มองไปที่ฐานะการเงินของซาอุในเดือนสิงหาคมเมื่อราคาน้ำมันแกว่งตัวระหว่าง 41-48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มันได้ลดลงจาก 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงสองสามเดือนก่อนหน้า แต่ประมาณการทิศทางที่ลดลงของซีเอ็นบีซี ยังห่างไกลมาก ในตอนนั้น ซีเอ็นบีซีประเมินว่าซาอุจะถังแตกในเดือนสิงหาคม 2561 แต่นั่นอิงราคาน้ำมันที่ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก่อนที่จะมีการลดค่าใช้จ่ายในภาครัฐ
ในแผนงบประมาณของซาอุปี 2559 รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายลง 13.8% จากระดับปี 2558 แม้ว่าบาร์เคลย์คาดการณ์ว่าจะลดลง 5% แต่ถึงกระนั้นก็ตาม บาร์เคลย์คาดว่าซาอุจะต้องขาดดุลงบประมาณ 12.9% ของจีดีพีในปี 2559
นอกจากจะต้องลดการใช้จ่ายแล้ว ซาอุได้เพิ่มการผลิตเป็นกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนตุลาคม นั่นเป็นตัวเลขล่าสุดที่หาได้จากสำนักบริหารข้อมูลพลังงาน (อีไอเอ)
ในขณะที่การผลิตเพิ่มขึ้นช่วยเพิ่มงบดุลให้ซาอุเล็กน้อย แต่มันไม่ได้บรรเทาภาวะน้ำมันที่ท่วมตลาดทั่วโลก อีไอเอคาดว่า การผลิตน้ำมันทั่วโลกจะอยู่ที่ 95 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 แต่การบริโภคอยู่ที่ประมาณ 94 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น
มักมีการโทษการชะลอตัวของจีนว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ดีมานด์น้ำมันลดลง และในแง่ของซัพพลาย ผู้ผลิตน้ำมันในชั้นหินได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีความทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจอันยากลำบากได้มากกว่าที่ซาอุคาด
อิหร่านได้กลับเข้าสู่ตลาดน้ำมันเช่นกันในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากชาติตะวันตกได้ยกเลิกมาตรการลงโทษต่ออิหร่านแล้ว อิหร่านผลิตน้ำมันประมาณ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันและได้กล่าวว่าจะไม่พิจาณาลดการผลิตจนกว่าจะผลิตน้ำมันเป็น 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ความหวังในก่อนหน้านี้ที่จะมีการตกลงเพื่อลดการผลิตระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และรัสเซียดับไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเมื่อเจ้าหน้าที่อิหร่านคนหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าวดาวโจนส์ ว่าจะไม่ร่วมตกลงด้วย
ซาอุได้กล่าวก่อนหน้านั้นว่าจะตกลงลดการผลิต หากทั้งสมาชิกโอเปกและชาติที่อยู่นอกกลุ่มโอเปกจะลดการผลิตแบบเดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น