วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

พ่อมดหมดลาย จอร์จ โซรอส

พ่อมดหมดลาย

2015-02-20 13:25:00
ผู้เข้าชม : 18

พลวัต ปี2015: วิษณุ โชลิตกุล

ชื่อของจอร์จ โซรอส พ่อมดเจ้าของบริษัทกองทุน เฮดจ์ฟันด์ ที่เลื่องชื่อระดับโลก เคยมีมนต์ขลังระดับที่เรียกว่า สามารถขับเคลื่อนตลาดได้ ยั่งยืนมานานกว่า 30 ปี แต่ปี 2557 ที่ผ่านมา มนต์ขลังของพ่อมดคนนี้ เริ่มจะเสื่อมลงอย่างชัดเจน เพราะกองทุนที่เขาบริหารอยู่ขาดทุนอย่างหนัก
ปีนี้ แม้มนต์ขลังของจอร์จ โซรอส จะไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าเดิม แต่คำพูดของเขา ก็ยังเป็นสิ่งที่สร้างกระแสข่าวได้ไม่น้อย
โซรอสประกาศว่า เขาได้โยกเงินกองทุนใต้การบริหารของ Soros Fund Management  2  พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเงินทั้งหมด 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มายังยุโรปและเอเชีย แทนที่จะเน้นหนักที่สหรัฐฯเหมือนเดิม
เหตุผลของโซรอสคือ ธุรกิจสำรวจและขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯนั้น หมดยุคทองแล้ว และตลาดเอเชียจะยังคงมีสภาพเป็นตลาดขาขึ้นต่อไปเมื่อเทียบกับสหรัฐฯที่เติบโตค่อนข้างช้า และสหภาพยุโรปที่จะยังคงมีปัญหาเงินฝืดต่อไปอีกนาน
การขยับตัวของโซรอส ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโดยพฤติกรรมที่ตลาดทราบกันดี ผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติทั้งหลายอย่างโซรอส หรือ มาร์ก โมเบียส หรือ คนอื่นๆ มักจะสร้างประเด็นข่าวการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ เพื่อสร้างโมเมนตัมให้กับตลาด ซึ่งมีผลอย่างมากทีเดียว
เวลาที่พวกเขาบอกว่า ได้เคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดใด จะมีผลให้หุ้นในตลาดนั้นร่วงผล็อยเหมือนใบไม้ร่วงต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีคนรู้ว่าจริงหรือไม่ แต่โดยข้อเท็จจริง พวกเขาได้ขายทิ้งหุ้นนั้นไปจนหมดแล้ว
เช่นเดียวกัน เมื่อพวกเขาบอกว่า ได้เคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าตลาด จะมีผลให้ราคาหุ้นหรือดัชนีของตลาดพลิกตัวเป็นขาขึ้น ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง พวกเขาซื้อหุ้นมาถือในมือในราคาฐานอยู่แล้ว สามารถทำกำไรได้โดยง่ายดาย ไม่ต้องขายที่ยอด แต่ขายตามเป้า
วิธีการเข้าและออกจากตลาดของผู้บริหารกองทุนเก็งกำไรขนาดใหญ่มักเป็นเช่นนี้ แม้หลายครั้งตลาดจะรู้ทัน ก็ยากจะพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือไม่ เพราะหลายกรณีเป็นแค่มายาคติ หรือการสร้างสถานการณ์เท่านั้น แต่บางกรณีก็เป็นจริง
การซื้อหุ้นหรือหลักทรัพย์เก็งกำไรของกองทุนต่างชาติในตลาดเป้าหมายนั้น มีวิธีการต่างจากนักลงทุนรายย่อย คือ เมื่อเลือกหุ้นเป้าหมาย (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นบลูชิพ จะไม่เลือกหุ้นที่ไม่เข้าเกณฑ์) ได้แล้ว พวกเขาจะซื้อหุ้นโดยเลือกเอาปริมาณเป็นหลัก ไม่สนใจเรื่องราคา เพราะท้ายสุดก็จะได้ราคาถัวเฉลี่ยระดับหนึ่ง
ผลจากการเข้าซื้อดังกล่าว จะทำให้ตลาดหุ้นเกิดโมเมนตัมอย่างรุนแรง แม้ว่าสัดส่วนของกองทุนพวกนี้จะค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับรายย่อยหรือกองทุนในประเทศอื่นๆ  ในช่วงขาขึ้น จะเกิดเป็นภาวะกระทิงขึ้นได้ง่าย ส่วนในเวลาที่พวกเขาขายก็จะทำในลักษณะเดียวกัน ส่งผลให้ตลาดร่วงวูบลงชนิดแทบจะไม่ทันตั้งตัว
ชื่อเสียงเมื่อครั้งการโจมตีค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงในค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) ของโซรอส ในช่วงเวลาที่เรียกกันว่า Black Wednesdayอันลือลั่นทำให้รัฐบาลคอนเซอร์เวทีฟของอังกฤษแทบจะล่มสลาย ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ร้ายในแวดวงการเก็งกำไรระดับโลกติดตัวโซรอสมายาวนานจนถึงทุกวันนี้
ในวิกฤตต้มยำกุ้ง โซรอสไม่ใช่ผู้นำ แต่ก็มีบทบาทในการโจมตีค่าเงินบาทที่รุนแรง จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยแทบล้มละลาย เพราะเอาทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศไปสว็อปสู้กับการโจมตีดังกล่าว เป็นวิกฤตที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อย จำชื่อของโซรอสในทางลบมาจนถึงทุกวันนี้
หลังจากนั้น เฮดจ์ฟันด์ของโซรอสก็ยังมีบทบาทในยุโรปตะวันออกหลายประเทศ แม้กระทั่งในรัสเซีย ก่อนที่จะกลับมาลงทุนใหญ่ในสหรัฐฯยุคการสำรวจขุดเจาะน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติที่เรียกว่า ออยล์ เชล และเชล แก๊ส เข้าถือหน่วยลงทุนในบริษัทน้ำมันและแก๊สจำนวนมาก ก่อนที่วิกฤตราคาน้ำมันถล่มทลายช่วงครึ่งหลังของปี ค.ศ. 2014 จะทำให้พวกเขาขาดทุนค่อนข้างมาก
 ในวัย 84 ปี โซรอสถูกตั้งคำถามในความสามารถทำกำไร บางคนปรามาสว่า จมูกที่ทรงประสิทธิภาพในการล่าของเขา หมดสมรรถภาพไปเสียแล้ว เมื่อเงินลงทุนเก็งกำไรในกองทุนใต้การบริหารของบริษัทเขา ลดลงไปถึง 1 ใน 3 จนเหลือเพียงแค่ 2.6 หมื่นล้านเท่านั้น 
โซรอสโต้ว่า มูลค่าสุทธิของหน่วยลงทุน (NAV)ที่ลดลงอย่างมากของเขา เพราะตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ที่นอกเหนือความคาดหมาย เป็นปัจจัยนอกเหนือการควบคุม แต่คนก็ตั้งคำถามเพิ่มเติมว่า นี่เป็นการปัดสวะความรับผิดชอบตามปกติเท่านั้นเอง แต่ชีวิตก็ต้องเดินหน้าสู้ต่อไป เพราะชื่อเสียงโดยรวมของโซรอส ก็ยังคงขายได้ต่อไป
ประเด็นที่โซรอสสามารถสร้างกระแสใหม่นี้ อ้างเหตุผลว่า มาตรการ QE ของญี่ปุ่น และธนาคารกลางสหภาพยุโรป เดือนละประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ของญี่ปุ่นกินเวลา 1 ปี และของยุโรปกินเวลา 17 เดือน จะทำให้มีเงินส่วนเกินหลุดออกมาในตลาดมากมายมหาศาล และดันให้ราคาหลักทรัพย์ทุกชนิดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเหมาะสำหรับการเข้าลงทุนอย่างยิ่ง
โซรอสประเมินว่า ตลาดหุ้นในยุโรปอย่าง ลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต ปารีส และอื่นๆ ล้วนแต่จะให้ผลตอบแทนในการลงทุนสูงกว่าสหรัฐฯที่ยกเลิกมาตรการ QE ไปแล้ว และต้องดิ้นรนกับปัญหาเชิงนโยบายว่า จะขึ้นดอกเบี้ยดีหรือไม่
เช่นเดียวกัน ตลาดหุ้นโตเกียวก็จะเหมาะสำหรับการลงทุน เพราะเม็ดเงินที่พิมพ์ธนบัตรออกมามหาศาล จะดันราคาหลักทรัพย์ในตลาดให้สูงขึ้น
โซรอสไม่ได้พูดถึงประเด็นที่ว่า ค่าพี/อีของตลาดในเอเชียโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวอลล์สตรีท  และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหภาพยุโรปยังคงย่ำแย่ต่อไปอีกนาน จะไม่ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ขึ้นในตลาดที่มีการเก็งกำไรเกินขนาด และอาจจะทำให้ตลาดพังพาบได้ง่ายมาก
การชี้นำของพ่อมดที่เรื้อเวทีอย่างโซรอสนี้ จะเป็นจริงหรือไม่ ไม่มีใครกล้ายืนยัน และที่สำคัญจะมีคนในเอเชียเชื่อมากแค่ไหน ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น