วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

"BTS" คว้างานจัดทำระบบบริหารตั๋วร่วม เสนอราคาต่ำสุดที่ 339 ล้านบาท

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: BTSซิวงานระบบตั๋วร่วม

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2557
ผู้เข้าชม : 5 คน
"BTS" คว้างานจัดทำระบบบริหารตั๋วร่วม เสนอราคาต่ำสุดที่ 339 ล้านบาท “สุรพงษ์” ยันแม้ราคาต่ำแต่ทำงานได้ตามเงื่อนไขแน่นอน เพราะมีประสบการณ์เพียบ บริหารต้นทุนได้ ขณะที่ สนข.คาดอีก 1 เดือนครึ่งได้เซ็นสัญญา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (15 ก.ค.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เปิดข้อเสนอราคาโครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) ระบบตั๋วร่วม วงเงิน 430 ล้านบาท โดยมีนายปริญญา ถนัดทาง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร สนข. เป็นประธานรับและเปิดซอง ซึ่งมีผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิคและมีสิทธิ์แข่งขันราคา 3 ราย คือ

1.กลุ่มเอที (AT) ประกอบด้วย บริษัท ไทยทรานสมิชชั่นอินดัสทรี จำกัด ร่วมกับกลุ่มเอเซอร์จากประเทศไต้หวัน 2.กลุ่มบีเอสวี (BSV) ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพร่วม จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กับกลุ่มบริษัทสมาร์ททราฟฟิค จำกัด และบริษัท วิกซ์ โมบิลิตี้ จำกัด 3.กลุ่มเอ็มเอส (MS) ประกอบด้วย บริษัท เอมเอสไอโกลบอล จำกัด จากประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับบริษัท สามารถ คอมเทค จำกัด

ทั้งนี้ปรากฏว่ากลุ่ม BSV เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 339,689,668 บาท ส่วนกลุ่ม AT เสนอราคาที่ 415,588,000 บาท และกลุ่ม MS เสนอราคาที่ 411,949,989 บาท โดยนายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สนข. และกรรมการประกวดราคา เปิดเผยว่า ขั้นตอนต่อจากนี้คณะกรรมการประกวดราคาต้องรายงานการเปิดข้อเสนอราคาต่อนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สนข. เพื่อเห็นชอบก่อนส่งกลับมาให้กรรมการประกวดราคาทำการต่อรองราคากับกลุ่ม BSV และทำสัญญาจ้างงานต่อไป พร้อมกันนี้ สนข.จะรายงานความคืบหน้าโครงการให้กระทรวงคมนาคม และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบควบคู่กันไปด้วย

“มีหลายคนสงสัยเหมือนกันว่ากลุ่ม BSV เสนอราคาต่ำขนาดนี้เรายังไปต่อรองเขาอีกหรือ และเขาจะทำได้หรือไม่ ความจริงเราอาจไม่ต่อรองเลยก็ได้ หรือต่อรองให้ลดเป็นรายการ หรือถ้าลดไม่ได้ก็อาจขอให้เขาแถมให้แทน ก็ต้องมาดูรายละเอียดกันอีกที ซึ่งตามปกติขั้นตอนตรงนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนครึ่งก็สามารถสรุปราคาสุดท้ายและเซ็นสัญญากับผู้รับงานได้” นายเผด็จ กล่าว

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้อำนวยการสายปฏิบัติการ BTS กล่าวว่า แม้ BTS จะเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเกือบ 100 ล้านบาท แต่ยืนยันว่า BTS สามารถทำงานได้ตามเงื่อนไขแน่นอน เนื่องจาก BTS มีประสบการณ์ทำระบบตั๋วร่วมระหว่างรถไฟฟ้า BTS กับรถเมล์ด่วนพิเศษ BRT อยู่แล้ว จึงสามารถบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำได้

ส่วนระบบขนส่งที่จะเริ่มนำร่องในการใช้ตั๋วร่วมนั้น BTS ได้เสนอไป 3 ประเภทจาก 5 ประเภทที่ สนข.กำหนดไว้ในร่างเงื่อนไขประกวดราคา (TOR) คือ การใช้ตั๋วร่วมกับทางด่วน ร้านค้าที่ร่วมรายการ และซิมการ์ดโทรศัพท์ แต่สุดท้ายจะนำร่องระบบขนส่งสาธารณะใดบ้างนั้นต้องขึ้นอยู่กับการที่ สนข.จะมอบหมายมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเอกชนผู้ที่ได้รับงานจะมีเวลาทำงาน 30 เดือน โดย 6 เดือนแรกคือการออกแบบระบบ 6 เดือนต่อมาดำเนินการติดตั้ง และ 6 เดือนถัดไปทำการทดสอบการใช้งาน โดยต้องเลือกระบบนำร่องมา 1 รูปแบบ จาก 2 รูปแบบที่ สนข. กำหนด คือ 1.ใช้ตั๋วร่วมระหว่างรถเมล์ ขสมก.กับ รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ หรือ 2.ใช้ตั๋วร่วมระหว่างทางด่วนกับรถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์

อย่างไรก็ตามในการเปิดข้อเสนอราคาวานนี้ ได้มีความวุ่นวายเกิดขึ้นจนทำให้กำหนดการเปิดข้อเสนอล่าช้าไปเกือบ 3 ชั่วโมง เนื่องจากนายมนตรี สันติวัฒนาวงศ์ ผู้แทนจากบริษัท สามารถ คอมเทค ได้ร้องขอให้เลื่อนกำหนดเปิดข้อเสนอราคาไปอีก 1 สัปดาห์ โดยอ้างว่าผู้บริหารกลุ่ม MS ยังเดินทางมาไม่ทันเข้ารับฟังการเปิดราคา เพราะได้รับหนังสือแจ้งจาก สนข.ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เวลา 15.00 น. หลังจากนั้นก็เป็นวันหยุดราชการตั้งแต่วันที่ 11-14 กรกฎาคม และ สนข.ได้นัดเปิดข้อเสนอในวันที่ 15 กรกฎาคม ซึ่งดูรวบรัดเกินไป แต่ประธานรับและเปิดซองรวมทั้งผู้บริหารที่ร่วมในการเปิดข้อเสนอเห็นว่านายมนตรีไม่สามารถยกเรื่องนี้มาอ้างเป็นเหตุให้เลื่อนการเปิดข้อเสนอราคา เพราะแม้ประเทศไทยจะเป็นวันหยุดราชการแต่ชาวต่างประเทศก็ยังสามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยได้ตามปกติ

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น