วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

เกมใหม่ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ คอลัมน์ วันพุธที่ 07 มกราคม 2558

เกมใหม่ของวอร์เรน บัฟเฟตต์
คอลัมน์ วันพุธที่ 07 มกราคม 2558 

ภาพลักษณ์เก่าแก่ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่คนทั่วไปคุ้นเคยหรือจินตนาการในฐานะนักลงทุนเน้นคุณค่าหรือ VI ที่ให้ความสำคัญกับพื้นฐานและอนาคตของธุรกิจต่างๆ ก่อนเข้าลงทุน เพื่อรับผลตอบแทนทั้งในรูปเงินปันผลและราคาหุ้นในระยะยาว จะต้องเปลี่ยนไปอย่างมากมายนับแต่นี้ไป
บัฟเฟตต์ประกาศว่า ปีนี้บริษัทเพื่อการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอของเขาชื่อ เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ จะเข้ายุ่งเกี่ยวกับธุรกรรม M&A มากขึ้น
การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ไม่ใช่เพราะเขาถูกแรงกดดันให้ต้องเสี่ยงมากขึ้น แต่เพราะสถานการณ์ทางธุรกิจของสหรัฐที่กำลังเป็นภาวะขาขึ้น จะทำให้ตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวนรุนแรง จนกระทั่งเกมของนักลงทุนแบบ VI ไม่สามารถที่จะยึดมั่นกับการรอผลประกอบการตามปกติได้ แต่จะต้องเข้าไปทำความคุ้นเคยกับเกมใหม่ คือการโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจในช่วงจังหวะขาขึ้น
เกมที่ว่าคือ M&A หรือการควบรวมหรือซื้อขายกิจการ เพราะช่วงที่ธุรกิจกำลังเป็นขาขึ้นนั้น การรอคอยการเติบโตของธุรกิจจากภายใน (organic growth) ไม่เพียงพอกับการตอบโจทย์การทำกำไรและรักษาความสามารถในการแข่งขันได้
ว่ากันตามจริงแล้ว แนวทางการเติบโตโดยทางลัด (inorganic growth) ในช่วงเศรษฐกิจเป็นขาขึ้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าแก่ในตำราของนักการเงินทั้งหลายที่หาพบได้โดยทั่วไป ส่วนผลพวงหลักจากการทำธุรกิจแล้วจะไปต่อได้มากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องของการบริหารจัดการกับการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเป็นหลัก  และพูดง่ายกว่าทำ
บัฟเฟตต์ ระบุว่า การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเกมธุรกรรม M&A มากขึ้น ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนจุดยืนของการลงทุน แต่เป็นการสร้างโอกาสจากสถานการณ์ใหม่มากกว่า
ตามสูตรของบัฟเฟตต์นั้น การเข้าสู่ธุรกรรม M&A ยังคงเป็นไปตามพฤติกรรมเดิม คือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจอย่างลงรากลึกด้วยตนเอง แต่เป็นการเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่ประกอบการทางด้านการเงินเพื่อควบรวมกิจการบริษัทอื่น หรือเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หรือดีลเมกเกอร์มืออาชีพในการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าว
เป้าหมายของการเข้าซื้อกิจการที่ทำธุรกรรมกู้เงินมาซื้อเงินมาซื้อกิจการ หรือธุรกิจดีลเมกเกอร์ หรือที่ปรึกษาการเงิน เกิดจากมองเห็นว่าธุรกรรมดังกล่าวจะเฟื่องฟูอย่างมากเมื่อสหรัฐกำลังจะเข้าสู่ช่วงเวลาของการฟื้นตัวจริงจังหลังวิกฤตซับไพรม์ ทำให้คาดว่ามูลค่าของการควบรวมกิจการพุ่งแรงอย่างมาก
โดยข้อเท็จจริงแล้ว ยุทธศาสตร์ของบัฟเฟตต์ถือว่ายังไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะเขายืนยันว่าโดยตลอดว่า การค้นหาความน่าจะเป็นของอนาคตธุรกิจใดๆ เป็นกุญแจของความสำเร็จที่สำคัญในการลงทุน
เคล็ดลับดังกล่าว คล้ายคลึงกับการเล่นไพ่บริดจ์ ที่พยายามหาความน่าจะเป็นของไพ่บนมือคู่แข่ง ซึ่งนำมาดัดแปลงเป็นการหาความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยการเพ่งความสนใจไปที่เรื่องเศรษฐกิจมากกว่าราคาของหุ้น

บัฟเฟตต์มองข้ามการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในตลาด หรืออารมณ์ของตลาด  แต่ให้ความสนใจและศึกษาหุ้นที่ไม่ได้รับความสนใจจากตลาดมากนัก เพราะผู้บริหารจะมีความมุ่งมั่นกับผลประกอบการ และราคาหุ้นของบริษัทต่ำเกินพื้นฐาน หรือมีค่าพี/อีต่ำกว่าตลาดหรืออุตสาหกรรม

บัฟเฟตต์ระบุว่า การเข้าสู่ธุรกรรม M&A จะช่วยให้การประเมินมูลค่าและการจับทิศทางของธุรกิจมีความแม่นยำมากกว่า ที่สำคัญโอกาสสำหรับเพิ่มมูลค่าผู้ถือหุ้น จะทำได้สะดวกมากกว่าการเข้าซื้อหุ้นเพื่อลงทุนตามปกติ

ประสบการณ์จากการเข้าร่วมบทบาทโดยตรงและโดยอ้อมในธุรกรรม M&A ของบัฟเฟตต์ในหลายปีนี้ เขาพบว่า ข่าวและข้อมูลว่าด้วย M&A ที่กระจายออกไป มีส่วนกระตุ้นราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นได้ง่ายกว่าข่าวทางด้านการตลาด หรือนวัตกรรมใหม่เสมอ
นักวิเคราะห์หลายสำนักระบุว่า ภาพลักษณ์อันโดดเด่นของบัฟเฟตต์ที่เปรียบได้กับกษัตริย์ไมดาสในนิทานกรีกโบราณ ที่แตะอะไรกลายเป็นทองคำไปหมด ถือเป็นแต้มต่อสำคัญ เพราะเพียงแค่มีชื่อของเขาปรากฏว่าไปเข้าลงทุนในหุ้นตัวใดเป็นพิเศษ ราคาหุ้นหรือมูลค่าตลาดของหุ้นบริษัทนั้นๆ ก็จะพุ่งพรวดสูงขึ้น แต่บัฟเฟตต์คงไม่ได้พอใจเพียงแค่นั้น
มีคนเชื่อว่า บัฟเฟตต์ต้องการให้ชื่อเสียงเก่าแก่ของเขา ผสมเข้ากับสตอรี่ของกิจการที่เขาสนใจจะเข้าซื้อเพื่อการลงทุน ให้สอดรับกับนิยามที่เขาบัญญัติศัพท์ใหม่เองว่า มูลค่าแฟรนไชส์ (Franchise Value)
มูลค่าแฟรนไชส์ มีคำอธิบายว่า ในบริษัทหรือธุรกิจใด จะมีคุณค่าทางธุรกิจบางสิ่งบางอย่างที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ แต่มีค่ามากมายกว่าสินทรัพย์ในงบดุลเป็นอย่างมาก เป็นสินทรัพย์จำบังที่จะเปล่งประกายออกมาเมื่อได้รับแรงกระตุ้น
องค์ประกอบหลัก 3 อย่างของมูลค่าแฟรนไชส์คือ รายได้ที่เติบโต กำไรที่เติบโตสูงกว่ารายได้ และความสามารถก้าวข้ามอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจ
ความสามารถของบัฟเฟตต์ในการค้นหาบริษัทที่มีมูลค่าแฟรนไชส์  เพื่อเข้าลงทุนซื้อหุ้นนี้ ไม่ว่าจะส่วนน้อยหรือจะหุ้นใหญ่ที่ไม่บริหาร คือ จุดแข็งที่ทำให้บัฟเฟตต์เหนือกว่าอาจารย์ของเขาคือ เบนจามิน แกรห์ม อย่างมีนัยสำคัญ
ย่างก้าวใหม่ของบัฟเฟตต์ในปีนี้ แม้จะยังไม่เป็นที่เปิดเผยรายละเอียดว่า จะสามารถค้นหามูลค่าแฟรนไชส์ได้มากน้อยเพียงใด จากธุรกรรม M&A แต่ก็คงไม่ได้เกิดขึ้นจากการมโนเอาเอง หรือโดยบังเอิญอย่างขาดการศึกษาที่รอบคอบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น