บีทีเอสรายได้เพิ่ม6%
ขึ้นค่าโดยสารมิ.ย.58
2015-03-11 12:03:00
ผู้เข้าชม : 30
“บีทีเอส” ข่าวดีลุ้นครึ่งปีหลังรายได้เพิ่ม 6% ขานรับปรับขึ้นค่าโดยสารใหม่ 1 มิ.ย. 58 เฉลี่ยประมาณ 5-6% จากเดิมเฉลี่ย 15-42 บาท ด้าน “คมนาคม” เตรียมตั้งบริษัทบริหารตั๋วร่วมจ่อคุย BTS-BMCL ร่วมลงทุน พร้อมเปิดประมูลหาต่างชาติร่วมถือหุ้น ขณะภาครัฐถือหุ้นใหญ่ไม่เกิน 50%
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าบีทีเอสจะมีการปรับขึ้นค่าโดยสาร BTS ตั้งวันที่ 1 มิ.ย. 58 เป็นต้นไป เฉลี่ยประมาณ 5-6% แต่ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เช่น เงินเฟ้อที่ผ่านมาต่ำกว่าคาด ค่าใช้จ่ายและดัชนีราคาผู้บริโภค หากปรับขึ้น บริษัทจะต้องแจ้งก่อนปรับจริง 30 วัน ปัจจุบัน BTS เก็บค่าโดยสาร 15-42 บาท เก็บต่ำกว่าสิทธิที่เก็บได้จริงช่วง 20-60 บาท และมีผู้ใช้บริการ 700,000 คนต่อวัน
พร้อมกันนี้บริษัทเตรียมเงินทุนสำหรับการประมูลโครงการเดินรถไฟฟ้า 6 เส้นทาง ระยะทาง 118.5 กิโลเมตร วงเงิน 12,300 ล้านบาท ภายในช่วง 5 ปีนี้ (ปี 2558-2562) ทำให้มีรายได้จากการเดินรถได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท ปี 2561 เติบโตจาก 1,700 ล้านบาท ในงวดปี 2557/58 (เม.ย. 57-มี.ค. 58) จากปัจจุบันเดินรถระยะทาง 36.3 กิโลเมตร
แหล่งข่าววงการเงิน กล่าวกับ ”ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ประเด็นปรับขึ้นค่าโดยสารดังกล่าว ถือเป็นปัจจัยบวกต่อ BTS เพราะนั่นหมายถึงรายได้ช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-6% แต่ต้องติดตามกันต่อว่า BTS จะปรับขึ้นได้ตามที่ระบุไว้หรือไม่ หรือปรับขึ้นได้น้อยกว่านั้น แต่ไม่ว่าจะขึ้นเท่าไร ถือเป็นปัจจัยบวกอยู่แล้ว
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วานนี้ (10 มี.ค.) เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการตั๋วร่วมที่มีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อติดตามความคืบหน้างานให้บริการระบบตั๋วร่วม โดยหารือเรื่องจัดตั้งองค์กรขึ้นมารับผิดชอบดูแลการให้บริการระบบตั๋วร่วม ในรูปแบบบริษัท จำกัด สังกัดกระทรวงคมนาคม ใช้วิธีลงทุนแบบรัฐและเอกชนลงทุนร่วมกัน (Public private Partnership : PPP) แบ่งเป็นการร่วมทุน 3 ฝ่าย คือ 1.ภาครัฐ ถือหุ้นใหญ่สุดแต่ไม่เกิน 50%
2.ภาคเอกชนที่ให้บริการเดินรถไฟฟ้า เช่น บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL โดยภาครัฐจะใช้วิธีเจรจากับเอกชนดังกล่าว 3.ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการระบบ ซึ่งเป็นบริษัทจากต่างประเทศและรัฐบาลไทยจะใช้วิธีเปิดประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) โดยการจัดตั้งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ระหว่างการจัดตั้งบริษัท สนข.และหน่วยธุรกิจ (BU) ตั๋วร่วมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเป็นผู้รับผิดชอบบริหารการให้บริการตั๋วร่วมไปก่อน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการตั๋วร่วมระดับประเทศที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน จากปัจจุบันเป็นคณะกรรมการแค่ระดับกระทรวง ส่วนกรรมการจะประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
“หลังจากนี้ สนข.จะไปจัดทำรายละเอียดทั้ง 2 เรื่อง คือ ตั้งกรรมการระดับประเทศ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน โดยสัปดาห์หน้า สนข.จะส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวง จากนั้นกระทรวงจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ถ้าได้รับความเห็นชอบเราก็เดินหน้าการจัดตั้งทันที” นางสร้อยทิพย์ กล่าว
นายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สนข. เปิดเผยว่า บริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาบริหารระบบตั๋วร่วมนั้น จะมีรายได้มาจากค่าธรรมเนียมการใช้ (Transaction Fee) ซึ่งจากการประเมินขณะนี้ ค่า Transaction Fee ในระบบรถเมล์จะอยู่ที่ 1.4% รถไฟฟ้า 1.5% ทางด่วน 1.8%
ขณะล่าสุดกลุ่มบีเอสวี (BSV) ประกอบด้วย BTS กับกลุ่มบริษัท สมาร์ททราฟฟิค จำกัด และบริษัท วิกซ์ โมบิลิตี้ จำกัด ผู้รับงานโครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ระบบตั๋วร่วม วงเงิน 338 ล้านบาท เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยใช้เวลา 48 เดือน ซึ่ง 6 เดือนแรก คือ การออกแบบระบบ 6 เดือนที่สอง คือ การติดตั้งระบบแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และ 6 เดือนที่สาม เป็นการทดสอบระบบ โดยอยู่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม 2559
สำหรับระบบขนส่งมวลชนที่จะเริ่มใช้ระบบตั๋วร่วมในปี 2559 ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของระบบขนส่งมวลชนนั้นๆ แต่กลุ่ม BSV กำหนดไว้ในการยื่นข้อเสนอตอนประกวดราคาว่า ระบบที่จะใช้ได้ก่อน คือทางด่วนและรถไฟฟ้าอย่างน้อย 1 สายทาง คือ รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์
เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นรถไฟฟ้า BTS ก่อน ส่วนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการนี้ หากรายใดมีความพร้อมก็สามารถติดต่อขอระบบที่กลุ่ม BSV ผลิตไปติดตั้งได้ ขณะเดียวกันเมื่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ เปิดให้บริการในปี 2559 จะสามารถใช้บริการระบบตั๋วร่วมได้ทันที เพราะโครงการใหม่ติดตั้งระบบได้ง่ายกว่าการพัฒนาระบบเก่า อย่างรถไฟฟ้าใต้ดินปัจจุบัน
นายเผด็จ กล่าวต่อว่า บัตรตั๋วร่วมมี 3 รูปแบบ คือ 1.แบบไม่ลงทะเบียน คือใช้แล้วหมดไปไม่มีประกันบัตร 2.บัตรที่ลงทะเบียน คือบัตรที่มีประกัน หากบัตรหายจะได้รับชดใช้ค่าเสียหาย 3.บัตรส่วนบุคคล สำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้มีรายได้น้อย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น