วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2558

สามล้อถูกหวย คอลัมน์ วันอังคารที่ 06 มกราคม 2558

สามล้อถูกหวย

คอลัมน์ วันอังคารที่ 06 มกราคม 2558 

เศรษฐกิจของรัสเซียปัจจุบัน ภายใต้การถูกแซงก์ชั่นของสหรัฐและสหภาพยุโรป ผสมเข้ากับการถดถอยของราคาพลังงานโลก ตามทัศนะของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ถือว่าเข้าสู่ภาวะยากลำบาก ซึ่งคาดว่าจะกินเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี มีข้อเท็จจริงรองรับเป็นรูปธรรม แต่ข้อกล่าวหาว่าเศรษฐกิจรัสเซียย่ำแย่เพราะการวางแผนของสหรัฐ สหภาพยุโรป และซาอุดีอาระเบีย เป็นแค่คำโฆษณาชวนเชื่อ เพราะข้อเท็จจริงรูปธรรมไม่รองรับ
สิ่งที่รัฐบาลรัสเซียไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือ ความผิดพลาดส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลรัสเซียเองที่บริหารนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาด นำตัวเองไปติดกับดักของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า โรคดัตช์ (Dutch Disease) อย่างถอนตัวไม่ขึ้น
โรคดังกล่าว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมายาวนานในประวัติศาสตร์รัฐประชาชาติทั่วโลก นับแต่เริ่มต้นเศรษฐกิจทุนนิยมในนครรัฐของแหลมอิตาลี แต่เพิ่งจะมีคนให้นิยามชัดเจนเมื่อ ค.ศ.1977 นี่เอง ในบทความของนิตยสาร The Economist ของอังกฤษ เพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ความล้มเหลวของเนเธอร์แลนด์หลังจากค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกฝั่งทะเลเหนือในคริสต์ทศวรรษ 1960 ก่อนวิกฤตราคาน้ำมันครั้งแรกของโลก
ปัจจุบันโรคดัตช์ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า คำสาปของทรัพยากร หรือ Resource Curse
ปรากฏการณ์ที่สำคัญของโรคดัตช์คือ รายได้ที่พุ่งขึ้นจากพลังงานนอกชายฝั่ง ได้เพิ่มสัดส่วนในจีดีพีอย่างมากเสียจนการพึ่งพาแหล่งรายได้อื่นโดยเฉพาะภาคการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมและเกษตรแปรรูปของเนเธอร์แลนด์ลดต่ำลง ยิ่งปี ค.ศ.1973 เป็นต้นมาที่ราคาพลังงานพุ่งขึ้นจากวิกฤตราคาน้ำมันโลก ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศแข็งจากทุนที่ไหลเข้ามากมาย ทำให้เกิดความโน้มเอียง 3 ประการทางเศรษฐกิจพร้อมกันคือ
  1. 1) เงินเฟ้อจากทุนไหลเข้า จากราคาสินทรัพย์พุ่งขึ้นรุนแรง ส่งผลให้ความสามารถในการส่งออกสินค้าที่ใช่พลังงานลดต่ำลง
  2. 2) การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้นกระฉูดจากค่าเงินกิลเดอร์ที่แข็งค่าจากความมั่งคั่งไม่ทันตั้งตัว
  3. 3) การลงทุนภายในประเทศในธุรกิจภาคการผลิตอื่นๆ ลดลง เพราะมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาก เกิดภาวะพึ่งพาทุนต่างชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากภาคการผลิตอื่นๆ ไปสู่ธุรกิจพลังงานที่ให้ค่าแรงสูงกว่า
เหตุปัจจัยทั้ง 3 อย่าง ไม่ได้เกิดผลลัพธ์ทางลบในทันที แต่เกิดขึ้นเมื่อราคาน้ำมันร่วงลงหลังมีการปรับตัวของชาติต่างๆ ในโลกแล้ว ทำให้เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ทรุดฮวบ เกิดการถดถอยเข้าเขตโคม่ากะทันหัน ธุรกิจล้มละลาย ต้องปลดคนงานจ้าละหวั่น และเคลื่อนย้ายแรงงานกันใหม่
ปรากฏการณ์โรคดัตช์ สามารถอธิบายได้กับหลายประเทศที่พึ่งพารายได้หลักจากพลังงาน หรือสินค้าอย่างเดียวมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพี หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณรัฐแต่ละปี ส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของแหล่งที่มารายได้ ซึ่งจะสร้างปัญหาเมื่อเกิดการเคลื่อนตัวที่ส่งผลทางลบรุนแรง
รัสเซียเองอาจจะมีประสบการณ์อ่อนด้อยในโลกทุนนิยมเพราะเพิ่งปรับตัวหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายได้ไม่นานก็เกิดวิกฤตราคาพลังงานรอบใหม่ ทำให้รายได้หลักของประเทศพึ่งพาพลังงานใต้ดินที่มีมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกทั้งที่ยังเป็นแค่แหล่งสำรองและแหล่งผลิตแล้ว จนกระทั่งในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา รายได้จากก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน คิดเป็น 75% ของการส่งออกรวมแต่ละปี และมากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพี โดยลืมไปว่านี่คือความสุ่มเสี่ยงจากโรคดัตช์ และโอกาสที่จุดอ่อนดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศจึงเป็นไปได้
ภาวะสามล้อถูกหวยที่จบสิ้นลงกะทันหันเพราะปัญหายูเครนและราคาน้ำมันในปีที่ผ่านมาของรัสเซียจึงเป็นการทำ shock therapy ที่เก่งขนาดไหน ก็รับมือลำบากพอสมควร
ในประวัติศาสตร์ระยะสั้นของโลก อาวุธน้ำมันและปิโตรดอลลาร์ได้เคยเป็นเครื่องมือสำคัญของชาติส่งออกน้ำมันนำโดยซาอุดีอาระเบียและอิหร่านมาแล้วหลายระลอก แม้ว่าชาติหลังจะลดอิทธิพลลงไปในระยะหลัง แต่ชาติแรก ยังมีพลังอย่างมาก เพราะมีที่ปรึกษาชั้นเลิศระดับพ่อมดการเงินอย่างสหรัฐอยู่เบื้องหลัง
อาวุธน้ำมันและปิโตรดอลลาร์ของซาอุดีอาระเบีย ถูกนำมาสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศแถมตะวันออกลางและแอฟริกาเหนืออย่างเห็นได้ชัด ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยร่วมมือกับสหรัฐอย่างใกล้ชิด แต่ครั้งนี้ไม่ให้ใช้ปิโตรดอลลาร์ หากเสริมด้วยอาวุธแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจโดยตรง ประเด็นสำคัญสำหรับรัสเซียยามนี้ จึงไม่ใช่การหาแพะรับบาปอย่างเดียว หากต้องหาทางออกจากโรคดัตช์ให้ได้ก่อนสายเกิน
โชคดีของรัสเซียในครั้งนี้คือ อัตราเงินเฟ้อที่ยังพอควบคุมได้ที่ระดับ 9% ต่อปี และหนี้สาธารณะต่อต่างประเทศที่ต่ำไม่เกิน 13% ของยอดหนี้รวม ทำให้สามารถประคองตัวอยู่ได้บ้าง ยิ่งได้รับความช่วยเหลือจากจีนในการสว็อปค่าหยวนกับรูเบิลเข้าด้วย ก็ทำให้มีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง
ทางเลือกโดยทั่วไปที่ประสบความสำเร็จมาแล้วของหลายประเทศ ซึ่งรัสเซียพึงกระทำอย่างสอดรับกับกระแสทุนนิยมโลก ประกอบด้วย
-          ลดการพึ่งพาทุนต่างประเทศ ด้วยมาตรการทางการเงินและการคลัง โดยไม่ต้องปกป้องค่าเงินด้วยทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศจนร่อยหรอและสุ่มเสี่ยง (ซึ่งทำไปแล้วบางส่วน)
-          กระจายการลงทุนเพื่อลดการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ (เพิ่งประกาศเป็นนโยบาย ต้องใช้เวลาเกิดผล)
-          ตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth funds) ขึ้นมาเพื่อบริหารการลงทุนให้คล่องตัวนอกงบประมาณเพื่อการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
-          ปล่อยค่าเงินลอยตัวเพื่อป้องกันการโจมตีของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มีเบื้องหลังทางการเมืองจากชาติตะวันตกโดยอาศัยการบริหารผ่านกลไกตลาดปริวรรตเงินระดับโลก
หากรัสเซียสามารถกระทำได้จนบรรลุผลทั้งหมดเร็วเท่าใด โอกาสจะฟื้นตัวและพ้นจากโรคดัตช์ จะง่ายดายยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น