วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ยังคงมีแรงเทขายรุนแรงในตลาดเอเชีย

ยังคงมีแรงเทขายรุนแรงในตลาดเอเชีย

2016-02-11 
ซีเอ็นบีซี - ยังคงมีแรงเทขายอย่างรุนแรงในตลาดญี่ปุ่น สิงคโปร์ และออสเตรเลียเมื่อวานนี้ โดยนักลงทุนทุบหุ้นธนาคาร และโภคภัณฑ์ และค่าเงินเยนยังคงแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์  ส่วนราคาน้ำมันยังคงผันผวนแม้ว่าปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในตลาดเอเชีย  นักลงทุนจับตาประธานธนาคารกลางสหรัฐแถลงภาวะเศรษฐกิจต่อสภาคองเกรส
ในออสเตรเลีย ดัชนีS&P/ASX 200 ปรับตัวลง 56.37 จุด หรือ 1.17% ปิดที่ 4,775.70 จุด หลังจากที่ปรับตัวลง 2.88% เมื่อวันอังคาร  ตลาดออสเตรเลียได้รับผลกระทบจากภาคพลังงาน วัสดุ และการเงิน ซึ่งปรับตัวลง 1.32%, 1.46% และ 0.71% ตามลำดับ  ดัชนียังปิดลดลง 20.17% จากระดับปิดสูงสุดในรอบ 52 สัปดาห์เมื่อเดือนเมษายน 2558 ซึ่งทำให้ตลาดออสเตรเลียเข้าสู่แดนตลาดหมี
หุ้นญี่ปุ่นก็ยังคงปรับตัวลงต่อเมื่อวานนี้ ดัชนีนิกเกอิปรับตัวลง 372.05 จุด หรือ 2.31% ปิดที่ 15,713.39 จุด หลังจากที่ปรับตัวลง 5.4% เมื่อวันอังคาร เนื่องจากนักลงทุนยังคงทุบหุ้นธนาคารและโภคภัณฑ์  ดัชนีนิกเกอิปิดในแดนลบ 6 วันในช่วง 7 วันที่ผ่านมา และปรับตัวลง 24.70% จากระดับสูงสุดในรอบ 52 สัปดาห์ที่ทำไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2558
ดัชนีสเตรทไทม์ สิงคโปร์ซึ่งเริ่มการซื้อขายอีกครั้ง หลังจากหยุดตรุษจีนในวันจันทร์และวันอังคาร ปรับตัวลง 2% หลังจากที่ในตอนแรกลดลงไปถึง 2.75%  ส่วนตลาดมาเลเซียซึ่งเพิ่งเปิดอีกครั้งเมื่อวานนี้เช่นกัน ก็ปรับตัวลง 0.73% ขณะที่ดัชนีจาการ์ตา คอมโพสิต อินโดนีเซียปรับตัวลงประมาณ 0.69%
ตลาดฮ่องกงจะเริ่มซื้อขายอีกครั้งในวันนี้ (11 ก.พ) แต่ตลาดจีนและไต้หวันปิดตลอดทั้งสัปดาห์
บทวิเคราะห์ของดีบีเอส แบงก์ กล่าวว่า ในขณะที่ตลาดหุ้นจีนยังคงปิดอยู่  มีความรู้สึกรังเกียจความเสี่ยงสูงอยู่เพราะมีแรงเทขายในส่วนอื่นๆ ของโลก แต่ยังคงต้องดูต่อไปว่าการรังเกียจความเสี่ยงนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ในขณะนี้ตลาดคิดว่าเงินเฟ้อและการเติบโตทั่วโลกกำลังลดลง  นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนก็มีผลมาก และตลาดกำลังมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยน้อยลง จากที่เมื่อหกสัปดาห์ก่อนคาดว่าจะขึ้นสองถึงสามครั้ง
ค่าเงินเยนญี่ปุ่นยังคงแข็งอยู่เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน โดยดอลลาร์อ่อนตัวลงเหลือ 114.63 เยนเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์-เยนต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557  และในระหว่างการซื้อขาย ดอลลาร์-เยนอ่อนตัวลงไปถึง 114.23 เยน
เคธี่ เหลียน กรรมการผู้จัดการบริษัท เอฟเอ็กซ์ สเตรเตอจี  ฟอร์ บีเค แอสเซ็ต แมเนจเมนต์ กล่าวว่า นักลงทุนจำนวนมากกำลังสงสัยว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงเพื่อยับยั้งการแข็งค่าของเงินเยน อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์-เยนได้ลดลง 700 pips ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา และไม่ได้เป็นเพราะตลาดมีมุมมองในด้านบวกเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น “การแข็งค่าของเงินเยนเป็นต้นทุนที่สำคัญสำหรับญี่ปุ่นเพราะประเทศพึ่งพาการส่งออก อุตสาหกรรมญี่ปุ่นหลายอุตสาหกรรมดำรงอยู่และตายไปเพราะค่าเงินเยน”
การแข็งค่าของเงินเยนส่งผลกระทบต่อบริษัทส่งออกตามระเบียบ ยกเว้นบริษัทยามาฮา มอเตอร์ที่สวนกระแสแรงเทขายในตลาดโดยสามารถปรับตัวขึ้นได้ 5.37% หลังจากที่ปรับตัวลงมากกว่า 23% ในเดือนนี้ เนื่องจากรายงานของดอยช์แบงก์ระบุว่า มีแรงเทขายหุ้นมากเกินไปเมื่อมีปฏิกิริยาต่อกำไรในการดำเนินงานซึ่งต่ำกว่าที่คาด และบริษัทยังชี้นำผลกำไรอย่างระมัดระวังมากเกินไป ดอยช์แบงก์ยังย้ำให้ซื้อและมองว่า กำไรในปี 2559 จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
หุ้นธนาคารยังคงได้รับแรงกดดัน  ธนาคารบิ๊ก โฟร์ของออสเตรเลียปิดในแดนลบ ขณะที่หุ้นธนาคารญี่ปุ่นยังคงปรับตัวลงอย่างรุนแรง เนื่องจากยังคงมีความวิตกเกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไรของธนาคารหลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ
ราคาน้ำมันก็ผันผวนเช่นกัน  แต่ได้ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในตลาดเอเชีย ตราสารน้ำมันดิบสหรัฐปรับตัวขึ้น 2.15% เป็น 28.54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากที่ลดลง 4.18% ในตลาดสหรัฐ ส่วนตราสารน้ำมันดิบเบรนต์ ปรับตัวขึ้น 2.11% เป็น 30.97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากที่ปรับตัวลงในสหรัฐถึง 6.17%
การดีดตัวเล็กน้อยของราคาน้ำมันเกิดขึ้นหลังจากที่โภคภัณฑ์ที่ถูกทุบได้พบแนวรับเมื่อคืนวันอังคาร หลังจากที่เพรส ทีวีของอิหร่านรายงานว่า ไบจัน ซานเจเนห์ รัฐมนตรีน้ำมันอิหร่าน ได้กล่าวว่า รัฐบาลเตหะรานพร้อมที่จะเจรจากับซาอุดีอาระเบียเกี่ยวกับภาวะตลาดน้ำมันในขณะนี้
ในขณะนี้ตลาดน้ำมันยังคงโอเวอร์ซัพพลาย และข้อมูลจากสถาบันปิโตรเลียม อเมริกา (เอพีไอ) ชี้ว่าการสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นประมาณ 2.4 ล้านบาร์เรล เป็น 503.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์วันที่ 5 กุมภาพันธ์
อย่างไรก็ดี หุ้นพลังงานทั่วเอเชียกลับปรับตัวลงเป็นส่วนใหญ่
ส่วนในสหรัฐ เจเน็ต เยลเล็น ประธานธนาคารกลางสหรัฐ จะแถลงภาวะเศรษฐกิจต่อสภาคองเกรสในวันพุธและวันพฤหัสบดี  ตลาดการเงินและนักลงทุนทั่วโลกจะจับตาอย่างใกล้ชิด เพื่อหาเบาะแสว่าเฟดอาจจะทำอะไรในอนาคตเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย
ตลาดหุ้นสหรัฐปิดลดลงเมื่อวันอังคาร ดัชนีดาวโจนส์ ปรับตัวลง 12.67 จุด หรือ 0.08% ปิดที่ 16,014.38 จุด ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวลง 1.23 จุด หรือ 0.07% ปิดที่ 1,852.21 จุด ในขณะที่ดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวลง 14.99 จุด หรือ 0.35% ปิดที่ 4,268.76 จุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น