วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2558

เงินเฟ้อต่ำติดดิน-เปิดช่องธปท.หั่น ดบ.


     
  

         เงินเฟ้อต่ำติดดิน-เปิดช่องธปท.หั่น ดบ.

           

        
พาณิชย์ เผย เฟ้อเดือน ธ.ค.57 อยู่ที่ 0.6% ต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี หลังราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่วนทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1.89% ส่งสัญญาณไตรมาสแรกปี 58 มีแนวโน้มลดลงได้อีก หลังราคาน้ำมันยังอ่อนตัวต่อเนื่อง แต่ขอคงเป้ากรอบเงินเฟ้อปีนี้ไว้ที่ 1.8-2.5% เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยันห่างไกลภาวะเงินฝืด แถมเงินเฟ้อต่ำเปิดช่องให้ ธปท.หั่นดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้าน ม.รังสิต คาดจีดีพี Q1/58 โต 2.2-2.7% เชื่อทั้งปียังโตได้ 4% ชี้ส่งออกได้รับผลกระทบจากการตัดจีเอสพีของอียู -ตลาดเงินผันผวนสูง หุ้นไทยเสี่ยงเผชิญแรงขายจากกองทุน 

*** ราคาน้ำมันดิ่ง ฉุดเงินเฟ้อต่ำสุดรอบ 5 ปี

         นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ เงินเฟ้อทั่วไป เดือน ธ.ค.2557 อยู่ที่ 106.65 เทียบกับเดือน พ.ย.2557 ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อน เทียบกับเดือน ธ.ค.2556 สูงขึ้น 0.60% โดยเป็นเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นเงินเฟ้อที่ต่ำสุดในรอบ 62 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2552 ที่ 0.40%
         สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลง มาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวลดลง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศของรัฐบาล รวมทั้งราคาไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผักและผลไม้ ปรับลดลง เนื่องจากผลผลิตเข้าตลาดมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามภาพรวมระดับราคายังอยู่ในเกณฑ์ดีและมีเสถียรภาพ
         ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (เงินเฟ้อพื้นฐาน) ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน เดือน ธ.ค.2557 เท่ากับ 105.39 สูงขึ้น 1.69% สาเหตุมาจากสินค้าและบริการที่มีการปรับสูงขึ้น ได้แก่ หมวดอาหารบริโภคในบ้าน และหมวดอาหารบริโภคนอกบ้าน หมวดสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด หมวดค่าของใช้ส่วนบุคคล หมวดค่าบริการส่วนบุคคลเพื่อความสวยงาม หมวดค่าใช้จ่ายในการเดินทางโอกาสพิเศษและการท่องเที่ยว
         อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ธปท.วางไว้ที่ 0.5-3% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในปี 2557 หรือเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปี 2557 อยู่ที่ 1.89% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่1.59%
         "เป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศโดยเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง และมาตรการดูแลค่าครองชีพอย่างใกล้ชิดตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เช่นการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ภาคครัวเรือน และลดราคาน้ำมันดีเซล เบนซิน และแก๊สโซฮอล์" นายสมเกียรติ กล่าว
         ทั้งนี้ ยังได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบกับราคาอาหารสดมีการปรับตัวลดลงจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดมีมากขึ้น ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อมีการปรับลดลง และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีขยายตัวสูงขึ้นไม่มากนัก 

***ไตรมาสแรกปี 58 มีแนวโน้มลดลงอีก

         นายสมเกียรติ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อปี 2558 ที่ 1.8-2.5% ตามสมมติฐานคาดการณ์จีดีพีปี 2558 ที่ 4-5% ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อที่คงเป้าหมายไว้อาจจะมีการปรับตัวลดลงได้ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลงต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน
         "ขณะนี้คงไม่สามารถตอบได้ว่ามีการปรับลดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 2558 หรือไม่ เนื่องจากคงต้องคอยติดตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกว่าจะยังมีการปรับลดลงต่อเนื่อง รวมไปถึงราคาสินค้าเกษตรว่าจะมีการปรับลดลงหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั้งปี" นายสมเกียรติ กล่าว         
         สำหรับอัตราเงินเฟ้อไตรมาสแรกปี 2558 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับลดลง รวมไปถึงการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2558 รวมไปถึงการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกปีนี้ชะลอตัว
 

*** เปิดช่องแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ยกระตุ้น ศก.
         ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนธ.ค. 2557 ซึ่งมีทิศทางชะลอลงตามที่คาด มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 62 เดือนที่ร้อยละ 0.60 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 1.26 (YoY) ในเดือนพ.ย. 2557 โดยราคาน้ำมันในประเทศที่ลดต่ำลงตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วงปลายปี 2557 และการปรับตัวลงของราคาอาหารสด ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนธ.ค. 2557 ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 1.69 (YoY) จากร้อยละ 1.60 (YoY) ในเดือนก่อนหน้า
         สำหรับภาพรวมในปี 2557 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.89 ชะลอลงจากร้อยละ 2.18 ในปี 2556 ขณะที่ ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2557 ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 1.59 จากร้อยละ 1.00 ในปี 2556
สาเหตุหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดต่ำลงในเดือนสุดท้ายของปี 2557 มาจากตัวแปรทางด้านอุปทานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความกังวลต่อปริมาณอุปทานส่วนเกินในตลาดน้ำมันโลก (ซึ่งเอื้อให้ราคาขายปลีกน้ำมันในกลุ่มเบนซินและดีเซลลดลง แม้จะมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันไปด้วยในเวลาเดียวกัน) และปริมาณผลผลิตทางการเกษตรในประเทศที่เข้าสู่ตลาดค่อนข้างมากในช่วงปลายปีตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ซึ่งมีผลทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดลดลง
         สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 1/2558 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยจะยังคงผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ การปรับตัวลงของค่าไฟฟ้า Ft ในงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2558 อีก 10.04 สตางค์/หน่วย และการส่งผ่านต้นทุนผู้ผลิตมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภค (ในช่วงที่ราคาพลังงานในประเทศ ยังไม่เพิ่มภาระต่อต้นทุนค่าขนส่งมากนัก) ที่ยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ประเมินว่า ภาพรวมของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ
         ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในเบื้องต้นว่า ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจอยู่ในระดับต่ำกว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานตลอดทั้งไตรมาสแรกของปี 2558 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปรายเดือนน่าจะอยู่ต่ำกว่าระดับร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 1.2 (YoY) เล็กน้อย ซึ่งภาพเงินเฟ้อที่ยังคงผ่อนคลายลงนี้ ก็เปิดพื้นที่ให้ธปท. สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อช่วยประคองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยให้กลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ท่ามกลางภาวะที่ทิศทางการส่งออก และความคืบหน้าของการเบิกจ่ายเม็ดเงินของภาครัฐ ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
         อนึ่ง แม้ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ได้เป็นสัญญาณที่สะท้อนความเสี่ยงของภาวะเงินฝืด เพราะทิศทางราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และเครื่องชี้การบริโภคของไทย ยังน่าจะค่อนข้างทรงตัว-ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย ซึ่งย่อมจะทำให้สถานการณ์ของไทยในขณะนี้ มีความแตกต่างไปจากสถานการณ์ของยูโรโซนและญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ลดต่ำลง พร้อมๆ กับภาวะชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ 

*** ม.รังสิต คาด จีดีพี Q1/58 โต 2.2-2.7%

         ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2558 ขยายตัวได้ประมาณ 2.2-2.7% และยังคงยืนยันตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีที่ 4% ตามการคาดการณ์ไว้เดิม (เมื่อเดือน พ.ย. 2557) ไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ ส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากการตัดจีเอสพีของอียูและต้องปรับตัวขยายตลาดอาเซียนเพิ่ม รวมทั้งตลาดสหรัฐอเมริกาที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน
         ส่วนภาคการบริโภคกระเตื้องขึ้นแต่มีขีดจำกัดจากหนี้ครัวเรือน ขณะที่การปรับเพิ่มผลประโยชน์และเงินเดือนให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อยจะมีผลกระตุ้นการบริโภคระดับหนึ่งและเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนการเพิ่มบำนาญให้ข้าราชการเกษียณชั้นผู้น้อยจะมีผลต่อการกระตุ้นการบริโภคน้อยมากแต่ช่วยให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ภาคการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจหากระบบการเมืองมีเสถียรภาพ
         ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง เงินเยน เงินสกุลหลักเอเชียอ่อนค่า เงินบาทอ่อนค่าในสัดส่วนที่ลดลง อาจมีการแข่งขันกันลดค่าเงิน เงินยูโรอ่อนค่า เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ราคาสะท้อนอุปสงค์อุปทานในตลาดโลกมากขึ้นหลังสภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลง ส่วนตลาดหุ้นไทยอาจเผชิญแรงเทขายจากกองทุนต่างๆโดยเฉพาะกองทุนต่างชาติ ดัชนีอาจปรับลดลงในช่วงสั้นๆตอนต้นปีหลังจากนั้นน่าจะเข้าสู่ขาขึ้นตามปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนและภาวะเศรษฐกิจ
         วิกฤตการณ์เศรษฐกิจรัสเซียและค่าเงินรูเบิ้ลอาจขยายวงกระทบยุโรปซึ่งเป็นเจ้าหนี้และคู่ค้าสำคัญของรัสเซีย โดยเศรษฐกิจรัสเซียอาจจะหดตัวติดลบถึง 4-5% ในปี พ.ศ. 2558 กระทบต่อภาคส่งออกไทยไม่มากจากสัดส่วนการส่งออกไปรัสเซียเทียบกับมูลค่าส่งออกทั้งหมดเพียง 0.5% การส่งออกไทยไปรัสเซียหดตัวติดลบไม่ต่ำกว่า 15% (คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 4,480-4,800 ล้านบาทเท่านั้น) แต่กระทบการท่องเที่ยวเพราะนักท่องเที่ยวรัสเซียเข้าไทยอาจลดลงไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน (ลดลงประมาณ 24% คิดเป็นรายได้ที่หายไปประมาณ 21,000 ล้านบาท) 

*** จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ

         ผศ. ดร. อนุสรณ์ วิเคราะห์ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเสี่ยงและโอกาสที่จะต้องจับตาในช่วงไตรมาสแรก ได้แก่ 1. ความเสี่ยงจากผลกระทบการตัดจีเอสพีของอียูต่อไทย เป็นการตัดสิทธิจีเอสพีทุกรายการ คาดกระทบต่อมูลค่าส่งออกที่เคยได้จีเอสพีประมาณ 1 แสนล้านบาท (การส่งออกสินค้าไทยไปอียูภายใต้สิทธิจีเอสพีอยู่ที่ประมาณ 9,000-9,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี) สินค้าที่ได้รับผลกระทบในลำดับต้นๆ คือ เครื่องปรับอากาศ ยานยนต์ ถุงมือยาง ยางนอกรถยนต์ เลนส์แว่นตา เป็นต้น ผู้ประกอบการต้องแสวงหาตลาดใหม่โดยเฉพาะ AEC และ ย้ายฐานการผลิตไปยัง CLMV เพื่อใช้สิทธิจีเอสพี 2. ความผันผวนของตลาดการเงิน 3. ความเสี่ยงจากปัจจัยทางการเมืองอันเป็นผลจากการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือการไม่สามารถกำหนดการเลือกตั้งได้ตามกรอบเวลาเอาไว้อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนได้ 4. ภาวะตกต่ำของราคาสินค้าเกษตร
         ส่วนโอกาสเกิดจาก 1. ปัจจัยราคาน้ำมันขาลงทำให้ไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการลงทุนลดต่ำลง เป็นโอกาสแห่งการลงทุน 2. โอกาสจาก AEC โอกาสของนักวิชาชีพที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนภายใต้การเปิดเสรีเคลื่อนย้ายแรงงานของ AEC ขณะเดียวกันมาตรฐานแรงงานของผู้ประกอบการไทยต้องยกระดับดีขึ้น และเป็นโอกาสของกลุ่มทุนไทยในการขยายการลงทุนไปยังประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV โอกาสในการรองรับการลงทุนของต่างชาติโดยเฉพาะธุรกิจโลจีสติกส์
         3.โอกาสของธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมจากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและการเปิดประมูล 4 G ,กิจการทางการแพทย์และสุขภาพ High End, ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจขนส่งและโลจีสติกส์เป็นต้น 4. โอกาสและความเสี่ยงที่เกิดจากการปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจ 5. การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาและการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ จะสร้างแรงกดดันต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นซึ่งจะมีผลต่อความผันผวนของตลาดการเงินและค่าเงินบาท เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง 6. การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่น มีผลทำให้ค่าเงินยูโรและค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างชัดเจน และเกิดภาวะ Yen Carry Trade และ Euro Carry Trade 

***แนะเพิ่มประสิทธิภาพภาคเกษตร

         ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า เราอาจต้องเผชิญภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกโดยเฉพาะไตรมาสแรก ขอเสนอแนะให้มีนโยบายและมาตรการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพภาคเกษตร ลงทุนด้วยเงินทุนและเทคโนโลยีมากขึ้น ทะยอยลดกำลังแรงงานภาคเกษตรลง เพื่อเคลื่อนย้ายมายัง ภาคบริการและภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ประสบภาวะขาดแคลนแรงงานและต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ต้องทำให้เกษตรกรมีรายได้มากพอจากภาคเกษตรกรรมและไม่ต้องทิ้งไร่นา ทิ้งครอบครัว มาหาอาชีพเสริมรายได้เสริมจากการทำงานนอกภาคเกษตร โครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทยในปีปัจจุบันมีความแตกต่างจากโครงสร้างเมื่อสองสามทศวรรษที่แล้วอย่างชัดเจน
         โดยข้อมูลล่าสุด (พ.ศ. 2556-2557) พบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนต่อจีดีพี 38.1% มีสัดส่วนกำลังแรงงาน 13.8% ภาคบริการค้าปลีกค้าส่งมีสัดส่วนต่อจีดีพี 13.4% มีสัดส่วนกำลังแรงงาน 15.3% ภาคการบริการขนส่งและการสื่อสารมีสัดส่วนต่อจีดีพี 10.2% สัดส่วนต่อกำลังแรงงาน 2.7% ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนต่อจีดีพี 8.3% เท่านั้น (จำเป็นต้องแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรมากกว่านี้) ขณะที่สัดส่วนต่อกำลังแรงงานของภาคเกษตรกรรมสูงถึง 39.1% สะท้อนว่า ใช้ปัจจัยแรงงานจำนวนมากแต่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย จึงต้องใส่ปัจจัยทุนและเทคโนโลยีเข้าไปเพิ่มเนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ
         ขณะนี้ รายได้ของคนที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมต่ำเพราะผลิตภาพต่ำ มูลค่าของผลผลิตต่ำ การใช้นโยบายพยุงราคาหรือแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (จำนำ ประกันหรือจำนำยุ้งฉาง) จะเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้นและสร้างภาระงบประมาณในระยะต่อไป มาตรการแจกเงินต่อไร่ก็เป็นเพียงบรรเทาปัญหาเดือดร้อนเท่านั้น การแก้ปัญหาจึงต้องมุ่งที่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มอำนาจต่อรองให้เกษตรกร 

*** การลงทุนเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

         ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ในปี พ.ศ. 2558 ภาคการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลควรเดินหน้าผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนภาคเอกชน ลดขั้นตอนในการขออนุญาต ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันและการเรียกรับสินบน ส่วนการลงทุนภาครัฐควรมีปฏิรูประบบและกระบวนการงบประมาณ เนื่องจากระบบงบประมาณเกี่ยวข้องกับเม็ดเงินประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท หรือ ร้อยละ19 ของจีดีพี มีการจ้างงานโดยตรงไม่ต่ำกว่า 3 ล้นคน ความซับซ้อนของระบบงบประมาณ
         ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากการมี กองทุนหมุนเวียนซึ่งมีการบริหารจัดการนอกงบประมาณ (Nonbudgetary Process) นับร้อยแห่ง นอกนี้ยังมีการใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal measures) จำนวนมาก รวมทั้งมาตรการยกเว้นลดหย่อนภาษีจำเป็นต้องระบุวงเงินให้ชัดเจน ผมจึงเสนอให้มีพัฒนากลไกเพื่อให้มีการใช้งบประมาณดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส นอกจากนี้ควรศึกษาจัดตั้ง สำนักงบประมาณภายใต้รัฐสภา (PBO, Parliamentary Budget Office) เพื่อให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณของฝ่ายบริหาร การเปลี่ยนแปลงงบประมาณฐานกรม เป็นงบประมาณฐานกระทรวงและฐานพื้นที่ และจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อลดเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณ (Participatory Budgeting)
         ข้อเสนอในการปฏิรูปและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลชุดนี้มากยิ่งกว่าการมัววิตกกังวลต่อความผันผวนเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อมาตรการและนโยบายระยะยาวที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตบนฐานนวัตกรรมและการลงทุน มีพลวัตตอบสนองต่อความผันผวนจากภายนอก เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและเป็นธรรมภายใต้ขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน 

 
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น