รอ (ลุ้น) ข่าวดี
คอลัมน์ วันอังคารที่ 06 มกราคม 2558
สวัสดีปีใหม่ทุกๆ ท่านอีกครั้งครับ
ตลาดหุ้นไทยเปิดทำการวันแรกของปี 2558 ดัชนียืนอยู่ในแดนบวกได้แป๊บเดียว ก็เคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบตลอดทั้งวัน ส่วนมูลค่าซื้อขายถือว่ากระเตื้องขึ้นจากช่วงปลายปี 2557
ถือว่าเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กัน
แต่มีคำแนะนำเข้าลงทุนกันได้นะ โดยเฉพาะช่วงที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ที่มีอายุครบ 5 ปี จะขายหุ้นออกมาช่วงต้นเดือนมกราคมนี้
น่าจะกดดัชนีลงไปอีกพอสมควร
จึงเป็นช่วงโอกาสที่ดีในการเข้าเก็บหุ้นพื้นฐานดี
ประกอบกับมีข่าวว่า “ฟันด์โฟลว์” จะเริ่มเข้ามาช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ เพราะในวันที่ 22 มกราคม จะมีประชุม ECD เพื่อกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
มีการคาดกันว่าน่าจะมี QE กันออกมาล่ะ
และจะทำให้ดัชนีดีดตัวกลับมาได้ อย่าง บล.กสิกรไทย เข้าประเมินดัชนีครึ่งปีแรก 1,650 จุด
นั่นเป็นปัจจัยที่มาจากภายนอกประเทศ
ส่วนภายในประเทศ หลังรัฐบาล คสช. เข้ามารักษาความสงบ ประเทศก็สงบจริงๆ
และเศรษฐกิจก็สงบด้วย ไม่ขยับไปไหนเลย
ในปีที่แล้ว มีโครงการขนาดใหญ่ที่เปิดประมูลช่วงรัฐบาล คสช.เพียงโครงการเดียว คือ บีทีเอส ส่วนต่อขยาย “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต”
ส่วนรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทาง “หนองคาย-โคราช- แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด”
โครงการนี้เซ็นเอ็มโอยูกับรัฐบาลจีนไปแล้ว
คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาอีกสักระยะ เปิดประมูล และน่าจะเริ่มสร้างได้ในปี 2559 และแล้วเสร็จในปี 2563
ส่วนโครงการระบบขนส่งอื่นๆ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าอีกหลายเส้นทางนั้น ในปีนี้น่าจะมีการเปิดประมูลกันได้อีก ซึ่งผมได้แต่ภาวนาว่า อย่าติดขัดกับปัญหาอะไรเลย เพราะมันช้ามามากแล้ว
ความล่าช้าส่วนหนึ่งนั้นมาจากเกรงปัญหาคอร์รัปชั่น
ยิ่งได้รัฐมนตรีมาจากข้าราชการประจำ ก็เลยทำงานกันแบบข้าราชการ (ประจำ) ระวังกันไปหมด กลัวว่าหาก “คิดเร็ว ทำเร็ว” ก็จะถูกตั้งข้อสงสัยว่าคอร์รัปชั่นหรือไม่
มันเลยคล้ายๆ กับภาษาอังกฤษที่ว่า “no project, no corruption”
ประเทศไทยก็เลยไม่ไปไหน หรือก้าวไปแบบช้ามาก
ข่าวดีเลยไม่ค่อยมีออกมา หรือหากมีออกมา ก็จะเป็นโครงการหน่อมแน้ม หรือ childish ไปหน่อย
แถวๆ บ้านผมเขาเรียกว่า ไร้เดียงสา
ช่วงเทศกาลปีใหม่ ผมเพิ่งขับรถยนต์ไปเที่ยวเชียงใหม่มาครับ ไปทั้งดอยอ่างขาง และดอยหลวงเชียงดาว คนใช้รถยนต์เยอะมาก ทำให้กลับมานึกถึงรถไฟความเร็วสูงอีกครั้ง ที่ถูกล้มเลิกไป
หากวันนี้เรามีรถไฟความเร็วสูง ผมคงเลือกใช้บริการ
โครงการนี้ จากข้อมูลพบว่า เคยศึกษาครั้งแรกสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะนั้นสั่งศึกษาช่วงเส้นทาง กรุงเทพฯ-มาบตาพุด
ทว่าผลการศึกษาในขณะนั้น อาจยังไม่คุ้มกับการลงทุน เลยพับไว้ก่อน แต่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ยังคงศึกษามาเรื่อยๆ
กระทั่งพรรคเพื่อไทยหยิบโครงการนี้ขึ้นมาหาเสียง
พรรคประชาธิปัตย์มีเรื่องรถไฟความเร็วสูง อยู่ในนโยบายที่จะดำเนินการเช่นกันในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
ผมเคยฟัง ดร.จุฬา สุขมานพ บรรยาย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้อำนวยการ สนข.
เขาบอกว่า โครงการนี้แม้อาจจะไม่ค่อยคุ้มกับการลงทุน แต่จะคุ้มกับจีดีพีของประเทศที่จะเติบโตได้ดีมาก โดยเฉพาะจังหวัดที่จะเป็น “ฮับ” ของรถไฟความเร็วสูง ความเจริญจะได้ไม่กระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพฯ
พร้อมยกตัวอย่างว่า ที่ญี่ปุ่น เงินที่ใช้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ก็กู้เงินมาเช่นกัน
ผ่านมาถึงวันนี้ เมื่อไม่สร้าง ก็ไม่ว่ากัน
ส่วนโครงการอื่นๆ หวังว่าจะเดินหน้าต่อไป และอย่าไปสนใจเลยว่า โครงการนี้ โครงการนั้น เป็นของพรรคการเมืองไหน หรือของใครมาก่อน ขอให้ดูเพียงว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์
และประเทศไทยจะก้าวหน้าไปได้เร็วๆ อย่างไร
กระทรวงไหนทำงานอืด หน่วยงานไหนทำงานช้า ก็ต้องเปลี่ยนหัวหน้างานใหม่
หรือการปรับ ครม.นั่นแหละ
ส่วนจีดีพี ปีนี้จะเติบโต 3.5-4% หรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความกล้า และความรวดเร็วในการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งหากทำได้ออกมาดีและเร็ว เศรษฐกิจก็คงโตตามคาดการณ์
และตลาดหุ้นก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น