วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

TH/SLC ทางใครทางมัน และโจทย์ของ วิชัย ทองแตง รายงานพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2557

TH/SLC ทางใครทางมัน และโจทย์ของ วิชัย ทองแตง

รายงานพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2557 
ผู้เข้าชม : 5 คน 

การประกาศแยกทางกันของความร่วมมือฉันหุ้นส่วนธุรกิจระหว่างบริษัท ตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TH กับบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ผู้ประกอบกาธุรกิจโทรทัศน์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์  (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ในสัปดาห์นี้  มีเหตุผลที่ตรงกันข้ามกับตอนที่ประกาศเข้าเป็นหุ้นส่วนกันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งชวนให้เกิดความสงสัยไม่น้อยว่า มีอะไรในกอไผ่มากน้อยเพียงใด
ประเด็นเรื่องความคลุมเครือของการแยกทางกันของ TH กับ SLC ในกรณีของสปริงนิวส์ทีวีนั้น แม้ผู้บริหารทั้งสองฝั่งจะออกมาให้เหตุผลสวยหรูเพียงใด ก็ไม่สามารถปิดบังได้มิดว่า มีความคลุมเครือที่ชวนให้กังขาไม่น้อย เช่นเดียวกันกับความคลุมเครือในตอนที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เลยทีเดียว
หากนับเนื่องจากระยะเวลาที่ TH เข้าร่วมถือหุ้นในสปริงนิวส์ทีวี ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ปีนี้ จนถึงเวลาที่ประกาศแยกทางกัน ก็กินเวลาเพียงแค่ 5 เดือนเศษเท่านั้น เรียกได้ว่า ก้นหม้อไม่ทันจะไหม้เสียด้วยซ้ำ และหากเทียบกับกรณีของชีวิตสมรสอันแตกหักอื้อฉาวของ “เอ๋-เจนนี่” ที่กำลังโด่งดังในพื้นที่สื่อยามนี้ด้วยแล้ว ถือว่า ใช้เวลาแสนสั้นกว่ากันอย่างมาก
ถือเป็นการส้องเสพทางธุรกิจที่สอดคล้องกับภาษิตในวรรณคดีเก่าแก่ที่ว่า  “รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม”  เลยทีเดียว
มองย้อนกลับไปนับแต่การประกาศของ TH  เข้าร่วมถือหุ้นในสปริงนิวส์ทีวี จะพบเห็นความคลุมเครือในเป้าหมายมาตั้งแต่ต้น เพราะดังที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจทีวีของสปริงนิวส์ ที่ได้ลงทุนทำมายาวนานหลายปีนั้น มีตัวเลขขาดทุนต่อเนื่อง ตั้งแต่ทีวีดาวเทียม และจะต้องลงทุนใหม่อีกจำนวนหลายพันล้านในอนาคตข้างหน้า โดยช่วงเวลาของการคืนกำไรจะกินเวลานานหลายปี การเข้าร่วมลงทุนจึงต้องมีการศึกษามาอย่างดีและรอบคอบ
คำถามดังกล่าวถูกหยิบยกมาตั้งแต่ต้นเพราะว่า TH กำลังมุ่งเข้าสู่ธุรกิจที่ตนเองไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และมีเดิมพันสูงยิ่งนักอย่างสื่อโทรทัศน์ดิจิตอล ทำให้มีคำถามเกี่ยวกับความพร้อมสำหรับบริษัทฯ
ข้อสังเกตของการเข้าร่วมหุ้นทางธุรกิจครั้งนั้นอยู่ที่ มติของคณะกรรมการ TH มีส่วนโยงใยเข้าส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนสำคัญที่ชื่อนายวิชัย ทองแตง เป็น 1 ในรายชื่อบุคคลวงจำกัด จำนวน 8 รายที่ได้สิทธิซื้อหุ้นที่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (พีพี) ของ TH ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 (ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นอย่างใหญ่หลวงทีเดียว แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงกลุ่มตระกูลกยาวัฒนกิจจะยังครองเสียงข้างมากร่วมกันต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง) อย่างลึกซึ้ง
นายวิชัยนั้น ถูกคนจำนวนมากเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังโครงการทีวีดิจิตอลของสปริงนิวส์ทีวี โดยทางอ้อมโดยเฉพาะในกรณีของ บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ  SLC ซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับช่องทางของธุรกิจของกลุ่ม CTH ที่นายวิชัยเป็นผู้ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย
คำถามจากนักลงทุนค่อนข้างมากจึงออกมาในทำนองว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่นายวิชัยจะใช้  TH เป็นเครื่องมือสำหรับการระดมทุนในอนาคตรองรับการขยายกิจการของธุรกิจสื่อที่ตนเองถือหุ้นร่วมอยู่อย่าง บริษัท เคเบิล ไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ CTH ที่มีแผนการลงทุนรุกในธุรกิจเคเบิลทีวีมูลค่ามากกว่า  20,000 ล้านบาท ผ่านทางสปิรงนิวส์ทีวี แต่คำตอบก็ยังคงล่อยลอยในสายลมจนถึงปัจจุบัน
ในครั้งนั้น คณะกรรมการของ TH ได้ระบุในเอกสารเป็นทางการของบริษัทฯว่า การเข้าร่วมทุนในสปิรงนิวส์ฯโดยจะเข้าถือหุ้นจำนวนรวม 25,000,000 หุ้น เท่ากับร้อยละ 25 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 10.00 บาท  คิดเป็นมูลค่าของรายการรวม 250 ล้านบาทเป็นไปด้วยเหตุผลรอบคอบแล้ว เพราะเป็นธุรกิจที่มีอนาคตที่ดี มีผลตอบแทนที่เหมาะสม และมีโอกาสในการขยายงานหรือพัฒนาการทางธุรกิจต่อเนื่องออกไปได้อีกหลากหลาย
ข้ออ้างที่เปิดเผยออกมาระบุว่า “การเข้าทํารายการดังกล่าวเพื่อขยายธุรกิจของบริษัทฯ เป็นแผนธุรกิจที่ดี และมีอนาคตรวมทั้งยังมีการรับประกันการจ่ายเงินลงทุนคืนจากบริษัทแม่ ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ mai และกำลังอยู่ระหว่างการเพิ่มทุน จะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนที่เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน หรือการชำระคืนเงินลงทุนของบริษัทฯตามเงื่อนไขได้”
เหตุผลอันสวยหรูดังกล่าว หากพิเคราะห์ลงลึกในรายละเอียดจะพบว่า มีเงื่อนไขให้น่ากังขาเช่นกันว่า แท้จริงแล้ววัตถุประสงค์ซ่อนเร้นของทั้งสองบริษัทนั้น เกิดขึ้นจากเป้าหมายอำพรางอะไรบางอย่าง 
TH  เป็นบริษัทที่กำลังมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ภายหลังจากการเพิ่มทุน เพื่อสร้างรายได้ในอนาคต ทดแทนธุรกิจเก่าคือสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาจีนที่นับวันจะไร้อนาคต (แม้ว่าจะยังมีกำไรบ้างเล็กน้อยอยู่ก็ตาม) หลังจากการเพิ่มทุนมาแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมานานนับปี กับสปริงนิวส์ฯที่มีอนาคตแต่ขาดแคลนเงินทุนในการสนับสนุนให้ในช่วงเวลาอันยากลำบากของการวางรากฐานระยะแรก การตัดสินใจเป็นหุ้นส่วนธุรกิจเพื่อเติมเต็ม “ชิ้นส่วนที่หายไป” ของแต่ละฝั่ง ถือว่ามีเหตุมีผล แต่เงื่อนไขที่เข้าร่วมทุน มีลักษณะ “แทงกั๊ก” อย่างน่าประหลาด
เงื่อนไขของการเพิ่มทุนของ TH ที่แจ้งกับสาธารณะนั้น มี 5 ข้อหลัก ดังนี้
-                             สปริงนิวส์ทีวี จะต้องดำเนินการให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ (หมวดหมู่ช่องรายการข่าวสารและสาระ) ("ใบอนุญาต") ภายหลังจากการชำระค่าใบอนุญาตงวดที่หนึ่งแล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่ทาง กสทช.กำหนด
-                             สปริงนิวส์ทีวี จะต้องดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วจากปัจจุบัน 5 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาท ภายใน 30 กันยายน 2557
-                             สปริงนิวส์ทีวี จะต้องให้สิทธิแก่บริษัท (First Right to Refusal) ในการเข้าซื้อหุ้นในสปริงนิวส์ทีวีได้จนถึงร้อยละ 60 ของทุนจดทะเบียนใดๆ ในราคาที่ตราไว้ (Par Value) ภายในกำหนดระยะเวลา 2 ปี  นับแต่วันที่บริษัทจดทะเบียนเพิ่มทุนสำเร็จ
-                              ในกรณีที่สปริงนิวส์ทีวี ไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้
บริษัทสามารถยกเลิกสัญญาจะเข้าร่วมลงทุน และเรียกเงินลงทุนทั้งหมดคืน พร้อมค่าเสียโอกาสร้อยละ 12 ต่อปี จากทางสปริงนิวส์ (โดยที่ SLC ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสปริงนิวส์ฯ จะเป็นผู้รับประกันการชำระคืนเงินลงทุนจำนวนดังกล่าวข้างต้น)
  • การได้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล
  • การเพิ่มทุนของสปริงนิวส์
  • การรักษาส่วนของผู้ถือหุ้นสุทธิ (Shareholders' Equity) ให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วในปี 2557
-                             การดำเนินการของบริษัทฯ สปริงนิวส์ทีวีจะต้องจัดการให้ TH ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการของสปริงนิวส์ทีวี จำนวนไม่น้อยกว่าสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ (ปัจจุบันคือ 1 คน) และมีตัวแทนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานในรายการที่เกี่ยวกับต่างประเทศ หรือจัดสรรเวลาให้แก่บริษัทฯในการทำรายการ โดยจ่ายค่าตอบแทนในอัตราที่เหมาะสม และเป็นมาตรฐานของทางสปริงนิวส์ทีวี
หากพิจารณาเงื่อนดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ข้อตกลงที่ทำไว้ระหว่าง TH กับ สปริงนิวส์ทีวี  เป็นข้อตกลงที่ทางฝ่ายหลังเสียเปรียบเต็มประตู เพราะเป็นสัญญาที่มีข้อผูกมัดฝ่ายเดียว โดยที่ TH ไม่ได้ถูกกำหนดเงื่อนไข และไม่ต้องชดเชยค่าเสียหายหากมีการยกเลิกข้อตกลงแต่อย่างใด
ข้อตกลงเช่นนี้ มีเงื่อนงำเสมือนหนึ่งสปริงนิวส์กู้ยืมเงินจาก TH (โดยพฤตินัย) มาใช้ชั่วคราวเพื่อเพิ่มทุนเป็นระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยมีอัตราดอกเบี้ยชดเชยในกรณีของการยกเลิกข้อตกลง โดย SLC เป็นผู้ที่จ่ายต้นทุนเงินยืม (โดยพฤตินัย) ดังกล่าว 
ข้อตกลงทางการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่มีลักษณะอำพรางเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องง่ายดายสำหรับ TH ที่จะถอนตัวออกมาอย่างง่ายดาย
เหตุผลของ TH ในการถอนตัวจากการร่วมทุน จึงเบาบางเสมือนเด็กอมมือว่า  “บริษัทกำลังจะได้ข้อสรุปในโครงการลงทุนที่สามารถได้รับผลตอบแทนทันทีในประเภทสื่ออื่น ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้บอร์ดพิจารณาในเดือนสิงหาคมนี้ ต้องการระดมเงินสด เพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว ซึ่งธุรกิจทีวีดิจิตอลเป็นธุรกิจที่มีอนาคตและสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างแน่นอน แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร”   และว่าจากการหารือกับทางสปริงนิวส์ฯ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าการขอยกเลิกการลงทุนจะไม่เกิดผลกระทบใดๆ ต่อทางสปริงนิวส์ฯอย่างแน่นอน
ทางด้านผู้บริหารของ SLC นายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า จะคืนเงินลงทุนให้กับ TH ได้ทันที โดยการยกเลิกสัญญาการเข้าร่วมลงทุน ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสปริงนิวส์ทีวี และ SLC ก็ยังมีเงินสดคงเหลือเพียงพอที่จะดำเนินการตามแผนงานต่างๆ ต่อไป  แต่ยังคงถือว่า TH ยังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี โดยในขณะนี้สปริงนิวส์ทีวียังไม่มีความ จำเป็นในการหา Strategic Partner ใหม่แต่อย่างใด เพราะผลการดำเนินงานของ สปริงนิวส์ทีวีดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมียอดโฆษณาเข้ามาต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเวลาไพร์มไทม์ 
นอกจากนั้น   SLC ยังคงมีหุ้นเพิ่มทุนให้แก่นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ที่ยังไม่ได้จัดสรรอีก 850 ล้านหุ้น ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปกับนักลงทุนเป้าหมายในเร็วๆ นี้
ความคลุมเครือของการแยกทางกันระหว่างTH กับสปริงนิวส์ทีวี (ซึ่งก็คือ SLC) จึงมีคำถามตามมาว่า จากนี้ไป TH ที่ผ่านการเพิ่มทุนมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้ทุนใหม่ดังกล่าว จะบ่ายหน้าไปหาธุรกิจแห่งอนาคตได้อย่างไร และ SLC จะหาพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่เพื่อขายหุ้น PP ระดมทุนต่อไปเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับสปริงนิวส์ทีวีอย่างไร เรียกได้ว่า ทางใครก็ทางมัน หรือ The way we were.
คำถามที่สำคัญ และยังไม่ได้มีใครตั้งยามนี้ก็คือ นายวิชัย ทองแตงในฐานะหุ้นส่วนของ TH จะตัดสินใจอย่างไรกับการลงทุนในบริษัทที่ยังไม่ชัดเจนในโมเดลธุรกิจ ซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจสื่อทีวีเคเบิล  ทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิตอล
อย่างหลังสุดนี้ คงต้องให้นายวิชัย ทองแตงคนเดียวเท่านั้น จะให้คำตอบได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น