วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

เกมใหม่บีทีเอสลุยธุรกิจแสนล้าน

เกมใหม่บีทีเอสลุยธุรกิจแสนล้าน ผนึกแสนสิริงัดที่ดินแนวรถไฟฟ้าขึ้นคอนโดฯ ปีนี้ 2-3 โครงการ 1.1 หมื่นล้านผุดห้องชุดไซซ์ใหญ่ 100 ตร.ม. เท่าบ้านเดี่ยวหลังเล็กทำเลส่วนต่อขยายชานเมือง ทุ่ม 2 พันล้าน ซื้อรถใหม่7 ขบวน ดันอินฟราฯฟันด์ 3 หมื่นล้าน ประมูลเดินรถสายสีเขียว-ชมพู ดึงจีนประมูลรถไฟทางคู่ ไฮสปีดเทรน
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปีนี้จะกลับมารุกหนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดยพัฒนาโครงการภายใต้โมเดลใหม่กับพันธมิตรใหม่ในแนวรถไฟฟ้าทั้งพื้นที่ เขตกรุงเทพฯและปริมณฑล อีกทั้งจะลงทุนเพิ่มในธุรกิจระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบให้ครอบคลุมมากขึ้น รองรับการขยายตัวของธุรกิจขนส่งมวลชนในอนาคตที่จะเติบโตขึ้นมาก 

ร่วมทุนบุกอสังหาฯรอบใหม่

สำหรับธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้จะเริ่มต้นรุกตลาดที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า ภายใต้การร่วมทุนกับ บมจ.แสนสิริและ บมจ.แนเชอรัล พาร์ค เต็มตัว หลังประกาศแผนร่วมทุนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยการร่วมทุนกับแสนสิริจะพัฒนาอสังหาฯเพื่อขาย ส่วนการเข้าถือหุ้นในเอ็นพาร์คจะพัฒนาอสังหาฯรูปแบบอื่น ๆ ที่ยังไม่มีในตลาด 

"สมัยก่อนเราเคยทำอสังหาฯ แต่เว้นช่วงไปนาน จากปัญหาการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจ พอกลับมาทำใหม่ยอมรับว่าไม่สามารถทำหลาย ๆ ธุรกิจได้พร้อมกัน เพราะเรื่องเงินทุนไม่พร้อม ยังไม่อันตรายเท่าคนไม่พร้อม" 

การร่วมทุนกับแสนสิริ เบื้องต้นปีนี้จะมีโครงการใหม่อย่างน้อย 2-3 โครงการ จะตั้งบริษัทร่วมทุน 1 บริษัทต่อ 1 โครงการ ถือหุ้นฝั่งละ 50:50 และสามารถซื้อที่ดินทั้งจากบีทีเอส แสนสิริ หรือเป็นที่ดินแปลงใหม่เข้ามาพัฒนา โดยไม่มีการปิดกั้นรูปแบบ งบฯซื้อที่ดินปีนี้ไม่ได้ตั้งไว้ชัดเจน แต่ถึงปัจจุบันซื้อที่ดินเข้ามาแล้วหลายแปลง ทั้งแนวรถไฟฟ้าที่เปิดบริการแล้ว และส่วนต่อขยายที่ยังไม่ได้สร้าง จะพัฒนาทั้งคอนโดมิเนียมและโครงการแนวราบ หรืออสังหาฯรูปแบบเมืองใหม่ขนาดใหญ่ ที่ดินอยู่ในข่ายจะนำมาพัฒนาโครงการปีนี้ 3 แปลง ได้แก่ 1) แปลงพหลโยธิน 21 ไร่ จะเริ่มทำคอนโดฯ LINE ที่ร่วมทุนกับแสนสิริ 2) ที่ดินในธนาซิตี้เหลืออีกกว่า 300 ไร่ อยู่ในแนวรถไฟโมโนเรล สายบางนา-สุวรรณภูมิ และ 3) ที่ดินติดบีทีเอสพญาไท 7 ไร่ 

รุกคอนโดฯชานเมืองไซซ์ใหญ่ 

รูป แบบการพัฒนาคอนโดฯแนวรถไฟฟ้าจะปรับเปลี่ยนสไตล์ใหม่ จากสมัยก่อนวิกฤตฟองสบู่นิยมห้องขนาด 100-200 ตร.ม. ปัจจุบันเล็กลงเหลือกว่า 20-40 ตร.ม. แต่เมื่อรถไฟฟ้าต่อขยายไปถึงรอบนอกกรุงเทพฯ บริษัทเห็นโอกาสการพัฒนาโครงการตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย จะดีไซน์ห้องให้ใหญ่ขึ้น น่าจะ 100 ตร.ม. เพื่ออยู่อาศัยได้จริง มีหลังเดียวก็เพียงพอ ไม่ต้องซื้อเป็นบ้านหลังที่ 2 ซึ่งราคาจะทำให้ได้ต่ำกว่า ตร.ม.ละ 1 แสนบาท นอกจากนี้ยังมีแนวคิดจะพัฒนาโครงการในรูปแบบเมืองใหม่บนที่ดินตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป มีทั้งที่อยู่อาศัย โรงเรียน ตลาด สถานพยาบาล ขณะนี้บริษัทมีที่ดินอยู่ในมือแล้ว 

"การร่วมทุนกับแสนสิริจะแข็งแรงขึ้น ก่อนหน้านี้เราคุยกับบริษัทอสังหาฯใหญ่ ๆ หลายราย แต่เลือกแสนสิริเพราะวิสัยทัศน์ตรงกัน" 

นาย วันจักร์ บุรณศิริ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.แสนสิริ เปิดเผยว่า แสนสิริเตรียมเปิดตัวโครงการคอนโดฯ THE LINE ใกล้บีทีเอสจตุจักร มูลค่าโครงการ 5,600 ล้านบาท ที่ร่วมทุนกับบีทีเอส และมีโครงการแนวรถไฟฟ้าที่กำลังศึกษา คาดว่าจะเปิดตัวปีนี้อีก 2 โครงการ เบ็ดเสร็จมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท

ตุน 3 หมื่นล.ลุยธุรกิจรถไฟฟ้า 

สำหรับ ธุรกิจรถไฟฟ้านายคีรีกล่าวว่า มีเงินทุนพร้อมจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอส โกรท (อินฟราฟันด์) 30,000 ล้านบาท จะนำมาลงทุนทั้งรถไฟฟ้าต่อขยายบีทีเอสเดิม เช่น การเดินรถสายสีเขียวช่วงหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมถึงสายใหม่คือสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)

"ธุรกิจเดินรถในประเทศไทยมี แค่บีทีเอสและบีเอ็มซีแอล เมื่อต่อขยายเส้นทางเดิม รัฐบาลควรจะให้เจ้าเก่าทำ มี 2 เหตุผล คือ รถวิ่งเชื่อมกันได้ ที่สำคัญมากคือทั้ง 2 บริษัทเหนื่อยมานานแล้ว บีทีเอสวันนี้ที่หายเหนื่อยมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ และบีเอ็มซีแอลถึงวันนี้ยังตึงตัวอยู่ ถ้าจะให้ 2 บริษัทเชื่อมคนละสี ผิดตรงไหน ผมไม่อยากให้ต่างคนต่างทำ"

อีกทั้งบริษัทยังสนใจโครงการ รถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลจะดึงเอกชนมาลงทุน 2 เส้นทาง คือกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-พัทยา และรถไฟไทย-จีน ความเร็ว 180 กม./ชม. ที่รัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลจีน และรถไฟโมโนเรล 

"อินฟราฟันด์ที่ออกมา เพื่อธุรกิจรถไฟฟ้าที่เป็นอาชีพหลักเรา ตอนนี้เงินก้อนนี้ก็ยังเตรียมรอไว้อยู่ อย่างสายสีเขียวเราลงทุนแน่ เพราะต่อขยายเส้นเดิม สีอื่นแล้วแต่นโยบายรัฐบาล จะประมูลแบบไหน หรือจะให้เราทำก็พร้อม ทุกอย่างที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้าหรือการเดินราง เราต้องพยายามเต็มที่ที่จะเข้าไปลงทุน" 

เชียร์รัฐบาลลงทุนไฮสปีดเทรน 

ขณะ ที่โครงการรถไฟความเร็วสูง นายคีรีมองว่าเป็นจังหวะเหมาะที่ประเทศไทยจะเริ่มพัฒนา เพื่อให้เกิดการกระจายตัวด้านเศรษฐกิจ และพัฒนาเมืองให้ออกไปสู่ชานเมืองและต่างจังหวัด แก้ปัญหาการกระจุกตัวในกรุงเทพฯ อยู่ที่การบริหารของรัฐบาลจะลงทุนรูปแบบไหน ระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อให้โครงการได้เริ่มต้น 

"ส่วนรถไฟไทย-จีน บริษัทมีพันธมิตรจีนอยู่แล้ว เพราะซื้อรถไฟฟ้าจากจีน และร่วมกันประมูลรถไฟฟ้าที่ปักกิ่ง รอความชัดเจนจากรัฐบาลเท่านั้น เพราะรัฐบาลไทยและจีนยังคุยกันแค่ระดับข้อตกลง ยังไม่มีรายละเอียดในรูปของสัญญา แต่บริษัทสนใจแน่นอน"

ซื้อรถใหม่รับผู้โดยสารพุ่ง 8 แสน

สำหรับ การลงทุนของบีทีเอส ปีนี้จะลงทุน 1,000-2,000 ล้านบาท ซื้อรถใหม่อีก 7 ขบวน (ขบวนละ 4 ตู้) รองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ล่าสุด บางวันมีผู้โดยสารเกิน 8 แสนเที่ยวคน/วัน แต่ยังไม่เต็มความจุที่รับได้ 1.2 ล้านเที่ยวคน/วัน ขณะที่รายได้โตขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 8% ปัจจุบันมีรายได้ค่าโดยสารอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท 

"ตอนนี้ผู้โดยสารบ่นว่าแน่นมาก เราก็เห็นใจ แต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา เพราะพื้นที่ตรงกลางยังมีที่ว่างอีกเยอะ เพราะรถไฟฟ้าเวลาคนเข้าไปจะไม่ยอมขยับไปข้างใน จะเพิ่มขบวนรถ แต่ติดปัญหาคอขวดที่สถานีสะพานตากสินที่เป็นรางเดี่ยว ถึงซื้อรถเพิ่มเป็น 10 ขบวนก็แก้ปัญหาไม่ได้"

รอบอร์ดเคาะขึ้นค่าโดยสารใหม่ 

นาย คีรียังกล่าวถึงการขึ้นค่าโดยสารว่า ยังไม่ได้ขอปรับขึ้นค่าโดยสารกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพราะยังไม่ถึงเวลาพิจารณา แต่ตามสัญญาสามารถขอขึ้นได้ ถ้ามีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพราะราคาสูงสุดปัจจุบันยังไม่เต็มเพดาน ต้องรอการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทที่จะประชุมเดือน เม.ย.นี้ 

ส่วน ธุรกิจโฆษณาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ยอดใช้งบฯโฆษณาชะลอตัว ปีที่ผ่านมา บมจ.วีจีไอฯ มีรายได้โตต่ำกว่าเป้า ขณะที่ธุรกิจบัตรแรบบิทการ์ด ปัจจุบันมีสมาชิก 3.5 ล้านใบ เพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านใบ อีก 2 ปีนี้จะเป็นบริษัทที่แข็งแรงขึ้นอีกมาก หลังรัฐบาลมีนโยบายใช้ระบบตั๋วร่วม 

ทั้ง นี้ บีทีเอสกรุ๊ปแบ่งโครงสร้างธุรกิจเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ธุรกิจระบบขนส่งมวลชนภายใต้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอสซี มีมูลค่าตามราคาตลาดหุ้น 140,000 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาฯมีมูลค่า สินทรัพย์ 20,000 ล้านบาท 3) ธุรกิจสื่อโฆษณาภายใต้ บมจ.วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย มูลค่าตามราคาตลาดหุ้น 40,000 ล้านบาท และ 4.ธุรกิจบริการบัตรแรบบิทการ์ดภายใต้ บจ.บางกอก สมาร์ท การ์ด ซิสเทม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น