ดาบสองคม "นาโนไฟแนนซ์"
โดย วิไล อักขระสมชีพ
ในที่สุด ธุรกิจ "นาโนไฟแนนซ์" ก็คลอดออกได้สำเร็จดังใจของรัฐบาล ซึ่งวัตถุประสงค์ของรัฐบาล คือ ต้องการให้คนที่ทำธุรกิจรายย่อยมาก ๆ ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนหรือเงินขาดมือหมุนเวียนทำธุรกิจ ก็สามารถมาขอเงินกู้นาโนไฟแนนซ์เพื่อใช้ประกอบอาชีพได้ เพราะเป็นเงินกู้ที่มีความยืดหยุ่นสูงกว่าการขอกู้จากแบงก์ทั้งหลาย ที่ผู้กู้จะต้องแสดงฐานะทางการเงิน เช่น บัญชีเงินเดือน บัญชีเงินฝาก เป็นต้น
เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ขุนคลัง "สมหมาย ภาษี" ได้อนุมัติใบอนุญาต (ไลเซนส์) ประกอบการธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์รอบแรก จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด, บริษัท ไทยเอช แคปิตอล จำกัด, บริษัท สหไพบูลย์ 2558 จำกัด และ บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) หลังจากนี้บริษัทเหล่านี้ก็สามารถเปิดให้ดำเนินการปล่อยกู้ให้รายละ 100,000 บาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมถึงปีละ 36%
เมนูนี้แต่ละบริษัทต่างต้องการเสิร์ฟให้สำหรับกลุ่มลูกค้าฐานรากของตัวเอง ที่มีทั้งทำอาชีพพ่อค้าแม่ค้า คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ กลุ่มรากหญ้าชาวนาชาวสวน รวมไปถึงลูกหนี้นอกระบบที่ใช้บริการกันอยู่ เป็นต้น
แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เกณฑ์นาโนไฟแนนซ์ได้เปิดช่องให้กู้เป็นอีกหนึ่งบัญชีสินเชื่อ ที่แยกออกมาจากบัญชีกู้ประเภทอื่น ๆ ของสถาบันการเงิน ดังนั้นลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในระยะแรกนี้ ก็มีโอกาสที่จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนอยู่แล้ว และน่าจะมากกว่าเป็นกลุ่มที่ไม่เคยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ อย่างที่วัตถุประสงค์ของรัฐบาลตั้งไว้เลย
โดยข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ระบุในรายงานผลสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือนในปี 2556 ระบุว่า มีจำนวนราว 1.3 ล้านครัวเรือนไทย ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้ และกว่า 6 แสนครัวเรือน ยังต้องพึ่งการกู้เงินนอกระบบด้วย
อีกข้อสังเกตที่ต้องจับตา คือ แม้ในระยะแรกธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ที่เพิ่งเริ่มต้น การทำธุรกิจก็ดำเนินการไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความเสี่ยงของระดับการเพิ่มหนี้ครัวเรือนของประเทศจะยังจำกัด แต่ในระยะข้างหน้า หากบริษัทนาโนไฟแนนซ์วางโมเดลธุรกิจลงตัว และสามารถขยายสินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีบัญชีเงินกู้ได้ เมื่อนั้นความเสี่ยงต่าง ๆ ก็จะปรากฏขึ้น ทั้งระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความเสี่ยงของคุณภาพหนี้เสีย กระบวนการบริหารความเสี่ยงในการติดตามชำระหนี้
นอกจากนี้ยังชูอีก 2 ตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลต่อธุรกิจนาโนไฟแนนซ์เผชิญในการทวงหนี้ ได้แก่ 1.การแก้กฎหมายทวงหนี้ฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ ได้ตีกรอบการทวงหนี้ไว้อย่างละเอียดและห้ามทวงหนี้มากเกินกว่าเหตุจนลูกหนี้เดือดร้อน หรือเป็นการข่มขู่ ฯลฯ และ 2.การเปิดช่องให้บริษัทนาโนไฟแนนซ์ไม่ต้องเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร จะเป็นการเปิดความเสี่ยงในระยะยาวของบริษัท และความเสี่ยงเชิงมหภาค เพราะลูกหนี้บางรายสามารถไปขอกู้กับนาโนไฟแนนซ์หลายๆ แห่งได้ จนทำให้วงเงินกู้รวมสูงกว่าความสามารถในการผ่อนชำระได้ ก็จะเป็นการเพิ่มปัญหาหนี้ครัวเรือนอีก เพราะปัจจุบันทางการเองก็ยังไม่ได้กำหนดระดับเพดานการปล่อยกู้รวมของลูกค้า และวงเงินสินเชื่อรวมของบริษัทนาโนไฟแนนซ์ เพราะกฎเกณฑ์เหล่านี้พอจะเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยดูแลคุณภาพหนี้ไม่ให้เสียหายลุกลามหนักไปถึงภาคเศรษฐกิจโดยรวม
ขณะที่เวลานี้ประเทศไทยก็เผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงอยู่แล้วเพราะหลายปีที่ผ่านมาแบงก์และน็อนแบงก์ต่างแข่งขันกันให้สินเชื่อส่วนบุคคล มีทั้งกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ต่อเติมบ้าน กู้อเนกประสงค์ ยังไม่นับรวมแบงก์รัฐที่มีมาตรการช่วยพักชำระหนี้อีก ซึ่งล้วนแต่เห็นภาพคนไทยยังมีหนี้ครัวเรือนพันรอบตัวไปหมด
โดยตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดที่ ธปท.บอก อยู่ที่ 85.9% ของจีดีพี ซึ่งยังไม่นับรวมหนี้ที่กู้นอกระบบอีกมาก ขณะที่การออมเงินโตต่ำมาก ซึ่งทางผู้บริหารซิตี้แบงก์เคยพูดกันถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเติบโตรวดเร็วมากในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จนยอดหนี้ครัวเรือนอยู่สูง 10.2 ล้านล้านบาทแล้ว ปัจจุบันสัญญาณหนี้ครัวเรือนมีแต่เร่งตัวขึ้น เพราะคนไทยกู้หลากหลายช่องทางกันมาก และน่าจะเห็นหนี้ครัวเรือนพุ่งไปถึง 100% ของจีดีพี หรือเท่าตัวของจีดีพีในเวลารวดเร็ว
และนี่คือดาบสองคม ที่ทั้งกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ต้องคำนึงถึงเมื่อเปิดประตูนาโนไฟแนนซ์แล้ว ก็ต้องสร้างฐานรากให้ธุรกิจเข้มแข็งและเดินถูกทาง เพื่อเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ
วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558
ดาบสองคม "นาโนไฟแนนซ์"
ดาบสองคม "นาโนไฟแนนซ์"
ป้ายกำกับ:
MTLS,
NANOFINANCE
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น